บทเรียนจากโรคโควิด-19: ถึงเวลายุติการล็อกดาวน์เสรีภาพในการแสดงออกทางออนไลน์
แอมเนสตี้เรียกร้องให้ทางการไทยลดการเอาผิดทางอาญาต่อความผิดฐานหมิ่นประมาท และทบทวนกฎหมายและการปฏิบัติของรัฐ เพื่อพิสูจน์ว่าสามารถทำตามพันธกิจที่ให้ไว้ต่อสังคม ซึ่งรวมถึงการส่งเสริมการแสดงความเห็นที่หลากหลาย ให้บุคคลสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลและการถกเถียงออนไลน์ได้โดยไม่กังวลต่อการถูกลงโทษ
ในขณะที่ประเทศทั่วโลกพยายามเพื่อปรับตัวให้เข้ากับมาตรการเพื่อรับมือการระบาดของโรคโควิด-19 พื้นที่ออนไลน์กลายเป็นช่องทางสำคัญของการแสดงออกและการมีส่วนร่วมทางสังคม ทั้งช่วยเชื่อมต่อคนไข้กับแพทย์ ครอบครัวและเพื่อนฝูง รวมถึงช่วยให้ทีมทำงานร่วมกันได้
นอกจากนั้น พื้นที่ออนไลน์ยังเป็นเครื่องมือจำเป็นที่ทดแทนความสัมพันธ์ทางกายภาพที่เป็นพื้นฐานของความเป็นอยู่และปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ยิ่งเมื่อมีมาตรการควบคุมการชุมนุมสาธารณะ พื้นที่ออนไลน์ยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นต่อการใช้สิทธิมนุษยชน
ในขณะที่รัฐบาลหลายประเทศเริ่มผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทางและเริ่มให้ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตเป็นปรกติอีกครั้ง รัฐบาลควรให้หลักประกันว่ากรอบกฎหมายเกี่ยวกับการสื่อสารออนไลน์ รวมถึงการแลกเปลี่ยนบนโซเชียลมีเดีย ก่อให้เกิดอินเตอร์เน็ตที่เคารพสิทธิดังที่สังคมต้องการ
ถือเป็นโอกาสดีที่รัฐบาลไทยสามารถแก้ไขประวัติที่ไม่ดีเกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงออกทางออนไลน์ของตน คนไทยที่ต้องการแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่ออภิปรายถึงปัญหาหรือถกเถียงในประเด็นต่างๆ ควรทำได้โดยไม่ต้องหวาดกลัวว่าจะถูกดำเนินคดี นักปกป้องสิทธิมนุษยชนต้องสามารถใช้พื้นที่ออนไลน์เพื่อปกป้องสิทธิของผู้ได้รับผลกระทบด้านต่างๆ จากการระบาดของโรคโควิด-19 รวมถึงปัญหาความเป็นอยู่และสุขภาพ
อย่างไรก็ดี ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา บรรยากาศของเสรีภาพในการแสดงออกทางออนไลน์ในไทยมีแต่ความหวาดกลัว นับแต่การทำรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 เจ้าหน้าที่ไม่มีพัฒนาการมากเพียงพอจนเชื่อได้ว่าคนไทยสามารถแสดงออกได้อย่างเสรี ดังที่เห็นได้จากวิธีการที่รัฐควบคุมการแสดงออกทางออนไลน์ในช่วงที่เกิดโรคระบาด
กฎหมายที่มีอยู่ยังคงถูกใช้โดยเจ้าหน้าที่รัฐและบริษัทเอกชน เพื่อจำกัดการใช้เสรีภาพในการแสดงออกอย่างไม่ได้สัดส่วนกันเท่าที่ควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฟ้องคดีหมิ่นประมาททางอาญาและความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ต่อนักกิจกรรมและบุคคลอื่นที่แสดงความคิดเห็นและข้อกังวลเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิ การฟ้องคดีเหล่านี้และการใช้กฎหมายที่ควบคุมสิทธิจนเกินขอบเขตรังแต่จะจำกัดการถกเถียงประเด็นที่เป็นข้อกังวลของสาธารณะ และส่งผลกระทบด้านลบต่อสิทธิการเข้าถึงข้อมูลและการแสดงออกของประชาชน
ทั้งนี้ สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกเป็นส่วนสำคัญในชีวิตของเราซึ่งควรจะมีกฎหมายคุ้มครอง ไม่ใช่ถูกปฏิเสธโดยพลการ มาตรการที่ขัดขวางการอภิปรายแลกเปลี่ยน รวมถึงการคุกคามบุคคลที่แสดงความเห็น และการดำเนินคดีโดยใช้อำนาจตามกฎหมายที่เขียนด้วยถ้อยคำกำกวม รวมทั้งการดำเนินคดีอาญาต่อการแสดงออกและการแลกเปลี่ยนความเห็น ย่อมส่งผลร้ายต่อสังคมที่จำเป็นต้องร่วมมือกันหาทางออก โดยเฉพาะในภาวะวิกฤติ
ปัจจุบันประเทศไทยมีโอกาสเปลี่ยนแปลงแนวทางที่ควบคุมจำกัดต่อเสรีภาพออนไลน์ให้สอดคล้องตามพันธกิจที่ประกาศไว้ เนื่องจากประเทศไทยได้จัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนที่มีลักษณะโดดเด่นในภูมิภาค ตามแผนการนี้ประเทศไทยจะทบทวน แก้ไขเพิ่มเติม หรือยกเลิกกฎหมายล้าหลัง รวมถึงสนับสนุนให้มีกลไกที่ช่วยคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนซึ่งถูกบริษัทเอกชนฟ้องดำเนินคดีเป็นจำนวนมากเนื่องมาจากความพยายามปกป้องสิทธิมนุษยชนผ่านพื้นที่ออนไลน์
ประเทศไทยมีแม่พิมพ์ของพันธกรณีที่จะต้องคุ้มครองสิทธิความเป็นส่วนตัวและสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ตามกฎบัตรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศหลายฉบับที่ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันรับรอง อีกทั้งที่ผ่านมายังได้แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 161/1 และ 165/2 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เพื่อยับยั้งการใช้กระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือฟ้องร้องนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในลักษณะคุกคาม
เห็นได้ว่าประเทศไทยจำเป็นต้องปฏิบัติตามพันธกิจอย่างเร่งด่วน เมื่อพิจารณาว่าบริษัทเอกชนหลายแห่งได้ฟ้องร้องคดีอาญาต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ในวันจันทร์ที่ 8 มิถุนายน 2563 ศาลอาญากรุงเทพใต้มีกำหนดอ่านคำพิพากษาในคดีที่มีการฟ้องนักกิจกรรม 2 คน อันเนื่องมาจากในปี 2561 ทั้งคู่ถูกฟ้องคดีหมิ่นประมาททางอาญาหลังแสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์เกี่ยวกับสภาพการทำงานในฟาร์มเลี้ยงไก่ไทย ซึ่งชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลล้มเหลวในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ขัดแย้งกับการแสดงพันธกิจตามแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ซึ่งให้สัญญาว่าจะคุ้มครองบุคคลที่ทำงานเพื่อปรับปรุงสภาพการทำงาน
ทั้งสองคนและอีกสิบกว่าคนตกเป็นเป้าหมายการฟ้องคดีหมิ่นประมาทของบริษัทฟาร์มไก่แห่งนี้ ซึ่งถือเป็นการฟ้องคดีปิดปากอย่างหนึ่ง การดำเนินงานของพวกเขา ทั้งการแสดงความเห็นออนไลน์เกี่ยวกับการปฏิบัติต่อคนงาน และการให้กำลังใจคนที่ถูกฟ้องคดี ไม่ควรถือเป็นอาชญากรรม การฟ้องคดีเหล่านี้ก่อให้เกิดบรรยากาศแห่งความหวาดกลัวต่อเสรีภาพในการแสดงออก และยับยั้งไม่ให้ผู้อื่นกล้าแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวเพราะกลัวจะถูกฟ้องคดี
การรับฟ้องคดีต่อพวกเขาเน้นย้ำให้เห็นว่าประเทศไทยยังถือว่าการหมิ่นประมาทมีความผิดทางอาญา แม้ว่าแนวโน้มทั่วโลกจะลดการเอาผิดทางอาญากับความผิดนี้ก็ตาม คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติกล่าวว่าการคุมขังบุคคลในคดีหมิ่นประมาทเป็นการลงโทษที่ทั้งไม่จำเป็นและไม่เหมาะสม และรัฐภาคีของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองควรยกเลิกการเอาผิดทางอาญากับข้อหาหมิ่นประมาท
ยิ่งใกล้ถึงช่วงผ่อนคลายมาตรการจำกัดโรคโควิด-19 ทางการไทยจึงควรวางแผนทำให้พันธกิจของตนเป็นความจริง ผ่านการรับประกันว่ากฎหมายและการบังคับใช้คุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออกทางออนไลน์อย่างมีประสิทธิภาพ และป้องกันการคุกคามนักกิจกรรมและบุคคลอื่นๆ ที่ต้องการใช้สิทธิของตน
รัฐบาลต้องดำเนินการเพื่อลดการเอาผิดทางอาญาต่อความผิดฐานหมิ่นประมาท และทบทวนกฎหมายและการปฏิบัติของรัฐ นี่ถือเป็นแนวทางเดียวที่รัฐบาลไทยจะสามารถพิสูจน์ได้ว่าสามารถทำตามพันธกิจที่ให้ไว้ต่อสังคม ซึ่งรวมถึงการส่งเสริมการแสดงความเห็นที่หลากหลาย ให้บุคคลสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลและการถกเถียงออนไลน์ได้โดยไม่กังวลต่อการถูกลงโทษ
บทความโดย แคทเธอรีน เกอร์สัน
เจ้าหน้าที่ฝ่ายรณรงค์ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล