4 อดีต ปธน. สหรัฐ ฯ ให้ความเห็นต่อปัญหาเหยียดเชื้อชาติ จากกรณี “จอร์จ ฟลอยด์”

4 อดีต ปธน. สหรัฐ ฯ ให้ความเห็นต่อปัญหาเหยียดเชื้อชาติ จากกรณี “จอร์จ ฟลอยด์”

4 อดีต ปธน. สหรัฐ ฯ ให้ความเห็นต่อปัญหาเหยียดเชื้อชาติ จากกรณี “จอร์จ ฟลอยด์”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ท่ามกลางเหตุประท้วงเรื่องการเหยียดเชื้อชาติในสหรัฐอเมริกาที่ลุกลามไปทั่วโลก อันเป็นผลจากกรณีการเสียชีวิตของชายผิวดำ “จอร์จ ฟลอยด์” ที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจมินนิอาโปลิสใช้เข่ากดลงที่คอนานกว่า 8 นาที จนขาดอากาศหายใจ แนวทางการรับมือกับสถานการณ์ของประธานาธิบดี “โดนัลด์ ทรัมป์” ผู้นำสหรัฐฯ คนปัจจุบัน กลับเหมือนเป็นการสาดน้ำมันเข้ากองไฟ ด้วยการใช้กองกำลังทหารเข้าควบคุมประชาชนที่ออกมาประท้วงการเหยียดเชื้อชาติอย่างไร้ความเป็นธรรม โดยปราศจากท่าทีที่รับฟังและเห็นอกเห็นใจชาวอเมริกันจำนวนมากที่เคยประสบกับการเหยียดเชื้อชาติอย่างเป็นระบบ และไม่ได้เสนอขั้นตอนอย่างเป็นรูปธรรมในการแก้ปัญหา รวมไปถึงการทวีตข้อความทางทวิตเตอร์ ที่ยั่วยุให้เกิดความรุนแรง

ล่าสุด อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ 4 คน ได้แก่ บารัก โอบามา, จอร์จ ดับเบิลยู บุช, บิล คลินตัน และจิมมี คาร์เตอร์ ก็ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการเหยียดเชื้อชาติอย่างเป็นระบบและความอยุติธรรม ผ่านช่องทางออนไลน์ของตัวเอง เพื่อแสดงออกถึงมนุษยธรรมต่อชาวอเมริกันทุกคน และเพื่อประณามการลดทอนความเป็นมนุษย์ของคนบางกลุ่ม รวมทั้งเรียกร้องให้ประชาชนเผชิญหน้ากับความล้มเหลวครั้งนี้ สร้างความเปลี่ยนแปลง และเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ซึ่งแม้ว่าแต่ละคนจะให้น้ำหนักประเด็นต่างๆ ไม่เท่ากัน แต่สิ่งที่ทุกคนมีเหมือนกันก็คือ การไม่ยอมรับภาวะผู้นำที่ขาดความเห็นอกเห็นใจของทรัมป์

บารัก โอบามาAFPบารัก โอบามา

เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน ที่ผ่านมา บารัก โอบามา ประธานาธิบดีคนที่ 44 และเป็นประธานาธิบดีผิวดำคนแรกของสหรัฐฯ ได้กล่าวในการการอภิปรายเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำทางเชื้อชาติและทางออกของชุมชนว่า สิ่งที่เขามองเห็นคือปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศ จากประวัติศาสตร์เกี่ยวกับทาส ที่ต่อเนื่องมาจนถึงการเหยียดเชื้อชาติในเชิงระบบในปัจจุบัน รวมทั้งเรียกร้องให้นายกเทศมนตรีทบทวนและปฏิรูปข้อตกลงในการใช้อำนาจกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ และเรียกร้องให้นักกิจกรรมขับเคลื่อนประเด็นดังกล่าวในการเลือกตั้ง ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ก็ต้องมีความรับผิดชอบด้วย

“ผมได้ยินได้ฟังที่ชาวเน็ตคุยกันเกี่ยวกับจะโหวตหรือจะประท้วง การเมืองกับการมีส่วนร่วมหรือจะทำอารยะขัดขืนและตอบโต้โดยตรง นี่ไม่ใช่เรื่องว่าจะทำอะไรหรืออะไร แต่เป็นเรื่องที่ต้องทำทั้งคู่ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง เราต้องหยิบยกปัญหาขึ้นมาและทำให้ผู้มีอำนาจรู้สึกไม่สบายใจ ขณะเดียวกัน เราก็ยังต้องสร้างทางออกที่เป็นไปได้ในทางปฏิบัติ รวมทั้งกฎหมายที่สามารถบังคับใช้ได้จริง” โอบามากล่าว

จอร์จ ดับเบิลยู บุชAFPจอร์จ ดับเบิลยู บุช

ด้านจอร์จ ดับเบิลยู บุช ซึ่งเป็นประธานาธิบดีจากพรรครีพับลิกันเพียงคนเดียวจากทั้งหมด 4 คนนี้ และมักจะสงวนท่าทีในการวิจารณ์ทรัมป์ ก็แสดงความไม่เห็นด้วยกับทรัมป์อย่างรุนแรง หลังจากที่หลายเมืองในสหรัฐฯ สั่นสะเทือนไปด้วยความโกรธเกรี้ยว ความคับข้องใจ และความกลัวต่อสิ่งที่พวกเขาเรียกว่า “บาปดั้งเดิมของชาติ” ซึ่งก็คือการเหยียดเชื้อชาติและความล้มเหลวของผู้นำในการถอนรากถอนโคนปัญหา

บุชระบุว่า เขาและลอรา ภรรยา รู้สึกขุ่นเคืองใจจากความไม่เป็นธรรมและความกลัวที่ครอบงำประเทศ และถึงเวลาแล้วที่สหรัฐฯ จะหันมาทบทวนตรวจสอบความล้มเหลวของตัวเอง ผ่านสายตาของประชาชนที่ถูกคุกคาม ถูกกดขี่ และถูกลิดรอนสิทธิ

“วิธีการที่ดีกว่าก็คือ วิถีของการเห็นอกเห็นใจ การมีฉันทามติร่วมกัน การต่อสู้อย่างแข็งขัน และสันติภาพบนพื้นฐานของความยุติธรรม” บุชกล่าว

บิล คลินตันAFPบิล คลินตัน

ขณะที่ บิล คลินตัน ประธานาธิบดีคนที่ 42 ของสหรัฐฯ ก็ได้ระบุในแถลงการณ์เมื่อวันที่ผ่านมาว่า ความฝันของมาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ ที่ว่า จะไม่มีชาวอเมริกันคนใดถูกตัดสินจากสีผิว ดูเหมือนจะเป็นไปไม่ได้ในปัจจุบัน และการเสียชีวิตของฟลอยด์ก็เป็นเครื่องเตือนใจอันน่าเจ็บปวด ที่เชื้อชาติของบุคคลยังเป็นตัวกำหนดว่าพวกเขาจะได้รับการปฏิบัติอย่างไร ซึ่งวิถีนี้ก็ยังคงอยู่ในทุกมิติของชีวิตของชาวอเมริกัน

“เราไม่อาจตอบคำถามเหล่านี้ได้ตรงๆ ในโลกของเราที่ยังมีทั้งแนวคิดแบ่งแยกเพื่อปกครอง พวกเราและพวกเขา การหาคนผิด และการปัดความรับผิดชอบ” คลินตันกล่าว พร้อมเสริมว่า ผู้ที่มีอำนาจควร “ขยายพื้นที่ของความเป็น ‘พวกเรา’ ให้มากขึ้น และลดพื้นที่ความเป็น ‘พวกเขา’ ลง พร้อมยอมรับข้อตำหนิ และมีความรับผิดชอบมากกว่านี้

จิมมี คาร์เตอร์AFPจิมมี คาร์เตอร์

ด้านจิมมี คาร์เตอร์ อดีตประธานาธิบดีวัย 95 ปี ที่ดำรงตำแหน่งในช่วงปี พ.ศ. 2520 - 2524 ก็ให้ความเห็นเกี่ยวกับสถานะทางศีลธรรมของประเทศและภาวะผู้นำว่า

ผู้ที่มีอำนาจ มีอภิสิทธิ์ และความรู้สึกผิดชอบชั่วดี จะต้องยืนหยัดและยืนยันว่า จะไม่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจและระบบยุติธรรมที่เลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเชื้อชาติ ความแตกต่างทางเศรษฐกิจอันชั่วร้ายระหว่างคนขาวและคนดำ รวมทั้งการกระทำของรัฐบาลที่กัดกร่อนประชาธิปไตยอันเป็นหนึ่งเดียวของเราอีกต่อไป”

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าแถลงการณ์ของอดีตประธานาธิบดีทั้ง 4 คน จะเต็มไปด้วยมนุษยธรรมและความเห็นอกเห็นใจที่มีต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน แต่ก็สะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวในการแก้ปัญหาการเหยียดเชื้อชาติอย่างเป็นระบบของอเมริกา ในขณะที่พวกเขาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีด้วย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook