ทำไมการตายของ “จอร์จ ฟลอยด์” จึงจุดประกายการประท้วงทั่วสหรัฐฯ
จากกรณีที่ “จอร์จ ฟลอยด์” ชายชาวอเมริกันผิวดำ วัย 46 ปี เสียชีวิตขณะถูกจับกุมโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจในเมืองมินนิอาโปลิส รัฐมินเนโซตา วิดีโอเหตุการณ์ดังกล่าวซึ่งถูกเผยแพร่ทางสื่อโทรทัศน์และโลกออนไลน์ แสดงให้เห็นเจ้าหน้าที่ตำรวจนายหนึ่งคุกเข่าอยู่บนคอของฟลอยด์ ขณะที่เขาร้องว่าเขาหายใจไม่ออก ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทั้ง 4 นายที่อยู่ในเหตุการณ์ถูกไล่ออก โดยสำนักงานสอบสวนกลาง (Federal Bureau of Investigation หรือ FBI) ได้รับมอบหมายให้สอบสวนเหตุการณ์ดังกล่าว ขณะที่เดเรค ชอวิน เจ้าหน้าที่ตำรวจที่คุกเข่าบนคอของฟลอยด์ ถูกตั้งข้อหาฆาตกรรมโดยไม่ได้เจตนา
การเสียชีวิตของฟลอยด์ได้จุดชนวนความรุนแรงในเมืองมินนิอาโปลิส ส่งผลให้ทางการต้องประกาศภาวะฉุกเฉินในเมือง พร้อมกับส่งกองกำลังทหารลงไปในพื้นที่เพื่อควบคุมการชุมนุมประท้วง อย่างไรก็ตาม การประท้วงครั้งนี้ไม่ได้จำกัดอยู่ในเมืองมินนิอาโปลิสเท่านั้น แต่ยังกระจายไปยังรัฐอื่น ๆ ทั่วสหรัฐอเมริกา เช่น แคลิฟอร์เนีย นิวยอร์ก และโคโลราโด เป็นต้น
เหตุการณ์นี้นำไปสู่การตั้งคำถามเรื่องอคติของผู้บังคับใช้กฎหมายต่อชาวแอฟริกันอเมริกัน ซึ่งการเสียชีวิตของฟลอยด์ถือเป็นเหตุการณ์ล่าสุดที่ชี้ให้เห็นความรุนแรงของตำรวจซึ่งมีสาเหตุจากอคติด้านเชื้อชาติและสีผิว
การเสียชีวิตของจอร์จ ฟลอยด์
จอร์จ ฟลอยด์ ถูกจับกุมเนื่องจากถูกกล่าวหาว่าใช้ธนบัตรปลอมในร้านอาหารแห่งหนึ่ง ตามคำให้การของตำรวจ ระบุว่า ฟลอยด์ขัดขืนการจับกุมของเจ้าหน้าที่ หลังจากที่เจ้าหน้าที่ขอให้ฟลอยด์ลงมาจากรถ แต่ภาพจากวิดีโอในที่เกิดเหตุไม่ได้แสดงว่า ฟลอยด์มีพฤติกรรมดังที่ตำรวจกล่าวหา หลังจากนั้น นายตำรวจผิวขาวคนหนึึ่ง ได้ใส่กุญแจมือและสั่งให้ฟลอยด์นอนคว่ำลงไปกับพื้นถนน ขณะที่เขาคุกเข่าเพื่อกดคอด้านหลังของฟลอยด์เป็นเวลานานกว่า 8 นาที ฟลอยด์ร้องว่า “ผมหายใจไม่ออก” ซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนกระทั่งหมดสติไป ก่อนที่จะถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล และเสียชีวิตในเวลาต่อมา
องค์กรสมาคมแห่งชาติเพื่อความก้าวหน้าของประชาชนผิวสี (National Association for the Advancement of Colored People หรือ NAACP) เรียกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่าเป็น “การประชาทัณฑ์ที่ไร้เชือกผูกคอ” ขณะที่เจค็อบ เฟรย์ ผู้ว่าการรัฐมินเนโซตา ระบุว่า “การเป็นคนผิวดำในอเมริกาไม่ใช่โทษประหาร เราดูเจ้าหน้าที่ตำรวจผิวขาวใช้เข่าของเขากดลำคอของชายผิวดำเอาไว้นานถึง 5 นาที เมื่อคุณได้ยินเสียงร้องขอความช่วยเหลือ คุณควรเข้าไปช่วยเหลือ เจ้าหน้าที่ตำรวจนายนี้ไม่มีแม้แต่ความเป็นมนุษย์”
เชื้อชาติและความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ตำรวจในสหรัฐฯ
“ผมหายใจไม่ออก” คือคำพูดขอความช่วยเหลือของฟลอยด์ ที่เขาพูดซ้ำแล้วซ้ำเล่าขณะที่ถูกกดให้นอนอยู่กับพื้นถนน เหตุการณ์ของฟลอยด์ถูกนำไปเปรียบเทียบกับเหตุการณ์การเสียชีวิตของอีริค การ์เนอร์ ชาวอเมริกันผิวดำ ในปี 2014 ขณะที่ถูกตำรวจนิวยอร์กล็อกคอเอาไว้ และเขาได้พูดประโยคเดียวกันมากกว่า 11 ครั้ง จนกระทั่งเสียชีวิต และประโยคที่ว่า “ผมหายใจไม่ออก” ก็ถูกนำมาใช้ในการประท้วงในขณะนี้
นอกจากนี้ ยังมีเหตุการณ์ที่ชาวอเมริกันผิวดำถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ความรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตอีกมากมาย เช่น ในปี 2016 ฟิลันโด คาสไทล์ วัย 32 ปี ถูกตำรวจยิงในระยะเผาขนมากกว่า 7 นัด หลังจากที่เขาชี้แจงว่ามีปืนอยู่ในครอบครอง เช่นเดียวกับเหตุการณ์ของอัลตัน สเตอร์ลิง วัย 37 ปี ที่ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมและจ่อยิงบริเวณนอกศูนย์การค้าที่เขากำลังขายซีดี
จากการสำรวจของ The Guardian ในปี 2016 พบว่า อัตราการยิงผู้ต้องหาจนเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่ตำรวจต่อประชากร 1 ล้านคน กว่า 10.13 เปอร์เซ็นต์เป็นชาวอเมริกันพื้นเมือง และกว่า 6.6 เปอร์เซ็นต์เป็นชาวอเมริกันผิวดำ ขณะที่ชาวอเมริกันผิวขาวมีอัตราการถูกยิงเพียง 2.9 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น เช่นเดียวกับฐานข้อมูลของ Washington Post ที่ชี้ว่า ชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันมีโอกาสถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจฆ่ามากกว่า 2.5 เท่า เมื่อเทียบกับชาวอเมริกันผิวขาว
ขบวนการเคลื่อนไหว Black Lives Matter (BLM)
ในปี 2013 หลังจากที่ศาลตัดสินให้ผู้ต้องหาคดียิงเทรย์วอน มาร์ติน วัยรุ่นอเมริกันผิวดำเสียชีวิต พ้นผิด แฮชแท็ก #BlackLivesMatter พุ่งขึ้นเป็นอันดับหนึ่งในโซเชียลมีเดีย และการเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านความรุนแรงต่อชุมชนชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันก็มีเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ขบวนการเคลื่อนไหว Black Lives Matter กลายเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง ในปี 2014 ระหว่างการประท้วงจากกรณีการเสียชีวิตของอีริค การ์เนอร์ และมิเชล บราวน์ ชายผิวดำ 2 คนที่ถูกตำรวจยิงเสียชีวิต โดยขบวนการเคลื่อนไหวดังกล่าวเริ่มขึ้นโดยผู้หญิงชาวมอเมริกันเชื้อสายแอฟริกัน 3 คน และลุกลามไปทั่วสหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม ขบวนการเคลื่อนไหว BLM ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากฝ่ายขวาในสหรัฐฯ ขณะที่ฝ่ายตรงข้ามของขบวนการ BLM ก็แสดงออกด้วยแคมเปญที่พวกเขาคิดขึ้นมาสู้กับ BLM เช่น “All Lives Matter” และ “Blue Lives Matter” เป็นต้น