เมื่อ COVID-19 ทำให้นักศึกษา LGBTQ+ ไม่อาจเปิดเผยตัวตน
ลุค นักศึกษาปี 1 จากมหาวิทยาลัยเวอร์มอนต์ และมีอัตลักษณ์ทางเพศเกย์ที่มีความลื่นไหลทางเพศ ( Gay Gender-fluid) รู้สึกทุกข์ใจอย่างที่สุดเมื่อเขารู้ว่า มหาวิทยาลัยจะปิดการเรียนการสอนเนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา และเขาต้องเรียนผ่านช่องทางออนไลน์ตลอดภาคการศึกษานี้ ลุคมีเวลาเพียง 2 วันที่จะเก็บข้าวของเพื่อกลับไปอยู่บ้านพ่อที่เวอร์จิเนีย ซึ่งเขาพยายามปิดบังเพศวิถีของตัวเองไม่ให้พ่อรู้มาโดยตลอด ด้วยเหตุนี้ สิ่งแรกที่ลุคทำคือทำความสะอาดเล็บสีม่วงของตัวเอง ห่อพาเลตต์อายแชโดว์ของตัวเองพร้อมกับแปรงด้วยผ้าปูที่นอนและซ่อนเอาไว้ในกระเป๋าเดินทาง ก่อนที่จะเดินทางกลับบ้าน
“ความรู้สึกเหมือนผมสูญเสียตัวตนที่ผมเพิ่งค้นพบ มันเหนื่อย โดยเฉพาะเมื่อคุณต้องพยายามทำตัวเป็นคนอื่น ที่แตกต่างจากตัวคุณเองอย่างสิ้นเชิง” ลุคกล่าว
ขณะที่มหาวิทยาลัยกลายเป็นพื้นที่ให้นักศึกษาได้แสดงออกอัตลักษณ์ทางเพศและตัวตนของตัวเอง บ้านกลับเป็นพื้นที่ของการปิดบังและซ่อนเร้นตัวตน สำหรับลุคและนักศึกษา LGBTQ+ คนอื่น ๆ ที่ยังไม่เปิดเผยอัตลักษณ์ทางเพศของตัวเองให้ครอบครัวได้รับรู้ หรือยังไม่ได้รับการยอมรับจากครอบครัว การเปลี่ยนจากการเรียนในห้องเรียน ไปสู่การเรียนออนไลน์จากที่บ้าน การไม่ได้พบเจอกับเพื่อน ๆ จึงเท่ากับเป็นการกลับเข้าไปอยู่ในสภาวะแวดล้อมที่พวกเขาต้องปิดบังอัตลักษณ์และตัวตนของพวกเขาอีกครั้ง หรือการกลับไปใช้ชีวิตอยู่ภายใต้ความกลัวที่สังคมสร้างขึ้นนั่นเอง
นักศึกษา LGBTQ+ หลายคนรู้สึกแปลกแยก ขณะที่ต้องติดอยู่ในบ้าน โดยไร้ซึ่งอิสระและความเป็นส่วนตัวที่พวกเขาเคยได้รับในมหาวิทยาลัย ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตและความมั่นคงทางการเงินของพวกเขา และในบางกรณี อาจหมายถึงการเข้าไม่ถึงบริการทางด้านสุขภาพจิตหรือการบริการสุขภาพเพื่อเปลี่ยนแปลงรูปลักษณ์ให้ตรงกับเพศสถานะ
การเรียนออนไลน์ที่ไม่เหมือนเดิม
ไม่ใช่ทุกกิจกรรมที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยจะเป็นเรื่องทางวิชาการ ขณะที่นักศึกษาเรียนรู้เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลทั้งในและนอกห้องเรียนผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ที่ทำให้นักศึกษาค้นพบตัวเอง สิ่งที่พวกเขาต้องการในชีวิต และผู้นำแบบไหนที่พวกเขาต้องการจะเป็น สำหรับนักศึกษา LGBTQ+ แล้ว มหาวิทยาลัยยังเป็นพื้นที่สำหรับการแสดงออกตัวตนทางเพศเป็นครั้งแรกในชีวิตของพวกเขา หรืออาจเป็นพื้นที่ของการพบเจอเพื่อน ๆ LGBTQ+ เป็นครั้งแรกของพวกเขา และแน่นอนว่ามหาวิทยาลัยก็เป็นสถานที่ให้ความรู้เรื่องประวัติศาสตร์เพศสถานะและเพศวิถีให้กับนักศึกษากลุ่มนี้อีกด้วย
แม้ว่าหลาย ๆ กิจกรรมจะสามารถทำผ่านออนไลน์ได้ แต่ก็จะไม่เหมือนเดิม
“ผลกระทบต่อชีวิตของนักศึกษา ก็คือ ชีวิตในช่วงมหาวิทยาลัยของพวกเขาจะหายไป แม้การเรียนรู้จะยังสามารถทำผ่านการเรียนการสอนออนไลน์ได้ แต่ส่วนที่มหาวิทยาลัยได้มอบให้กับนักศึกษา นั่นคือโอกาสในการใช้ชีวิตนักศึกษา การมีส่วนร่วม และการสื่อสารระหว่างมนุษย์จะหายไป” เชน ไวด์เมเยอร์ ผู้อำนวยการมูลนิธิ Campus Pride กล่าว
การอยู่บ้านอาจเจ็บปวดและอันตราย หากครอบครัวไม่ยอมรับตัวตนของนักศึกษา LGBTQ+ การปฏิเสธที่เกิดขึ้นอาจเกิดขึ้นได้ในหลายรูปแบบ เช่น การพูดเหยียดโดยไม่ได้ตั้งใจ แต่สามารถทำร้ายจิตใจของคนฟังได้ ไปจนถึงพฤติกรรมข่มขู่และใช้ความรุนแรง เป็นต้น
ความเจ็บปวดของการหลบซ่อน
นักศึกษา LGBTQ+ บางคนยังต้องจัดการกับความบอบช้ำในจิตใจหรือการถูกคุกคามทางเพศ ก่อให้เกิดความยากลำบากในการรักษาความสัมพันธ์กับคนในครอบครัว ลุคและจอร์แดนเคยถูกคุกคามทางเพศมาก่อน แต่พวกเขาไม่สามารถเปิดใจเล่าเรื่องนี้ให้กับพ่อแม่ของพวกเขาได้ โดยจอร์แดนไม่คิดว่า พ่อและแม่ของเขาจะเชื่อในสิ่งที่เขาพูด
“พ่อแม่ของฉันสนับสนุนอัตลักษณ์ข้ามเพศของลูกของเพื่อน ๆ พวกเขา แต่กลับไม่ยอมสนับสนุนลูกของตัวเอง” จอร์แดนกล่าว ด้วยเหตุผลหลาย ๆ อย่างทำให้จอร์แดนเลือกที่จะไม่กลับไปอยู่บ้าน แต่ออกมาอยู่อพาร์ตเมนต์นอกมหาวิทยาลัย และก่อนจะเริ่มการเรียนออนไลน์ จอร์แดนเริ่มใช้ยาเพื่อปรับฮอร์โมน ซึ่งจอร์แดนรู้ดีว่า จะไม่สามารถฉีดเทสโทสเทอโรนที่บ้านได้ การใช้ชีวิตอย่างอิสระก็เป็นอีกหนึ่งความโล่งใจที่จอร์แดนได้รับ
อนาคตที่น่ากลัว
ฮีตเตอร์ แมนน์ นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยออเบิร์น ที่แสดงอัตลักษณ์เควียร์ และเป็นประธานชมรม LGBTQ+ แต่เธอกลับยังไม่ได้เปิดเผยอัตลักษณ์ทางเพศของเธอให้ครอบครัวได้รับรู้ และตอนนี้ เมื่อต้องกลับไปอยู่บ้าน ฮีตเตอร์ไม่สามารถเข้าร่วมประชุมของชมรมได้ เพราะเธอกลัวว่าคนที่บ้านจะได้ยินขณะที่เธอประชุมผ่าน Zoom
การระบาดของโรคโควิด-19 ที่ยังไม่มีท่าทีว่าจะลดน้อยลง ส่งผลให้นักศึกษาหลายคนเกิดความกังวลว่าต้องเรียนออนไลน์ไปอีกหนึ่งภาคเรียน โอกาสที่พวกเขาจะได้เป็นตัวเองลดน้อยลง หลายคนสงสัยว่าอนาคตของพวกเขาจะเป็นอย่างไร และพวกเขาจะมีโอกาสได้ภาคภูมิใจในอัตลักษณ์ทางเพศของพวกเขาอีกครั้งหรือไม่
“มันน่ากลัวมากที่ไม่รู้ว่าเมื่อไรจะได้กลับไปมหาวิทยาลัยอีกครั้ง รู้สึกเหมือนชีวิตของฉันต้องหยุดลง” เอมิลี่ นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเจมส์ แมดิสัน กล่าว
“ฉันรู้ว่าทุกคนรู้สึกแบบนั้น แต่มันยากสำหรับนักศึกษา LGBTQ+ เพราะพวกเขาได้รับรู้รสชาติของอิสรภาพในพื้นที่มหาวิทยาลัย ขณะที่มันตรงข้ามกันเลยถ้าอยู่ที่บ้าน” เอมิลี่ปิดท้าย