กรณี “จอร์จ ฟลอยด์” จุดประกายการถกปัญหาผิวสีของ “ชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชีย”

กรณี “จอร์จ ฟลอยด์” จุดประกายการถกปัญหาผิวสีของ “ชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชีย”

กรณี “จอร์จ ฟลอยด์” จุดประกายการถกปัญหาผิวสีของ “ชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชีย”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ขณะที่การชุมนุมประท้วงเรื่องการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ตำรวจต่อคนผิวสียังดำเนินต่อไปทั้งในสหรัฐอเมริกาและในหลายประเทศทั่วโลก ชุมชนชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียก็กำลังตกเป็นประเด็นของการโต้เถียง เมื่อเถา เต้า (Tou Thao) เจ้าหน้าที่ตำรวจเชื้อสายม้ง ยืนดูเหตุการณ์ที่เดเร็ค ชอวิน เพื่อนตำรวจผิวขาวของเขา คุกเข่าทับคอชายผิวดำ “จอร์จ ฟลอยด์” เป็นเวลานานกว่า 8 นาที ทำให้ฟลอยด์ขาดอากาศหายใจและเสียชีวิต 

ทำไมการตายของ “จอร์จ ฟลอยด์” จึงจุดประกายการประท้วงทั่วสหรัฐฯ

การที่เถา เต้า ยืนอยู่ในเหตุการณ์ที่น่ากลัวเช่นนี้ ทำให้ชาวอเมริกันเชื้อสานเอเชียหันมาพูดคุยกันเกี่ยวกับกระแสการต่อต้านคนผิวดำในชุมชนของชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียในโซเชียลมีเดีย ชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียหลายคนออกมาเรียกร้องและร่วมสนับสนุนการเคลื่อนไหว Black Lives Movement แต่ก็มีบางส่วนที่วิพากษ์วิจารณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในประเทศ ซึ่งปฏิกิริยาที่คัดค้านและไม่เห็นด้วยกับการชุมนุมประท้วงในครั้งนี้ ได้จุดประกายการถกเถียงเรื่องบทบาทของชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียต่อการแบ่งแยกเชื้อชาติและผิวสีที่ฝังรากลึกอยู่ในสหรัฐฯ 

“ฉันเหนื่อยกับการที่ชุมชนชาวเอเชียนิ่งเฉยหรือไม่แสดงท่าทีใด ๆ เมื่อถึงเวลาที่เราต้องยืนเคียงข้างพี่น้องผิวดำของพวกเรา คนผิวขาวใช้คนเอเชียเป็นเครื่องมือ ในขณะที่ชาวเอเชียหลายคนก็สุขสบายอยู่กับอภิสิทธิ์ของระบบคนผิวขาว และเมื่อไรก็ตามที่เราโดนโจมตี เราจะใช้ความเห็นอกเห็นใจของการเป็นคนผิวสีมาช่วย แต่เมื่อถึงเวลาที่เราต้องช่วยปกป้องคนผิวสีอื่น ๆ เรากลับเลือกที่จะไม่แสดงท่าทีใด ๆ” เบียงกา เบอร์เมโจ นักกิจกรรมชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชีย กล่าว 

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เจ้าหน้าที่ตำรวจอเมริกันเชื้อสายเอเชียใช้ความรุนแรงกับผู้ต้องสงสัย ในปี 2014 ปีเตอร์ เหลียง เจ้าหน้าที่ตำรวจในนิวยอร์ก และเพื่อนตำรวจของเขาออกลาดตระเวนบริเวณพื้นที่พัฒนาที่อยู่อาศัยสาธารณะ ซึ่งเหลียงได้ลั่นไกปืนไปถูกอาไค เกอร์ลีย์ ชายผิวดำวัย 28 ปีเสียชีวิต ขณะที่เขากำลังเดินลงบันได เหลียงถูกตั้ง 6 ข้อหา รวมถึงข้อหาฆาตกรรม ส่งผลให้เกิดปฏิกิริยาที่แตกต่างกันภายในชุมชนชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชีย โดยนักกิจกรรมบางกลุ่มก็มองว่า เหลียงตกเป็นแพะรับบาป เนื่องจากเชื้อชาติของเขา ขณะที่นักกิจกรรมหลายคนก็ชี้ว่า เหตุการณ์ดังกล่าวไม่ได้แตกต่างไปจากรูปแบบวิธีการของตำรวจที่ต่อต้านกลุ่มคนผิวดำ 

ความไม่ลงรอยกันของชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียและอเมริกันผิวดำมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน โดยในปี 1992 ธุรกิจของชาวเกาหลีจำนวนมากถูกทำลายเสียหาย เนื่องจากการจลาจลที่เกิดขึ้นในลอสแอนเจลิส หลังจากเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ทำร้ายรอดนีย์ คิง ชายผิวดำคนหนึ่งอย่างรุนแรง ได้รับการปล่อยตัว นอกจากนี้ การชุมนุมประท้วงยังได้เชื้อไฟจากการฆาตกรรมลาตาชา อาร์ลินส์ เด็กหญิงผิวดำวัย 15 ปี โดยผู้ก่อเหตุคือเจ้าของร้านขายเหล้าชาวเกาหลี ซึ่งถูกตัดสินให้คุมความประพฤติ ทำงานเพื่อสังคม จัดการค่าทำศพ และเสียค่าปรับ 500 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่านั้น

