สลดพบซาก “พะยูน” ที่อ่าวพังงา ดร.ธรณ์ ชี้แม้จะตายแต่ก็ถือเป็นข่าวดี!

สลดพบซาก “พะยูน” ที่อ่าวพังงา ดร.ธรณ์ ชี้แม้จะตายแต่ก็ถือเป็นข่าวดี!

สลดพบซาก “พะยูน” ที่อ่าวพังงา ดร.ธรณ์ ชี้แม้จะตายแต่ก็ถือเป็นข่าวดี!
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

พบซากพะยูนที่อ่าวพังงา รายงานระบุ ไม่มีใครเจอในละแวกนี้มาหลายสิบปี ด้าน ผศ.ดร.ธรณ์ มองเป็นข่าวดี แม้ตาย แต่บ่งชี้ถึงโอกาสที่สัตว์ทะเลหายากชนิดนี้จะกลับมาอาศัยในอ่าวพังงาอีก

(30 พ.ค.63) ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม แชร์เรื่องราวผ่านเฟซบุ๊ก “Thon Thamrongnawasawat” ระบุว่า วันที่ 30 พฤษภาคม 2563 เมื่อเวลา 08.00 น.หัวหน้าอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา นายศรายุทธ ตันเถียร ได้รับรายงานจากชาวประมง พบซากพะยูนเกยตื้น หน้าเกาะยางแดง ม 8 ตำบลกะไหล อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา จึงได้นำกำลังเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบ

ผู้พบเห็นคือนาย อาเมิร์ด สุมาลี ชาวประมงพื้นบ้านบ้านสามช่องเหนือ จ.พังงา ได้พบซากเมื่อเวลา 01.30 น. จึงทำการช่วยนำซากมาที่ท่าเรือบ้านสามช่องเหนือ เพื่อแจ้งให้เจ้าหน้าที่มาตรวจพิสูจน์

จากการตรวจสอบพบว่า เป็นซากพะยูน ขนาดความยาว 2.10 เมตร ขนาดรอบลำตัวประมาณ 1.07 เมตร น้ำหนักประมาณ 180 กก. มีรอยผิวหนังถลอกบริเวณหัวเพราะสภาพซากเริ่มบวมน้ำ แต่ไม่พบบาดแผลหรือร่องรอยการผูกรัด จึงไม่สามารถหาสาเหตุการตายได้ นับเป็นพะยูนตัวแรกที่พบรายงานการที่ตายในอ่าวพังงาบริเวณนี้

จากนั้นได้เร่งส่งซากพะยูนเพื่อส่งตรวจสอบที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลละชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน เพื่อผ่าพิสูจน์หาสาเหตุการตาย โดยอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงามีแผนงานร่วมกับศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 2 จังหวัดภูเก็ต ในการใช้อากาศยานไร้คนขับ(Drone) บินสำรวจประชากรพะยูน หรือร่องรอยการกินหญ้าทะเลบริเวณที่พบซากในโอกาสต่อไป

ผศ.ดร.ธรณ์ ได้ระบุเพิ่มเติมว่า การพบพะยูนตายครั้งนี้ นับเป็นตัวแรกในรอบหลายสิบปีที่พบในอ่าวพังงา หากมองในแง่ดี เมื่อเทียบกับปีก่อน ปีนี้พะยูนตายน้อยลงมาก โดยปีก่อนมีพะยูนตายถึง 23 ตัว ขณะที่ปีนี้ล่วงมาเกือบกลางปี ตายไปประมาณ 3 ตัว

ประเด็นสำคัญคือ ต้องคิดต่อยอดว่าตายน้อยลงเพราะอะไร การรณรงค์ที่ได้ผล การปิดทะเลเพราะโควิด-19 หรือหลายสาเหตุประกอบกัน ซึ่งคงต้องเก็บข้อมูลต่อไปอีกระยะ เพื่อหาเหตุผลที่แท้จริง และจะมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อการจัดการในอนาคต

นอกจากนี้ ผศ.ดร.ธรณ์ กล่าวอีกว่า จากรายงานพบว่าชาวบ้านละแวกนั้นไม่มีใครเจอพะยูนในอ่าวพังงาตอนในหลายสิบปีมาแล้ว โดยอ่าวพังงาสมัยก่อนเป็นที่อยู่ชั้นยอดของพะยูน น้ำนิ่งและตื้น มีแหล่งหญ้าทะเล แต่กิจกรรมมนุษย์ในระยะหลังทำให้พะยูนหายไป ซึ่งการมีรายงานพบพะยูนในอ่าวอีกครั้ง แม้จะเป็นการตาย แต่แปลว่ามีโอกาสที่พะยูนจะกลับมาอาศัยในอ่าวอีก และอาจเกี่ยวข้องกับกิจกรรมมนุษย์ที่ลดลงมากในช่วงโควิด

โดย ผศ.ดร.ธรณ์ ได้แนะนำให้อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงาขอให้กรมทะเลช่วยสตาฟฟ์ซากพะยูนตัวนี้เอาไว้หากทำได้ และนำมาไว้ที่ศูนย์อุทยาน พร้อมจัดทำเป็นซุ้มพะยูนพร้อมข้อมูลต่างๆ เพราะซุ้มพะยูนจะเป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้ของผู้คนในเมืองพังงาและแถบนั้น จะได้รู้จักและรักพะยูนเพิ่ม จะได้ดูแลหญ้าทะเลและหากินแบบยั่งยืน เกิดประโยชน์ต่อการดูแลเหล่าพะยูนและระบบนิเวศต่อไปในภายภาคหน้า

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook