หมอวันชัย กระตุกนิรโทษกรรมขัดหลักธรรมาภิบาล
ผู้ทรงคุณวุฒิสถาบันพระปกเกล้า เตือนเสนอกฎหมายนิรโทษกรรม "เหลือง-แดง" ต้องคิดอย่างรอบคอบ ชี้ขัดหลักธรรมาภิบาลทุกข้อ ไม่แก้ปัญหาปลุกระดม
น.พ.วันชัย วัฒนศัพท์ ผู้ทรงคุณวุฒิ สถาบันพระปกเกล้า และหนึ่งในผู้ขับเคลื่อนเครือข่ายสานเสวนาเพื่อสันติธรรม ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่พรรคภูมิใจไทยเสนอร่างกฎหมายนิรโทษกรรมให้กับกลุ่มที่เคลื่อนไหวทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะกลุ่มเสื้อเหลืองกับเสื้อแดง โดยบอกว่า เรื่องนี้มีประเด็นที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เท่าที่ทราบผู้ที่เสนอร่างกฎหมายบอกว่า ถ้าไม่ทำขบวนการเสื้อเหลือง-เสื้อแดงจะไม่มีวันจบ แต่ส่วนตัวกลับเห็นว่า เท่าติดตามข่าว ทั้งกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (เสื้อเหลือง) และกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช.ล้วนไม่เห็นด้วย แสดงว่าคนเสนอคิดเองว่าจะจบ แต่ความจริงไม่น่าจะจบ
น.พ.วันชัย กล่าวต่อว่า ไม่ขอวิจารณ์ว่าร่างกฎหมายนิรโทษกรรมขัดหรือไม่ขัดรัฐธรรมนูญ แต่ที่แน่ๆ คือขัดหลักธรรมาภิบาล ซึ่งต้องไม่ลืมว่าทุกภาคส่วนของประเทศไทยกำลังเดินหน้าสู่ธรรมาภิบาล
ผู้ทรงคุณวุฒิ สถาบันพระปกเกล้า อธิบายว่า หลักธรรมาภิบาลเป็นหลักสากลที่ทุกประเทศยึดถือ ซึ่งประกอบด้วยหลักสำคัญๆ 5 หลัก เห็นว่าร่างกฎหมายนิรโทษกรรมขัดกับหลักการของธรรมาภิบาลทุกข้อ กล่าวคือ
1.หลักการมีสำนึกรับผิดชอบ หากออกกฎหมายนิรโทษกรรมย่อมทำให้คนที่กระทำผิดไม่มีความสำนึกรับผิดชอบ ในอนาคตจะคิดว่าทำอะไรผิดก็ไม่เป็นไร เดี๋ยวก็มีคนมาขอนิรโทษกรรมให้ ทั้งนี้ในกระบวนการยุติธรรมไทยไม่มีกระบวนการสร้างสำนึกรับผิดชอบให้กับผู้กระทำผิดอยู่แล้ว ฉะนั้นยิ่งออกกฎหมายนิรโทษกรรมแบบนี้ จะยิ่งซ้ำเติมปัญหาในแง่สำนึกรับผิดชอบ
2.หลักนิติรัฐนิติธรรม หลักการข้อนี้คือเมื่อบุคคลกระทำการในสิ่งที่กฎหมายระบุว่าเป็นความผิด จะต้องถูกลงโทษเท่าเทียมกัน หมายถึงหลักทุกคนเท่าเทียมกันต่อหน้ากฎหทมาย แต่ถ้าออกกฎหมายนิรโทษกรรม ความเท่าเทียมกันก็จะหมดไปทันที
3.หลักจริยธรรมและคุณธรรม หลักการข้อนี้ก็ชัดเจนว่าการนิรโทษกรรมไม่ได้ส่งเสริมจริยธรรม คุณธรรม เพื่อป้องกันไม่ให้คนทำผิดทำพลาด
4.หลักความโปร่งใสตรวจสอบได้ การออกกฎหมายนิรโทษกรรมจะทำลายหลักข้อนี้ สมมติให้มองย้อนกลับไปกรณียุบพรรคการเมือง หากมีการนิรโทษกรรมให้กับกรรมการบริหารพรรคที่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ต่อไปก็ไม่ต้องไปตรวจสอบบทบาทของกรรมการบริหารพรรค และไม่ต้องแสดงความรับผิดชอบใดๆ
5.หลักความคุ้มค่า มีประเด็นคำถามว่า ในกระบวนการต่างๆ ที่ทุกฝ่ายเดินหน้ามา มีการพิจารณาโทษกัน หรือมีการตรวจสอบกันโดยคณะกรรมการหลายชุด ประเทศไทยได้ลงทุนทั้งเวลาและค่าใช้จ่ายไปมากแล้วใช่หรือไม่ การนิรโทษกรรมจึงทำให้เสียเวลาและเงินทองไปเปล่าๆ
"การที่อ้างว่านิรโทษกรรมเพื่อให้ทุกฝ่ายได้หันมามีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาบ้านเมือง ผมคิดว่าจะต้องมองอย่างลึกซึ้ง เพราะการมีส่วนร่วมโดยหลักแล้วต้องเป็นการมีส่วนร่วมเพื่อหันหน้ามาพูดคุยกันแม้ความคิดเห็นแตกต่างกัน แต่ถ้าเราเหมารวมไปยกโทษให้หมดเลย ก็จะทำให้เกิดความรู้สึกหันไปใช้กระบวนการรวมตัวกันของกลุ่มหนึ่งเพื่อต่อสู้กับอีกกลุ่มหนึ่ง เพราะคิดว่าเมื่อต่อสู้กันไปแล้ว เกิดอะไรขึ้นก็สามารถนิรโทษกรรมได้ จึงขอให้สังคมตรึกตรองอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจ" ผู้ทรงคุณวุฒิ สถาบันพระปกเกล้า กล่าวทิ้งท้าย