การต่อต้านคนผิวดำปรากฏอยู่ในวัฒนธรรมเอเชียหลายรูปแบบ ทั้งการดูถูกและเอาเปรียบคนผิวดำของเจ้าของร้านชาวเอเชีย การใช้ผลิตภัณฑ์เพื่อให้ผิวขาวขึ้น หรือการที่ชาวเอเชียพูดคำหยาบต่อคนผิวดำด้วยเสียงที่ดังและชัดเจน ขณะที่ชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียก็ต้องเผชิญกับทัศนคติเชิงลบต่อคนผิวดำในครอบครัวของตัวเอง 

การอยู่ร่วมกันของชุมชนชาวเอเชียและคนผิวดำในสหรัฐฯ มีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานและสลับซับซ้อน ซึ่งมีความเชื่อมโยงถึงเรื่องการล่าอาณานิคมของคนผิวขาว และลัทธิความสูงส่งของคนผิวขาว ซึ่งอิทธิพลตะวันตกได้หยั่งรากฐานการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ หรือการลดคุณค่าความเป็นคนของคนผิวดำและคนพื้นเมือง ซึ่งแนวความคิดรูปแบบนี้ ส่งผลให้เกิดการต่อต้านและดูถูกคนผิวดำหรือคนผิวสี 

นอกจากนี้ ยังมีรูปแบบวาทกรรมของ “ชนกลุ่มน้อย” ที่ไหลเวียนอยู่ในชุมชนของชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียและอเมริกันผิวดำ โดยเชื่อว่าชาวอเมริกันที่ไม่ใช่คนผิวขาวจะก้าวข้ามผ่านการดูถูกและเหยียดเชื้อชาติได้ ต่อเมื่อพวกเขาประสบความสำเร็จแล้วเท่านั้น เช่น ชาวเอเชียต้องเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำและเป็นหมอ หรือวิศวกร ซึ่งความคิดรูปแบบนี้ เกิดขึ้นจากโครงสร้างอำนาจที่ยกคนผิวขาวเอาไว้ด้านบนสุด แต่ชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียและผู้อพยพเชื้อชาติอื่น ๆ ก็เรียนรู้และเดินตามมายาคติดังกล่าวอย่างเคร่งครัด อย่างไรก็ตาม แม้กลุ่มอเมริกันเชื้อสายเอเชียจะเป็นชนกลุ่มน้อยที่มั่งคั่งมากที่สุดในสหรัฐฯ แต่ก็เป็นกลุ่มที่มีช่องว่างของรายได้ที่มากที่สุดเช่นกัน โดยชาวอเมริกันเชื้อสายพม่า มีอัตราความยากจนสูงกว่าชาวเอเชียกลุ่มอื่น ๆ โดยเฉพาะชาวอเมริกันเชื้อสายญี่ปุ่น 

ยิ่งไปกว่านั้น มายาคติเรื่องชนกลุ่มน้อยดังกล่าว ยังถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อลดทอนคุณค่าของชุมชนคนผิวดำและชาวลาตินในสหรัฐฯ ขณะที่วงล้อมของชุมชนคนผิวดำเริ่มโตขึ้น พวกเขาก็ต้องเผชิญกับการเลือกปฏิบัติ การกดทับ และความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งจุดประกายคลื่นของการชุมนุมประท้วงเพื่อเรียกร้องสิทธิมนุษยชน ซึ่งแตกต่างจากบริบทของชาวเอเชียที่เป็นคนสุภาพ ทำงานหนัก และเป็น “ยาต้านพิษในอุดมคติ” ต่อการแพร่ขยายของชุมชนคนผิวดำ 

อย่างไรก็ตาม ทั้งชาวอเมริกันผิวดำและอเมริกันเชื้อสายเอเชียต่างก็มีประสบการณ์ร่วมกันเรื่องการกดขี่และใช้ความรุนแรงของคนผิวขาว โดยในปี 1982 วินเซนต์ ชิน ถูกรุมทำร้ายจนเสียชีวิตในเมืองดีทรอยต์ โดยชาวผิวขาว 2 คนที่คิดว่าชินเป็นคนญี่ปุ่น เช่นเดียวกับปี 2007 ในเมืองเดียวกัน ชลบุรี เซียง เด็กหนุ่มชาวม้งวัย 18 ปี ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจผิวขาวยิงกว่า 27 ครั้งจนเสียชีวิตในบ้านของตัวเอง และชุมชนชาวเอเชียในสหรัฐฯ ก็ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อความยุติธรรม ปี 1975 ปีเตอร์ ยิว วัย 27 ปี ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจในเมืองนิวยอร์ก รุมทำร้ายจนได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรง เหตุการณ์ในครั้งนั้นนำไปสู่การชุมนุมประท้วงของชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียที่ใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในสหรัฐฯ 

เปิดประวัติศาสตร์ความเกลียดกลัวชาวเอเชียในสหรัฐฯ ที่ปะทุอีกครั้งในช่วงโควิด-19

การเสียชีวิตของจอร์จ ฟลอยด์และการชุมนุมประท้วงเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ คือความท้าทายของชุมชนชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียที่จะได้ย้อนกลับไประลึกถึงประวัติศาสตร์ และตระหนักถึงปัญหามากมาย ทั้งเรื่องการต่อต้านคนผิวดำในชุมชน และรูปแบบชนกลุ่มน้อย การรื้อถอนความคิดที่ต่อต้านคนผิวดำในชุมชนชาวเอเชียเท่ากับ การเพิกเฉยต่อสิ่งที่ถูกสอนและตระหนักรู้ถึงปัญหาเรื่องเชื้อชาติที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของทุกคน ขณะเดียวกันก็เป็นการสร้างความรู้และความเข้าใจคนในครอบครัวที่อยู่ในชุมชน การรับฟังเสียงของคนผิวดำ และยืนหยัดต่อสู้เพื่อคนผิวดำในช่วงเวลาเช่นนี้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook