"สิตางศุ์ บัวทอง" ท้าต่อยสำนักพุทธฯ ร่ำไห้ไม่ยอมให้ลบภาพผนังโบสถ์
กรณีภาพวาดเน็ตไอดอลชื่อดัง "สิตางศุ์ บัวทอง" ตำนานส้มหยุด ไปปรากฏอยู่บนผนังโบสถ์วัดหนองเต่า กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในสังคมเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะสำนักพุทธฯ ที่มองว่าภาพดังกล่าวไม่เหมาะสม บิดเบือนพุทธประวัติ
รายการโหนกระแสวันที่ 4 มิ.ย. "หนุ่ม กรรชัย กำเนิดพลอย" ในฐานะผู้ดำเนินรายการ ผลิตในนามบริษัท ดีคืนดีวัน จำกัด ออกอากาศทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 12.20 น. ทางช่อง 3 กดเลข 33 เปิดใจสัมภาษณ์ สิตางศุ์ ซึ่งมาพร้อม "จรัณภัตษณ์ แก้วอ่ำ" หรือ "ปุ๊" เป็นคนวาดภาพขึ้นมา และ "อาจารย์วรา มณีจันทร์" นักวิชาการอิสระ
อาจารย์เป็นนักวิชาการอิสระด้านไหน?
วรา : "ผมเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน เป็นนักวิชาการด้านรัฐประสานศาสตร์ เคยทำงานเรื่องศิลปะวัฒนธรรม เรื่องสังคมมาเยอะ ผมเป็นอดีตเลขาศิลปินแห่งชาติ และทำกองทุนด้านศิลปะ"
คุณปุ๊ ทำไมอยู่ดีๆ ถึงวาดภาพนั้น?
ปุ๊ : "จุดเริ่มต้น เราได้รับมอบหมายให้เขียนงานชิ้นนั้น ด้วยความเป็นศิลปินเราอยากฝากลายเซ็นของเราลงไปบนภาพ จะทำยังไงให้คนย้อนมาได้ว่าเราเขียนงานนี้ตอนไหน ก็ปิ๊งไอเดียขึ้นมา ช่วง 2-3 อาทิตย์ก่อน แม่มีกระแสเรื่องส้มหยุดมหาศาล มาแรงแซงโค้ง และแม่ก็เป็นเหมือนคนที่เราปลาบปลื้ม ชอบวิธีการดำเนินชีวิตของแม่ องค์ประกอบมันเหมาะเจาะ เราเลยวาดแม่ลงไป เป็นตัวแทนกาลเวลาช่วง ณ ปัจจุบัน"
โจทย์ที่ได้มา ได้จากทางวัดวาดภาพพุทธประวัติหรือเปล่า หรือเราคิดเองแล้วมาวาดภาพนี้?
ปุ๊ : "ภาพนี้มีศิลปินต้นฉบับอยู่แล้ว เป็นข้อมูลเบื้องต้น ก็อยากตามหาอยากให้เครดิตต้นฉบับด้วย แต่เอามาดัดแปลงเป็นสไตล์เราอีกที ทางเจ้าอาวาสก็ให้แต่เพียงข้อมูลที่อยากได้เป็นพุทธประวัติ เป็นองค์สัมมาสัมพุทธเจ้าลงมาจากดาวดึงส์ มีหลายชนชั้นมาร่วมบุญ ทั้งเทวดา นางฟ้า มนุษย์ พระสงฆ์ และชั้นสัตว์นรกด้วย เปิดทั้งสามภพเลย นี่คือโจทย์ที่ได้มา"
ปรึกษาเจ้าอาวาสก่อนวาดมั้ย?
ปุ๊ : "ไม่ได้ปรึกษา เรามองว่าเป็นรายละเอียดเล็กๆ เป็นมุกขำศิลปิน เหมือนคนทำงานเหนื่อยๆ อยากรีแลกซ์ผ่อนคลาย แม่เป็นตัวแทนที่เราได้เขียนแม่แล้วทำให้เราผ่อนคลาย เราปลื้มแม่เลยเลือกเขียนแม่ด้วย"
อาจารย์คำว่าภาพกากในที่นี้ประชาชนบางท่านอาจไม่รู้จัก ภาพกากในมุมวาดภาพคืออะไร?
วรา : "ภาพกากเป็นองค์ประกอบภาพใหญ่ ใช้ขัดอารมณ์ความรู้สึก บางทีถ้าภาพเต็มเคร่งครัดเกินไป ศิลปินสมัยก่อนก็ใช้ภาพกากดำเนินเรื่องให้สนุกขบขน สะท้อนชีวิตดั้งเดิม ศิลปินมีความตลกขบขันแต่ภาพกากไม่ใช่สาระสำคัญหลักของเรื่อง อยู่แค่มุมใดมุมหนึ่งของจิตกรรมเท่านั้นเอง กากก็บันทึกวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ในยุคนั้นๆ ซึ่งมันเป็นสีสัน อย่างภาพพลอดรักกันตามจุดต่างๆ ภาพเสพสังวาสมีอยู่ในจิตรกรรมไทยประเพณี พอมาในยุคหลัง นับตั้งแต่ยุคขรัวอินโข่งตะวันตกเข้ามา ภาพมีพัฒนาภาพมีมิติใกล้ไกลมากขึ้น ศิลปินก็สอดใส่วิถีชีวิตบ้านเมืองในสมัยนั้นเข้าไป"
อย่างมีภาพภรรยาชูชก ชื่อนางอมิตาดาถูกกลั่นแกล้ง มีคนไปดึงขนเพชรมาโรยในหัว เป็นภาพกากที่สอดแทรกในนั้นเหมือนกัน?
วรา : "ก็เป็นอารมณ์ขัน เป็นเรื่องธรรมดา หลักพุทธศาสนาใครๆ ก็รู้อยู่แล้ววาองค์สัมมาสัมพุทธเจ้าเน้นการไม่ยึดติด เน้นการไม่มีตัวตน ฉะนั้นภาพในโบสถ์เป็นภาพองค์ประกอบที่ทำให้ว่าเห็นขาวดำคืออะไร ธรรมะกับอธรรมคืออะไร เป็นเครื่องสอนมนุษย์ด้วยซ้ำไป แล้วการบันทึกภาพคุณสิตางศุ์ ก็เป็นสิ่งสำคัญมาก และควรให้เครดิตศิลปินมากที่ได้ยกย่องคนที่เป็นเพศที่สาม ที่สังคมเหยียดหยามมาโดยตลอด ให้เข้าไปอยู่ในจิตรกรรมฝาผนังและมีคนตอบรับมากมาย แสดงว่าสังคมไทยในยุคนี้เปิดกว้าง"
ถ้าคนส่วนหนึ่งที่เขาเคารพองค์สัมมาสัมพุทธเจ้า เขาเข้าใจในมุมภาพกาก แต่ภาพที่เห็นเป็นภาพพุทธประวัติ องค์พระพุทธเจ้ามาโปรดสัตว์ทั้งหลาย แต่ภาพอื่นๆ ที่เห็นในภาพกากมันอยู่ในภาพวิถีชุมชนมนุษย์ แต่พอมีภาพองค์พระพุทธเจ้ามาเกี่ยวข้อง มีภาพคนนึงแทนจะแหงนหน้ามองกลับไม่มอง จะอธิบายยังไง?
วรา : "เรื่องศาสนา จริงๆ ศาสดาไม่ได้เคร่งครัดหรือยึดติด พวกมีปัญหาคือสาวก พวกยึดติด แล้วมีปัญหา และพวกคุมกฎ สำนักพุทธอย่าลืมว่าเป็นข้าราชการ ได้รับเงินภาษีจากประชาชน ได้รับมอบหมายให้ไปทำงาน แต่สิ่งที่สำนักพุทธทำไม่ได้หมายความว่าต้องเผด็จการ ถูกต้องเสมอไป ประชาชนไม่เห็นด้วยมีสิทธิ์แย้งได้ สิ่งที่บอกว่าภาพนี้มีปัญหา จะเห็นว่าจิตรกรพยายามวาดตั้งแต่สวรรค์ โลกมนุษย์ นรกภูมิแยกเป็นชั้นๆ ถามว่าเหตุการณ์จริง บางทีพระพุทธเจ้ามา เราคัน เราเกาตูดได้มั้ย เกาได้ถูกมั้ย จะเคร่งครัดอะไรนักหนา ถ้าเคร่งครัดมาก สมัยก่อนภาพสังวาสภาพเหล่านั้นจะไม่ได้เกิดเลย ถ้าอยากให้มีระเบียบ ให้ดีแต่งชุดข้าราชการมารอรับพระพุทธเจ้าเลยดีมั้ย มันไม่ใช่ไง"
แม่เป็นไง?
สิตางศุ์ : "ขอบคุณรายการ ได้รับคำตอบแล้ว ตอนแรกเห็นด้วยกับสำนักพุทธนะ มีคิวที่เคลียร์ได้เมื่อวานบ่าย ฉันก็รีบไปที่วัด เราไปหลงที่หนองเต่า ที่ขอบคุณรายการ เป็นบุญของฉัน ฉันได้ความรู้ว่ามีภาพกากอะไรพวกนี้ แต่เมื่อวานที่น้ำตาไหลไม่ได้ดัดจริตบีบน้ำตานะคะ ฉันนึกว่าเป็นวัดธรรมดาอย่างที่เราเห็นต่างจังหวัด แต่ที่นี่ไม่ธรรมดา เป็นวัดชายทุ่ง ที่โบสถ์เล็กกว่าบ้านคุณหนุ่มอีก แล้วคนแก่มากอดฉัน"
"ฉันไม่ได้จะไปเอาเรื่องใคร จะเอาเงินถวายวัด แต่พอเห็นโบสถ์แล้วขนาดนั้นไม่ได้รวย โบสถ์ยังเล็กกว่าบ้านฉัน คนแก่มากอดก็ชื่นใจ (ร้องไห้) คนจากลพบุรี นครสวรรค์เขาไป วัดนี้เอาง่ายๆ ไม่มีการดูแลรับผิดชอบวัด วัดใช้ค่าไฟเดือนละพันกว่า บ้านฉันยัง 7 พันเลย คณะสงฆ์อยู่ยังไงเดือนละพันกว่า แสดงว่า กฐินปีละ 5 หมื่น ฉันก็ถามกำนัน ขอโทษกำนันฉันด่ากำนันซะเละเลยว่าดูแลวัดยังไง"
"วัดได้กฐินปีละ 5 หมื่นไม่พอนะ จากความโศกเศร้ายายมากอดฉัน ความชุ่มชื่นของชาวนาที่มีคนต่างถิ่นไปกราบไหว้วัดเขาซึ่งเป็นวัดเล็กๆ ฉันเปลี่ยนเลย ฉันไม่ยอมแล้วนะ(ร้องไห้)แล้วจะขอรับผิดชอบวัดนี้ไปตลอดชีวิต ฉันไม่รวยนะ แต่ฉันขายของเก่ง พูดแล้วก็ร้องไห้ก็ดัดจริตอีก เราสงสาร หลวงพ่อก็ไม่รู้เรื่อง ถึงเป็นภาพแต่ฉันเชื่อว่าพระพุทธองค์สอนเราไม่ให้ยึดติดอัตตา ตอนแรกฉันคิดว่ากะเทยอย่างฉันได้ขึ้นผนังโบสถ์วันเดียวก็พอแล้ว ให้ลบไปเลย แต่พอไปถึงแล้ว (ร้องไห้) คนแก่ในชุมชนที่ดูแลวัดที่อยู่ปลายนา วัดนิดเดียวไปทำร้ายเขาทำไม เขาเพิ่งได้รับความชุ่มชื่นหัวใจ (ร้องไห้) ฉันว่าพระพุทธองค์ก็แอบอมยิ้มกับภาพนี้ เพราะชาวบ้านเขาอมยิ้มกัน ฉันหาเงินเลี้ยงวัดด้วย ฉันเลี้ยงผู้ชายมาตั้งเยอะ ฉันถามว่าใครจ่ายค่าไฟเดือนละพันห้า ไม่มีงบประมาณช่วยเหลือวัดนะ วันละร้อยที่จะให้วัด ไม่ได้บิณฑบาตก็ไม่ได้นะ ต่อไปผู้ชายไม่ต้องทักมา ฉันไม่เลี้ยงแล้วนะ"
ปุ๊ : "มีแรงบันดาลใจจะวาดภาพเพศที่สามไปด้วย"
จะมีดราม่าอีกมั้ย?
วรา : "ผมว่าการกดทับ เอามาบูลลี่ เป็นเรื่องสถุนมาก ไม่ควรทำ สังคมไทยควรเข้าใจใหม่ พี่่สิตางศุ์หรือน้องก็ดี เขามีเลือดเนื้อ มีความเป็นมนุษย์ ไปบูลลี่เขาทำไม คนพิการ คนด้อยโอกาส คนจน คนชายขอบ ไปบูลลี่เขาทำไม สังคมไทยตอแหลนับถือคนรวย คนมีหน้ามีตา มีอิทธิพล แต่ไม่ใยดีกับคนที่ด้อยโอกาส ถ้าเราเปิดพื้นที่ทางสังคม หน่วยงานราชการตัวดี อย่าไปถือไม้บรรทัดที่วัดกติกาทางสังคม วัดมาตรฐานทางจริยธรรม แล้วไปชี้คนอื่นว่าถูกว่าผิด ตนเองมีแค่สมองสี่เหลี่ยมคิดแค่ในกรอบ มาตัดสินความดีความเลว แม้แต่ความเป็นไทยก็ตัดสิน เรื่องเหล่านี้สังคมไทยต้องเข้าใจ"
ในมุมภาพวาด ไม่เห็นด้วยกับสำนักพุทธ?
วรา : "ภาพมันพยายามหลบๆ แล้วนะ ถ้าสำนักพุทธคิดจะมีปัญหา ทำไมไม่มีปัญหากับเจน-นุ่น-โบว์ นมโตด้วยล่ะครับ ถ้าโบราณเขาไม่ทำมาก่อน ก็คงไม่มีใครกล้าทำ แล้วคุณบอกยูนิฟอร์มนี้ผิด คุณต้องใส่ให้เรียบร้อยอย่างนั้นเหรอ หน้าอกใหญ่แบบนี้ชอบมั้ยล่ะ ชอบ แต่ละคนสวยงามน่ารักจิ้มลิ้ม ต่อไปเสนอพี่สิตางศุ์เลยนะ ภาพนี้เสร็จถ่ายรูปหาเงินเข้าวัดทำบุญเสียค่าไฟ"
สิตางศุ์ : "อาจารย์จะมาชงแบบนี้ไม่ได้ เพราะความคิดฉันก็คิดแบบนี้ มีใครไม่ชอบฉันส่วนตัวหรือเปล่า เปิดไลฟ์มาชกกันเลย ส่งตัวแทนมาคนนึง ต่อยกับกูเลยมา เรื่องเดิม ประสบการณ์เดิม ฉันโดนกราบไหว้นับถือ ฉันบวชพระ 2 พรรษา แต่พอฉันไว้ผมยาวเป็นกะเทย ฉันโดนเหยียบย่ำเพราะอะไร มันเรื่องเดิม คนเดิม ฉันมองเรื่องความสุขที่เห็นจากภาพนี้แล้วคุณ จะเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม นมโตหรือไม่มีนม ฉันไม่สน ฉันดูถึงความชื่นใจ คุณต้องไปพื้นที่แล้วจะรู้ว่ากว่าจะไปถึงวัดนี้หายากด้วย แล้วเป็นชุมชนเล็กๆ วัดเล็กๆ ฉันมองว่าภาพนี้ที่มาที่ไปยังไงไม่รู้ แต่มันได้สร้างความชุ่มชื่นใจ แล้วคนจากต่างถิ่นมองเห็นตรงนี้ เราจะได้เจริญไปข้างหน้าซะที"
น้องเขาวาดเหมือนมั้ย?
สิตางศุ์ : "เหมือน มองแล้วรู้เลยว่าเป็นฉัน อากัปกิริยาชี้ส้มสามารถดึงคนจากต่างถิ่นมาวัดนี้พอมั้ย พระพุทธองค์ยังต้องยิ้มเลย คนรุ่นหลังมีกุศโลบายอะไรก็ปล่อยเขาดีมั้ยเพื่อให้คนเข้าวัด เดี๋ยวนี้คนไม่เข้าวัดแล้ว วัดนี้ไม่ได้ดังเรื่องหวย ไม่ได้มีแม่ตะเคียน หรือจะให้คนตามแต่แม่ตะเคียนคุณ เขาให้มาดูชื่นชมวัดเล็กๆ ที่ไม่มีรายได้ ไม่ได้รับความช่วยเหลือจากองค์กรรัฐ ค่าน้ำค่าไฟเดือนละพันกว่าแสดงว่าเจ้าอาวาสเจียมตนเจียมตัวอยู่แล้ว"
เจ้าอาวาสยืนยันว่าไม่ลบ?
สิตางศุ์ : "(ร้องไห้) เมื่อวานยายมากอดฉัน (ร้องไห้) ฉันไม่ยอมนะ วัดนี้ฉันจะจ่ายเองตลอดชีวิตฉันนี่แหละ คืออย่ามาทำร้าย รู้มั้ยเขาอดอยากกันมาเท่าไหร่ 2-3 เดือนนี้ คุณต้องไปเองนะคะ แล้วจะเข้าใจ ไม่ได้มาบีบน้ำตา ส่งตัวแทนมา 1 คน ใครรอดตายจากป่าช้าคนนั้นชนะ ถ้าเกลียดฉันส่วนตัวมาท้าต่อยฉันตัวๆ ก่อนก็ได้ อย่ามาทำร้ายคนยากคนจนตามบ้านนอกแบบนี้ ฉันรับไม่ได้"
ตอนแรกน้องปุ๊จะยอมแก้ภาพ วันนี้แก้มั้ย?
ปุ๊ : "จะบอกว่าวันนั้นสถานการณ์ค่อนข้างเสียใจ เขาเป็นผู้ใหญ่ เราก็ค่อนข้างตกใจ ยิ่งเมื่อวานเราเห็นอะไรหลายๆ อย่าง อยากให้ผู้ใหญ่เปลี่ยนความคิด พูดแล้วจะร้องไห้ตามแม่"
สิตางศุ์ : "ทำร้ายกันทำไม"
ปุ๊ : "มันเป็นภาพตัวเปิดไปแล้วค่ะ ผู้ใหญ่และเจ้าอาวาสหลายๆ ท่านเห็นพ้องต้องกันว่าไม่ต้องเปลี่ยนอะไร"
กลัวมีปัญหากับสำนักพุทธมั้ย?
ปุ๊ : "เราเป็นแค่ศิลปินหน้าใหม่รุ่นใหม่ อยากให้ผู้ใหญ่คุยไปก่อน แต่เชื่อว่าไม่ได้มีผลอะไร ไม่ได้บิดเบือน ผิดศีลธรรม ยั่วยุหรือให้ร้าย หรือทำให้ใครเกิดความรู้สึกขุ่นข้องหมองใจ"
วรา : "สำนักพุทธเนี่ยควรทำเรื่องที่ควรเป็นเรื่องมากกว่านี้ มีพระผิดศีลมากมาย มีคอรัปชั่นมากมาย เมื่อวานก็มีอีกหน่วยงานไปลบภาพหน้าผู้บริหารประเทศ นายกฯ พลเอกประยุทธ์ ซึ่งอยู่ในวัดนี้ มีข้าราชไปลบ มันเป็นการกระทำที่อุกอาจดูหมิ่นไม่ให้เกียรติประชาชน คนไทยเกรงใจข้าราชการเกินไป จริงๆ ข้าราชการเป็นผู้รับใช้ประชาชนต้องคำนึงถึงสิทธิ ควรปล่อยให้ศิลปินทำงานอิสระ เพื่อบันทึกความดีงามแห่งยุคสมัย"
ลบภาพ "ประยุทธ์-ประวิตร" ไปแล้ววัดเดียวกันโดยไม่ได้ขอ?
วรา : "ใช้มาตรฐานตัวเองมาตัดสินกำหนดจริยธรรมทางสังคมมันผิดครับ"
อยากฝากอะไร?
สิตางศุ์ : "ช่วยดูแลกันหน่อยนะคะ ไม่ว่าจะเป็นจังหวัดไหน อย่ายอมปล่อยผ่าน ถ้าเราทุกคนช่วยกันส่งเสียงร้อง ถึงเสียงคนจนไม่ดังเท่าเสียงสะบัดแบงก์ เสียงสะบัดเงินดังกว่าเสียงโอดครวญคนจน หยุด หยุดการทำร้ายคนจน ฉันก็ไม่ยอมเหมือนกัน"
- สำนักพุทธฯ สั่งแก้ภาพจิตรกรรม "สิตางศุ์ส้มหยุด" บนผนังโบสถ์ ชี้นิ้วบิดเบือนพุทธประวัติ
- เปิดใจที่แรก "สิตางศุ์ บัวทอง" หลังเห็นภาพตัวเองกับตำนาน "ส้มหยุด" ติดฝาผนังโบสถ์
- ชาวบ้านปลื้ม "ภาพสิตางศุ์ส้มหยุด" บนผนังโบสถ์วัดหนองเต่า แห่ชมกันล้นหลาม
- "สิตางศุ์ บัวทอง" หลั่งน้ำตา ชมภาพตำนานส้มหยุดบนผนังโบสถ์วัดหนองเต่า