ส่อง พ.ร.บ.ปราบจลาจลสหรัฐฯ - เปิดทาง "ทรัมป์" ส่งกำลังทหารสลายประท้วง

ส่อง พ.ร.บ.ปราบจลาจลสหรัฐฯ - เปิดทาง "ทรัมป์" ส่งกำลังทหารสลายประท้วง

ส่อง พ.ร.บ.ปราบจลาจลสหรัฐฯ - เปิดทาง "ทรัมป์" ส่งกำลังทหารสลายประท้วง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในสหรัฐฯ อำนาจการดูแลความสงบเรียบร้อยภายในรัฐต่าง ๆ เช่น การประกาศเคอร์ฟิว และการใช้กองกำลังสำรองของรัฐ หรือ National Guard จะมาจากผู้ว่าการรัฐ แต่หลังจากที่ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ขู่ว่าจะส่งทหารของสหรัฐฯ เข้าไปจัดการกับการก่อความไม่สงบ การวางเพลิง การปล้นขโมย และความรุนแรงอันเป็นผลมาจากการชุมนุมทั่วประเทศเพื่อประท้วงการเสียชีวิตของ จอร์จ ฟลอยด์ ชายแอฟริกันอเมริกัน จึงมีการตั้งคำถามว่า ผู้นำของสหรัฐฯ มีอำนาจที่จะทำเช่นนั้นหรือไม่

สหรัฐฯ มีกฎหมาย Insurrection Act หรือ พรบ.ปราบการจลาจล ของปี 1807 ที่ให้อำนาจประธานาธิบดีสั่งให้มีการใช้กำลังทหารเข้าไปควบคุมหรือปราบปรามการก่อความไม่สงบเรียบร้อยในระดับรัฐได้หากมีการร้องขอมาจากผู้ว่าการรัฐ แต่การใช้อำนาจตามกฎหมาย Insurrection Act โดยผู้นำสหรัฐฯ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นน้อยมาก

ครั้งสุดท้ายที่มีการใช้อำนาจตาม Insurrection Act คือในปี 1992 เพื่อช่วยปราบจลาจลในนครลอสแอนเจลิสหลังจากที่ศาลตัดสินให้ตำรวจที่ทำร้ายทุบตีร่างกายชายผิวสี ร็อดนีย์ คิง (Rodney King) ไม่มีความผิด โดยประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช ได้ใช้อำนาจตาม Insurrection Act อนุมัติการส่งทหารเข้าไปช่วยควบคุมสถานการณ์หลังจากที่ผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนียขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลกลาง

อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายชี้ว่า ประธานาธิบดียังสามารถใช้อำนาจนี้ได้ในกรณีที่รัฐไม่สามารถปกป้องคุ้มครองพลเมืองของตนได้ตามกฎหมาย หรือหากรัฐเป็นผู้ที่ไม่เคารพกฎหมาย หรือละเมิดสิทธิพลเมืองเสียเอง

ตัวอย่าง เช่น ในปี 1957 ประธานาธิบดี ดไวท์ ดี ไอเซนฮาวเออร์ (Dwight D. Eisenhower) ส่งทหารไปที่เมืองลิตเติล ร็อค (Little Rock) รัฐอาร์คันซอว์ และให้รัฐบาลกลางเข้าควบคุมกองกำลังสำรองของรัฐ หรือแนชันแนล การ์ด เสียเอง เพื่อจัดการกับการจลาจล และเพื่อให้รัฐอาร์คันซอว์ยุติการแบ่งแยกสีผิวในโรงเรียนรัฐบาล (desegregation) ซึ่งศาลสูงแห่งสหรัฐฯ ได้ตัดสินว่าผิดกฎหมายเมื่อสามปีก่อนหน้านั้น

แต่ทั้งนี้หากประธานาธิบดีทรัมป์จะใช้อำนาจตาม Insurrection Act เพื่อส่งทหารเข้าไปรักษาความสงบในแต่ละรัฐ คาดว่าจะมีการต่อต้านค่อนข้างมากจากรัฐ ผู้นำท้องถิ่น และสังคม

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook