99 ปี “เหตุจลาจลเมืองทัลซา” ความเกลียดชังสีผิวที่ถูกซ่อนไว้ในประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ

99 ปี “เหตุจลาจลเมืองทัลซา” ความเกลียดชังสีผิวที่ถูกซ่อนไว้ในประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ

99 ปี “เหตุจลาจลเมืองทัลซา” ความเกลียดชังสีผิวที่ถูกซ่อนไว้ในประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ขณะที่การประท้วงปะทุขึ้นทั่วสหรัฐอเมริกา เนื่องจากการเสียชีวิตของ “จอร์จ ฟลอยด์” ชายผิวดำผู้ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงของเจ้าหน้าตำรวจผิวขาว นำไปสู่ความรุนแรงและเกิดจลาจลในหลายพื้นที่ ในช่วงเวลานี้ ยังเป็นวันครบรอบ 99 ปีเหตุการณ์ความรุนแรงอันเนื่องมาจากความเกลียดชังสีผิว ที่รุนแรงมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ และถูกเก็บซ่อนเอาไว้จนหลายคนแทบจะลืมเลือนไปแล้ว

“เหตุจลาจลในเมืองทัลซา” เกิดขึ้นในวันที่ 31 พ.ค. - 1 มิ.ย. ปี 1921 เมื่อผู้ชุมนุมประท้วง ซึ่งเป็นชาวอเมริกันผิวขาวบุกรุกชุมชนของชาวอเมริกันผิวดำ ในเมืองทัลซา รัฐโอกลาโฮมา ส่งผลให้บ้านเรือนถูกเผาเสียหายกว่า 1,200 หลัง และมีชาวอเมริกันผิวดำเสียชีวิตมากกว่า 300 คน

จุดเริ่มต้นในลิฟต์ 

ในช่วงทศวรรษ 1920s เขตกรีนวู้ด ในเมืองทัลซา รัฐโอคลาโฮมา ถือว่าเป็น “วอลสตรีทของคนดำ” เนื่องจากมีครอบครัวของนักธุรกิจชาวอเมริกันผิวดำอยู่รวมกันมากกว่า 300 ครอบครัว โดยในนี้มีทั้งหมอ เภสัชกร หรือนักบินที่มีเครื่องบินส่วนตัวเป็นของตัวเอง ความสำเร็จของชุมชนคนผิวดำนี้เอง สร้างความอิจฉาและโกรธเกรี้ยวให้กับคนผิวขาวในเมืองทัลซา 

ความตึงเครียดมาถึงจุดปะทุ หลังจากเกิดเหตุการณ์ภายในลิฟต์ที่ซาราห์ เพจ หญิงสาวผิวขาววัย 17 ปี และดิก โรว์แลนด์ ชายผิวดำวัย 19 ปี โดยสารไปด้วยกัน ขณะที่ทั้ง 2 คนอยู่ในลิฟต์ ก็มีเสียงกรีดร้องของเพจดังขึ้น ขณะที่ประตูลิฟต์เปิดออก โรว์แลนด์จึงรีบวิ่งหนีออกจากจุดเกิดเหตุ ในตอนนั้น เพจอ้างว่า เธอถูกคุกคามทางเพศ แต่นักประวัติศาสตร์หลายคนระบุว่า โรว์แลนด์สะดุดตอนที่เขากำลังจะออกลิฟต์ เขาจึงจับแขนของเพจเอาไว้ ซึ่งทำให้เธอกรีดร้อง ขณะที่ผู้เห็นเหตุการณ์รีบแจ้งความทันที 

แม้ว่าเพจจะไม่แจ้งความจากเหตุการณ์ดังกล่าว แต่ทางการกลับแจ้งความแทน และหลังจากนั้น ก็มีข่าวลือว่าเพจถูกโรว์แลนด์ข่มขืน 

ผู้ชุมนุมผิวขาวบุกเข้าไปในกรีนวู้ด 

วันที่ 31 พ.ค. 1921 กลุ่มชายผิวดำและผิวขาวประจันหน้ากัน ณ ศาลที่โรว์แลนด์ถูกคุมตัวไว้ และทันทีที่เสียงปืนนัดแรกดังขึ้น ความชุลมุนวุ่นวายก็เกิดขึ้นตามมาทันที ชาวอเมริกันผิวดำหลายคนหลบหนีออกจากเขตกรีนวู้ด แต่ในเช้าของวันต่อมา ผู้ชุมนุมผิวขาวก็เริ่มทำการปล้นและเผาธุรกิจของชาวอเมริกันผิวดำในพื้นที่ บ้านเรือนกว่า 1,200 หลังถูกเผาทำลายในเวลาเพียง 24 ชั่วโมง ขณะที่มีการรายงานข่าวผู้เสียชีวิตในขณะนั้นเพียง 36 ราย แต่นักประวัติศาสตร์ในปัจจุบันเชื่อว่ามีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ในวันนั้นมากกว่า 300 คน 

หลังเหตุการณ์ความรุนแรงยุติลง วอลสตรีทของคนดำถูกทำลายย่อยยับ ภาพถ่ายมากมายแสดงให้เห็นร่างที่ไร้ชีวิตของชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันที่นอนเรียงรายอยู่บนถนน 

เรื่องราวที่หายไปจากประวัติศาสตร์ 

หลังเหตุจลาจลสงบลง มีความพยายามที่จะลบสิ่งที่เกิดขึ้น หลักฐานภาพถ่ายต่าง ๆ หายไปอย่างไร้ร่องรอย เหตุการณ์นี้ไม่ถูกนำมาพูดถึง และไม่ปรากฏอยู่ในหนังสือประวัติศาสตร์เล่มใดเป็นเวลานานหลายสิบปี ชาวอเมริกันผิวขาวก็ยังใช้ชีวิตต่อไป ขณะที่ชาวอเมริกันผิวดำก็พยายามกลับมาใช้ชีวิตเหมือนเดิมเท่าที่ที่พวกเขาจะทำได้ 

โรงเรียนในโอกลาโฮมาไม่มีการกล่าวถึงเหตุการณ์ดังกล่าว แม้แต่หนังสือพิมพ์ก็ไม่ตีพิมพ์ข่าวหรือข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเหตุจลาจลเมืองทัลซา เหตุการณ์นี้ถูกลืมเลือนไป มันเป็นเหตุการณ์เลวร้ายที่ทุกคนอยากเอาซ่อนไว้ใต้พรมแล้วลืม ๆ มันไปเสีย”เจมส์ แลงค์ฟอร์ด  วุฒิสมาชิกแห่งเมือโอกลาโฮมา กล่าว 

อย่างไรก็ตาม ผู้นำของรัฐโอกลาโฮมาได้ประกาศในเดือนก.พ. ที่ผ่านมาว่า ทางรัฐจะทำการเพิ่มเหตุการณ์การสังหารหมู่เนื่องจากความเกลียดชังสีผิวของเมืองทัลซา ปี 1921 ลงไปในหลักสูตรของทุกโรงเรียนในรัฐโอกลาโฮมา ขณะเดียวกัน ก็ทำการสืบสวนว่าร่างของผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้ถูกฝังอยู่ที่ใดบ้าง 

ความไม่เท่าเทียมทางเชื้อชาติที่ไม่เคยหายไป

การชุมนุมประท้วงกระจายไปทั่วสหรัฐฯ ทั้งในแอตแลนตา มินนิอาโปลิส ลอสแอนเจลิส และวอชิงตัน ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับจอร์จ ฟลอยด์ ที่เสียชีวิตจากน้ำมือของเดเรก ชอวิน เจ้าหน้าที่ตำรวจผิวขาว

ชอวินถูกไล่ออกทันทีที่ภาพในวิดีโอเผยให้เห็นว่าเขานั่งคุกเข่าอยู่บนลำคอของฟลอยด์ นานกว่า 8 นาที ขณะที่ฟลอยด์ร้องขอความช่วยเหลือซ้ำแล้วซ้ำเล่า เขาถูกตั้งข้อหาฆ่าคนตายโดยไม่เจตนา ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจอีก 3 นายที่ปรากฏอยู่ในวิดีโอยังไม่ถูกตั้งข้อหาใด ๆ การเสียชีวิตของฟลอยด์คือหลักฐานชิ้นล่าสุดของความรุนแรงต่อคนผิวดำ ที่ฝังรากลึกอยู่ในประวัติศาสตร์ที่ยาวนานของสหรัฐฯ 

ขณะที่การชุมนุมประท้วงเป็นไปอย่างสงบ ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าในบางพื้นที่เกิดความรุนแรงขึ้น และเมื่อเกิดความรุนแรงขึ้น ผู้ชุมนุมผิวดำมักเป็นกลุ่มแรกที่มีความเสี่ยงจะถูกทำร้าย ธุรกิจร้านค้าถูกปล้นและเผาทำลาย เจ้าหน้าที่ตำรวจเผชิญหน้ากับผู้ชุมนุม และหลาย ๆ ชุมชนก็ถูกทำลาย 

ก่อนโควิด-19 ไวรัสของอเมริกาคือการเหยียดเชื้อชาติ เราเหลือทนกับโรคนี้เต็มที เราขอวัคซีน การรักษาระยะห่างทางสังคมไม่สามารถฆ่าการเหยียดเชื้อชาติได้ หน้ากากก็ทำไม่ได้ ไม่มีอะไรทำได้ นอกจากความจริง” โรเบิร์ต เทิร์นเนอร์ บาทหลวงจากโบสถ์ Chapel AME บอกกับผู้ที่มาชุมนุมในเมืองทัลซา เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา 

อย่างไรก็ตาม มูลนิธิ ColorofChange ทวีตข้อความเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ระบุว่า “หากคุณดูการชุมนุมประท้วงในวันนี้ จงจดจำ #TulsaRaceMassacre การต่อสู้เพื่อหยุดยั้งความรุนแรงจะไม่จบสิ้น #UntilJusticeIsReal (จนกว่าความยุติธรรมจะเกิดขึ้นจริง)”

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook