ชอบกักตัวเชิญทางนี้ "นาซา" ตามหาอาสาสมัคร “อยู่อย่างเดียวดาย” ทำภารกิจในอวกาศ

ชอบกักตัวเชิญทางนี้ "นาซา" ตามหาอาสาสมัคร “อยู่อย่างเดียวดาย” ทำภารกิจในอวกาศ

ชอบกักตัวเชิญทางนี้ "นาซา" ตามหาอาสาสมัคร “อยู่อย่างเดียวดาย” ทำภารกิจในอวกาศ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

องค์การนาซา กำลังประกาศหาอาสาสมัครที่ชอบการกักตัวอยู่คนเดียว เพื่อภารกิจสำคัญบนดวงจันทร์และดาวอังคารในอนาคต

เชื่อว่าหลายคนเริ่มจะเคยชินกับการอยู่ตัวคนเดียวช่วงการระบาดของโควิด-19 กันบ้างแล้ว และการปลีกวิเวกอยู่คนเดียวเปลี่ยวเอกาเช่นนี้ กำลังจะเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ เมื่อองค์การนาซา ประกาศรับสมัครบุคคลที่พร้อมจะอยู่คนเดียวเป็นเวลาถึง 8 เดือน เพื่อทำการทดลองสำคัญในภารกิจส่งมนุษย์ไปบนดวงจันทร์และดาวอังคารของนาซา

ทีมวิจัย Human Research Program ขององค์การนาซา ต้องการศึกษาการที่มนุษย์ต้องอยู่คนเดียวในอวกาศเป็นเวลานานๆ ว่าจะมีผลต่อร่างกายและจิตใจอย่างไร รวมทั้งค้นหาวิธีและเทคโนโลยีที่จะช่วยให้มนุษย์สามารถท่องอวกาศได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ปัจจุบัน นักบินอวกาศอเมริกัน ยังมีโอกาสใช้ชีวิตในอวกาศในสถานีอวกาศนานาชาติ หรือ ISS และภารกิจแต่ละครั้งจะกินเวลาประมาณ 2-3 เดือน นานที่สุดคือเกือบ 1 ปีเท่านั้น

นาซาได้ปลุกปั้นโครงการศึกษาวิจัยมนุษย์ เพื่อภารกิจท่องอวกาศที่ยิ่งใหญ่และยาวนานกว่านั้น ทั้งแผนรองรับโครงการ Artemis ในภารกิจส่งมนุษย์ไปยังดวงจันทร์ ภายในปี 2024 และแผนการตั้งฐานบนดวงจันทร์ในปี 2028 ซึ่งจำเป็นต้องใช้นักบินอวกาศที่สามารถใช้ชีวิตบนดาวดวงอื่นได้นานขึ้น เพื่อให้สามารถเดินหน้าทดลองต่อไป หรือสามารถทำภารกิจเดินทางไปดาวอังคารจากฐานที่มั่นบนดวงจันทร์ในอนาคตได้

สำหรับคุณสมบัติของอาสาสมัครที่จะได้รับคัดเลือก จะต้องมีอายุระหว่าง 30-55 ปี มีทักษะด้านภาษาอังกฤษและรัสเซียที่คล่องแคล่ว ต้องจบการศึกษาปริญญาตรี หรือผ่านการฝึกฝนด้านการทหาร หรือมีความเชี่ยวชาญทางสาขาอาชีพ อย่างใดอย่างหนึ่ง ต้องผ่านการทดสอบด้านสุขภาพกายและสุขภาพจิต และที่สำคัญต้องยินยอมพร้อมใจที่อยู่คนเดียวได้เป็นเวลา 8 เดือนถึง 1 ปีด้วย

แถลงการณ์ขององค์การนาซา ระบุว่า ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกทั้ง 6 คนจะต้องเผชิญกับสภาพแวดล้อมที่นักบินอวกาศเผชิญในภารกิจไปดาวอังคารเพื่อนำผลการศึกษาไปวิจัยต่อ

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2016 ที่รัฐฮาวาย มีการทดสอบ HI-SEAS ให้นักวิทยาศาสตร์ 6 คนอาศัยในโถงโดมที่สร้างขึ้นบนเกาะฮาวายเป็นเวลา 1 ปี เพื่อศึกษาผลกระทบต่อมนุษย์ในสภาวะแวดล้อมแบบปิด และมีการทดสอบลักษณะเดียวกันเมื่อปี 2010 ซึ่งภารกิจดังกล่าวทุกคนจะต้องอยู่อย่างโดดเดียวยาวนานถึง 520 วัน แต่ยังสามารถสื่อสารกับเพื่อนร่วมการทดสอบ สมาชิกครอบครัวและเพื่อนๆได้อยู่ แต่จะต้องทำเหมือนกับพวกเขาอาศัยอยู่ในอวกาศ

การศึกษาการอยู่อย่างโดดเดี่ยวนี้ นาซาร่วมมือกับสถาบัน Institute of Biomedical Problems ของรัสเซีย ซึ่งผู้ที่ได้รับคัดเลือกจะต้องไปประจำการอยู่ในศูนย์วิจัยในกรุงมอสโกของรัสเซีย และเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Analog Mission ในการศึกษาการรับมือของมนุษย์ต่อสภาพแวดล้อมในอวกาศ เพื่อสรรหาวิธีและเทคโนโลยีเพื่อให้มนุษย์รอดพ้นจากอันตรายในอวกาศหลายด้าน ทั้ง กัมมันตรังสีในอวกาศ สภาพไร้แรงโน้มถ่วง การปรับตัวในสภาพแวดล้อมแบบปิดและเลวร้ายในอวกาศ การอยู่ห่างไกลโลก และการอยู่อย่างโดดเดี่ยวในพื้นที่จำกัดก็เป็นส่วนหนึ่งที่ท้าทายของชีวิตในอวกาศด้วย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook