“คนข้ามเพศผิวดำ” ลุกฮือประท้วงการใช้ความรุนแรงของตำรวจต่อกลุ่ม LGBTQ+

“คนข้ามเพศผิวดำ” ลุกฮือประท้วงการใช้ความรุนแรงของตำรวจต่อกลุ่ม LGBTQ+

“คนข้ามเพศผิวดำ” ลุกฮือประท้วงการใช้ความรุนแรงของตำรวจต่อกลุ่ม LGBTQ+
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

การชุมนุมประท้วงเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้กับ “จอร์จ ฟลอยด์” ชายผิวดำชาวอเมริกัน ที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจผิวขาวใช้ความรุนแรงขณะจับกุม เป็นเหตุให้ฟลอยด์เสียชีวิต ดำเนินไปอย่างไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุดในหลายเมืองทั่วสหรัฐฯ และในหลายประเทศทั่วโลก เช่นเดียวกับกลุ่มผู้ชุมนุมมากกว่า 100 คน ที่มารวมตัวกันหน้าสโตนวอลล์ อินน์ ในกรุงนิวยอร์ก เมื่อวันอังคาร ที่ 2 มิถุนายน ที่ผ่านมา และตะโกนร้องชื่อ “โทนี แมคเดด” ชายผิวดำอีกคนหนึ่งที่เสียชีวิตด้วยน้ำมือของเจ้าหน้าที่ตำรวจ

โทนี แมคเดด ชายข้ามเพศผิวดำ วัย 38 ปี ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจยิงเสียชีวิตในเมืองแทลลาแฮสซี รัฐฟลอริดา ในวันที่ 27 พฤษภาคม 2 วันหลังจากที่เจ้าหน้าที่ตำรวจในเมืองมินนิอาโปลิส ใช้หัวเข่าทับบนลำคอของฟลอยด์ เป็นเวลากว่า 8 นาที จนเขาขาดอากาศหายใจและเสียชีวิต อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ตำรวจในเมืองแทลลาแฮสซีอ้างว่า แมคเดดตกเป็นผู้ต้องสงสัยในคดีทำร้ายร่างกาย ขณะที่เขามีอาวุธอยู่ในมือ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องตัดสินใจยิงเขา

การเสียชีวิตของแมคเดดไม่ได้รับความสนใจมากนัก ในช่วงการประท้วงหลังการเสียชีวิตของฟลอยด์ โดยมีการประท้วงในรัฐฟลอริดาเท่านั้น ขณะที่คณะทำงานเพื่อสิทธิและความเท่าเทียมของกลุ่ม LGBTQ+ เช่น Human Rights Campaign และ National Black Justice Coalition ได้ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับการเสียชีวิตของแมคเดด อย่างไรก็ตาม กลุ่มนักกิจกรรมเพื่อสิทธิมนุษยชนข้ามเพศ ก็ได้รวมกลุ่มกันเพื่อเดินประท้วงในกรุงนิวยอร์ก ระหว่างช่วง Pride Month เพื่อเรียกร้องให้เกิดการสอบสวนเหตุการณ์ดังกล่าว รวมทั้งสร้างความตระหนักต่อเรื่องการใช้ความรุนแรงกับกลุ่มคนข้ามเพศผิวดำ

เรามีโลกที่แตกต่างกัน 2 ใบ เราเบื่อหน่ายกับการถูกฆ่า เราก็เหน็ดเหนื่อยกับการบังคับใช้กฎหมายที่พยายามเข่นฆ่าเรา” ทีเอส แคนดี หญิงข้ามเพศวัย 26 ปี กล่าว

จากข้อมูลของ Human Rights Campaign ระบุว่า การเสียชีวิตของแมคเดด ถือเป็นการฆาตกรรมคนข้ามเพศ หรือคนที่ปฏิเสธบรรทัดฐานทางเพศของสังคม รายที่ 12 ของปี 2020 โดยในช่วงเดือนที่ผ่านมา มีคนข้ามเพศเสียชีวิตถึง 3 ราย และหนึ่งในนั้นก็เป็นฝีมือของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ยิ่งไปกว่านั้น หญิงข้ามเพศผิวดำมักเสียชีวิตจากความรุนแรง และอัตราการจับกุมผู้ก่อเหตุก็มักจะต่ำกว่าประชากรกลุ่มอื่น ๆ

ถึงแม้ว่าการเสียชีวิตของหญิงข้ามเพศส่วนใหญ่ ไม่ได้เกิดจากการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่คนข้ามเพศต่างเคยเผชิญหน้ากับการคุกคามของเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยหนึ่งในสามของหญิงข้ามเพศที่มีปฏิสัมพันธ์กับตำรวจถูกมองว่าเป็นพนักงานบริการทางเพศ และกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของหญิงข้ามเพศที่เจ้าหน้าที่ตำรวจระบุว่าพวกเธอเป็นหญิงให้บริการรายงานว่า พวกเธอถูกคุกคามทั้งทางคำพูด ร่างกาย และถูกล่วงละเมิดทางเพศ

การชุมนุมประท้วงของกลุ่มคนข้ามเพศในครั้งนี้ ก็เพื่อเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจหยุดใช้ความรุนแรงกับกลุ่มคนผิวดำ โดยมีการกล่าวสุนทรพจน์และอ่านรายชื่อคนข้ามเพศผิวดำที่ถูกทำร้ายจนเสียชีวิต บริเวณด้านนอกสโตนวอลล์ อินน์ สถานที่เกิดจลาจลต่อต้านเจ้าหน้าที่ตำรวจของกลุ่ม LGBTQ+ ในปี 1969 ส่งผลให้เกิดการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิและเสรีภาพของกลุ่ม LGBTQ+ มาจนถึงปัจจุบัน

แม้ผู้ชุมนุมจะพยายมประท้วงอย่างสงบ แต่ก็มีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้น ในขณะที่ผู้ประท้วงเดินทางมาถึงยูเนียน สแควร์ ก็มีชายผิวขาวคนหนึ่งตะโกนด่าทอผู้ประท้วง สร้างความไม่พอใจและนำไปสู่การจลาจลที่ยากจะควบคุม

“เขาพยายามสร้างความวุ่นวาย และมันก็ทำให้ฉันหงุดหงิด เพราะฉันพยายามที่จะให้การประท้วงเป็นไปอย่างถูกต้อง เราไม่ต้องการให้การประท้วงของเรากลายเป็นความรุนแรงเหมือนที่เห็นในโทรทัศน์ เราไม่ได้พยายามจะก่อจลาจล เราไม่ได้จะเผาตึกรามบ้านช่อง เราแค่ต้องการให้ทุกคนได้ยินเสียงของเรา และเราต้องการให้ทุกคนเคารพเรา เราอยากมีตัวตนอยู่ในสังคมนี้บ้าง” เฟอร์มิน หญิงข้ามเพศวัย 38 ปี กล่าว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook