‘Black Lives Matter’ การประท้วงปี 2020 ในสหรัฐฯ ที่แตกต่างไปจากในอดีต
ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ชาวอเมริกันหลายคนต่างพร้อมใจกันออกมาชุมนุมประท้วงเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้กับ “จอร์จ ฟลอยด์” ชายผิวดำชาวอเมริกัน วัย 46 ปี ที่เสียชีวิตจากการใช้ความรุนแรงของตำรวจ เช่นเดียวกับชาวอเมริกันผิขอดำคนอื่น ๆ ที่ต้องเสียชีวิตเพราะอคติทางเชื้อชาติและสีผิว ซึ่งเป็นปัญหาที่ฝังรากลึกอยู่ในสังคมอเมริกัน แม้ผู้ชุมนุมจะถูกโจมตีจากฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทั้งการยิงแก๊สน้ำตาและการจับกุมผู้ที่ออกมาร่วมชุมนุม ขณะเดียวกันก็ต้องระมัดระวังเชื้อไวรัสโคโรนา ซึ่งยังแพร่ระบาดไปทั่วสหรัฐฯ แต่การชุมนุมประท้วงในครั้งนี้ ก็มุ่งมั่นที่จะหยุดยั้งการเหยียดเชื้อชาติ การใช้ความรุนแรงของตำรวจ รวมถึงทัศนคติและนโยบายต่าง ๆ ที่ส่งผลให้เกิดปัญหาเรื่องเชื้อชาติ
แม้ว่าการชุมนุมประท้วงเพื่อเรียกร้องสิทธิและความเท่าเทียมให้กับคนผิวดำในอเมริกาจะเกิดขึ้นหลายต่อหลายครั้ง แต่ผลลัพธ์ของการชุมนุมและการเปลี่ยนแปลง ก็คงอยู่เพียงช่วงเวลาสั้น ๆ เท่านั้น ขณะที่การกำจัดการเหยียดเชื้อชาติอย่างเป็นระบบกลับกลายเป็นนโยบายระยะยาว แม้ว่าจะเป็นนโยบายที่ทุกฝ่ายเห็นชอบ แต่การใช้ความรุนแรงต่อคนผิวดำก็ยังเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เช่น กรณีการเสียชีวิตของฟลอยด์ ซึ่งถือเป็นเหตุการณ์ที่จุดประกายการต่อสู้ของคนผิวดำขึ้นมาอีกครั้ง ตามมาด้วยกรณีของบรีออนา เทย์เลอร์ ที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจยิงเสียชีวิตในบ้านของเธอเอง รวมถึงการเสียชีวิตของชอน รี้ด, โทนี แมคเดด และอาห์มูด อาร์เบอรี เป็นต้น
ไม่เพียงแต่การใช้ความรุนแรงของตำรวจที่ทำให้คนผิวดำลุกขึ้นมาสู้ในครั้งนี้ แต่ยังมีปัจจัยของโรคโควิด-19 ที่คนผิวดำและคนลาตินซึ่งเป็นคนจน มีอัตราการติดเชื้อและเสียชีวิตมากกว่าคนกลุ่มอื่นในประเทศ โดยเกิดจากผลพวงของภาวะทางเศรษฐกิจ สภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัย และการเลือกปฏิบัติที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของพวกเขา ยิ่งไปกว่านั้น ความไม่เท่าเทียมเรื่องการศึกษา การขนส่ง และโอกาสในการเข้าถึงการช่วยเหลือ ก็ทำให้คนผิวดำและคนลาตินในสหรัฐฯ ต้องเผชิญหน้ากับความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่สูงมากในสังคมอเมริกัน
ข้อเท็จจริงเรื่องโรคภัย ภาวะตกงาน สิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษ ความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงการศึกษา และการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือคนผิวขาว ส่งผลให้คนผิวดำหลายคนรู้สึกเหลืออดกับความเป็นไปในสังคม พวกเขาต้องการแสดงออกถึงความโกรธแค้น ขณะเดียวกัน พวกเขาก็ไม่ต้องการใช้ชีวิตอย่างยากลำบากเช่นนี้อีกต่อไป จึงนำไปสู่การลุกขึ้นมาต่อสู้อีกครั้ง โดยหัวใจหลักของการต่อสู้ในครั้งนี้ คือ ความหวาดกลัวของชาวอเมริกันผิวดำ หรือความรู้สึกที่ว่าพวกเขาจะโดนฆ่าได้ทุกที่และทุกเวลา โดยเฉพาะจากผู้ใช้กฎหมาย ซึ่งนั่นเป็นความรู้สึกที่อยู่คู่กับชาวอเมริกันผิวดำมาเป็นเวลานาน และส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น ก่อเกิดเป็นความขุ่นมัวในจิตใจที่ค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงเป็นความโกรธแค้น และปะทุออกมาในเหตุการณ์การเสียชีวิตของฟลอยด์
ชาวอเมริกันตัดสินใจออกจากบ้านในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพื่อแสดงออกถึงความโกรธแค้น เพื่อแสดงออกท่าทีที่พวกเขารู้สึกว่าถูกต้องและสมควร นั่นคือการโห่ร้อง การเดินขบวน ทำลายสิ่งที่กีดขวางพวกเขา รวมทั้งการขีดเขียนบนกำแพง สร้างงานศิลปะ ปีนขึ้นไปบนรถ ทุบประจก และจุดไฟเผา ซึ่งการประท้วงในครั้งนี้ได้สร้างแรงขับเคลื่อนแบบใหม่ ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างแท้จริง
การชุมนุมประท้วงในครั้งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นอยู่แค่ตามหัวเมืองใหญ่เท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นในเมืองเล็ก ๆ ทั่วสหรัฐอเมริกา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อย้ำเตือนว่า การเหยียดเชื้อชาติที่เป็นระบบและถูกทำให้เป็นนโยบาย ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อเมืองที่พวกเขาอยู่อาศัย และชาวอเมริกันผิวดำเท่านั้น แต่ยังแสดงให้เห็นความผิดปกติของสังคมอเมริกัน ซึ่งนั่นคือสิ่งที่ต้องเปลี่ยนแปลง และชาวอเมริกันก็ต้องการเห็นอะไรใหม่ ๆ ที่จะทำให้สังคมของพวกเขาดีขึ้น
แม้จะมีการชุมนุมประท้วงการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ตำรวจต่อชาวอเมริกันผิวดำหลายครั้งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เช่น การประท้วงในปี 2017 ต่อการเสียชีวิตของแอนโธนี ลามาร์ สมิธ เกิดเป็นการขับเคลื่อน Black Lives Matter ที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายของกรมตำรวจ ทว่า ชาวอเมริกันผิวดำก็ยังเสียชีวิตด้วยน้ำมือของเจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่เช่นเดิม ซึ่งจากการสำรวจของมหาวิทยาลัยวอชิงตัน มหาวิทยาลัยรัทเจอร์ส และมหาวิทยาลัยมิชิแกน พบว่า ชายผิวดำมีโอกาสมากกว่า 1 ใน 1,000 ที่จะถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจยิงเสียชีวิต
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการชุมนุมประท้วงในครั้งนี้เกิดความรุนแรงขึ้นในหลายพื้นที่ ซึ่งก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้าง ซึ่งเมื่อเกิดความรุนแรงขณะที่ชุมนุมประท้วง เจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งได้รับคำสั่งให้มายับยั้งสถานการณ์ก็มีแนวโน้มที่จะใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุม และการกระทำเช่นนั้น ก็ยิ่งทำให้ผู้ชุมนุมประท้วงรู้สึกโกรธแค้นมากขึ้นไปอีก
อย่างไรก็ตาม แม้ยังไม่มีใครคาดการณ์ได้ว่าการชุมนุมประท้วงจะสิ้นสุดลงเมื่อใด แต่ช่วงเวลานี้ก็เป็นช่วงเวลาที่สำคัญของการต่อสู้เพื่อหยุดยั้งความรุนแรงที่ดำเนินต่อ ๆ กันมาอย่างยาวนาน เราคงต้องรอดูว่าการเรียกร้องในครั้งนี้จะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้จริงหรือไม่