เกษตรกรกังวล ฮั้วเงินกู้ระดับจังหวัด หวั่นไม่ถึงมือ
ซูเปอร์โพล เผย เกษตรกรกังวล การฮั้วกันระดับจังหวัดในเงินกู้ของรัฐบาล หวั่นไม่ถึงมือ -เบื่อความขัดแย้งระหว่าง ส.ส.
เมื่อวันที่ 31 พ.ค. ผศ.ดร.นพดล กรรณิกา ผอ.สำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง อารมณ์ของเกษตรกร กรณี ศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ โดยดำเนินการเก็บข้อมูลแบบผสมผสาน (Mixed Method) ทั้งการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ การลงพื้นที่และการเก็บข้อมูลในโลกโซเชียลทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) จำนวน 1,393 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่าง 27 – 30 พ.ค. 2563 ที่ผ่านมา เมื่อถามถึงความคิดเห็นของเกษตรกรต่อ การอภิปรายกฎหมายกู้เงินในสภาฯว่าให้ความสำคัญกับเกษตรกรมากน้อยเพียงไร พบว่า จำนวนมากที่สุดหรือร้อยละ 39.6 ระบุ ให้ความสำคัญค่อนข้างน้อย ร้อยละ 16.8 ระบุน้อย ถึง น้อยที่สุด ในขณะที่ร้อยละ 24.6 ระบุค่อนข้างมาก และร้อยละ 19.0 ระบุมากถึงมากที่สุด
ที่น่าพิจารณาคือ เมื่อสอบถามความต้องการของเกษตรกรต่อการใช้เงินกู้ของรัฐบาล พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 53.7 ต้องการให้รัฐบาลใช้เงินกู้รับซื้อผลผลิตทางการเกษตร รองลงมาคือ ร้อยละ 49.7 ต้องการให้ช่วยลดต้นทุนการผลิต เช่น อาหารเลี้ยงสัตว์ ปุ๋ย เมล็ดพันธุ์ เป็นต้น ร้อยละ 20.1 ต้องการให้ทำการตลาดนำการผลิต ร้อยละ 16.9 ต้องการให้แก้ปัญหาภัยแล้ง และร้อยละ 13.9 ต้องการให้ลงทุนเทคโนโลยีทำราคาผลผลิตเป็นธรรม
ที่น่าเป็นห่วงคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 57.7 กังวลมากถึงมากที่สุดต่อการฮั้วกันระดับจังหวัดในเงินกู้ของรัฐบาลไม่ถึงมือเกษตรกรแท้จริง ในขณะที่ร้อยละ 42.3 กังวลน้อยถึงไม่กังวลเลย
นอกจากนี้ ที่น่าเป็นห่วงอีกคือ อารมณ์ของเกษตรกรที่พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 44.6 รู้สึกโคตรเบื่อ น่ารังเกียจ ความขัดแย้งระหว่าง ส.ส.ในรัฐบาล ถ้าเลือกตั้งใหม่จะเลือกพรรค ก้าวไกล พรรคเพื่อไทย ในขณะที่ร้อละ 20.6 รู้สึกเบื่อมาก ถ้าเลือกตั้งใหม่ จะเลือกพรรคฝ่ายค้าน ร้อยละ 28.4 ไม่เบื่อ แต่ถ้าเลือกตั้งใหม่จะเลือกพรรคที่รักสามัคคีกัน และมีเพียงร้อยละ 6.4 ไม่เบื่อ ถ้าเลือกตั้งใหม่จะเลือกพรรครัฐบาลอีกแม้จะขัดแย้งกัน
ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวว่า ผลโพลชิ้นนี้ชี้ให้เห็น 2 เรื่องสำคัญคือ 1) อารมณ์ของเกษตรกร ต่อความไม่สามัคคีปรองดองของคนในรัฐบาลที่เกษตรกรเหล่านี้ไม่แตกต่างจากประชาชนกลุ่มอาชีพอื่น ๆ ทั่วไปที่เอื้อมระอาต่อความขัดแย้งแย่งชิงตำแหน่งรัฐมนตรีในพรรคฝ่ายรัฐบาลทั้ง ๆ ที่ผู้ใหญ่ในรัฐบาลเป็นแกนนำสร้างความสามัคคีปรองดองของคนภายในชาติแต่กลับปล่อยให้เกิดเรื่องความขัดแย้งในกลุ่ม ส.ส จนเสื่อมเสียความศรัทธาของรัฐบาล และ 2) ความต้องการเกษตรกร เกษตรกรที่มีอยู่ทั่วประเทศประมาณ 20 กว่าล้านคนยังรู้สึกว่าได้รับความสำคัญค่อนข้างน้อยจากการอภิปรายกฎหมายกู้เงินในสภาครั้งนี้ โดยความต้องการของเกษตรที่ค้นพบในการสำรวจครั้งนี้อันดับหนึ่งไม่ใช่ภัยแล้ง แต่เป็นเรื่องการรับซื้อผลผลิตทางการเกษตรและลดต้นทุนการผลิตที่รัฐบาลน่าจะตอบโจทย์ตรงเป้าความต้องการของเกษตรกรให้มากขึ้น