"ศรีสุวรรณ" จ่อร้องสอบปม ส.ว.โหวต "สุชาติ" เป็น ป.ป.ช. หลังพ้น สนช.แค่ปีเดียว

"ศรีสุวรรณ" จ่อร้องสอบปม ส.ว.โหวต "สุชาติ" เป็น ป.ป.ช. หลังพ้น สนช.แค่ปีเดียว

"ศรีสุวรรณ" จ่อร้องสอบปม ส.ว.โหวต "สุชาติ" เป็น ป.ป.ช. หลังพ้น สนช.แค่ปีเดียว
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า ตามที่ที่ประชุมวุฒิสภา ได้ร่วมกันลงคะแนนให้ความเห็นชอบบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตามมาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2561 เมื่อวันที่ 26 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยโหวตให้ความเห็นชอบนายสุชาติ ตระกูลเกษมสุข อธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่งมีนบุรี ด้วยคะแนนเห็นชอบ 219 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบ 12 เสียง ไม่ออกเสียง 8 เสียง ความดังทราบแล้วนั้น

แต่เนื่องจากพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วย ป.ป.ช.2561 มาตรา 11 (18) บัญญัติไว้ว่ากรรมการ ป.ป.ช.ต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังนี้ "เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ข้าราชการการเมือง หรือสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นในระยะสิบปีก่อนเข้ารับการสรรหา" ประกอบกับคณะกรรมการ ป.ป.ช.เคยมีความเห็นว่า สนช.ถือเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตามมาตรา 6 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ที่บัญญัติให้ สนช.ทำหน้าที่สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา จึงมีหน้าที่ยื่นแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินพร้อมเอกสารประกอบต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.

ต่อมารัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 263 ได้บัญญัติว่า ในระหว่างที่ยังไม่มีสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติที่ตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ยังคงทำหน้าที่รัฐสภา สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาต่อไป และให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ทำหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภา ตามลำดับตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ และให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติสิ้นสุดลงในวันก่อนวันเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรกภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปที่จัดขึ้นตามรัฐธรรมนูญนี้

ดังนั้นเมื่อนายสุชาติ ตระกูลเกษมสุข เคยได้รับการแต่งตั้งจาก คสช.ให้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันที่ 11 ต.ค.2559 และพ้นจากตำแหน่ง สนช.ซึ่งถือว่าเป็นข้าราชการการเมือง เมื่อเดือนพ.ค.2562 นับถึงปัจจุบันพ้นตำแหน่งมาเพียง 1 ปี เท่ากับพ้นตำแหน่งไม่เกิน 10 ปี จึงน่าจะเป็นการขัดต่อลักษณะต้องห้ามตามที่กฎหมายบัญญัติดังกล่าว

นายศรีสุวรรณ ระบุว่า ด้วยเหตุดังกล่าว สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จึงเห็นว่าจะต้องหาข้อยุติดังกล่าวโดยจะเดินทางไปยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อขอให้ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 231 ในการยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครองว่า การที่ ส.ว.ให้ความเห็นชอบบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามตาม พ.ร.ป.ว่าด้วย ป.ป.ช.2561 มาตรา 11 (18) เป็นการกระทำโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายหรือไม่ และหากศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครองวินิจฉัยว่าเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย สมาคมฯจะดำเนินการร้องเอาผิด 219 ส.ว. ที่โหวตให้นายสุชาติเป็น ป.ป.ช.ตามครรลองของกฎหมายต่อไป เพราะไม่ว่าจะใหญ่มาจากไหนต้องอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน โดยสมาคมฯจะไปยื่นเรื่องในวันพฤหัสที่ 4 มิ.ย.2563 เวลา 09.00 น.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook