ผู้เชี่ยวชาญติง ส.ส.เดโมแครต สวมผ้าลายแอฟริกันประท้วง เป็น “พร็อพ” ทางการเมือง

ผู้เชี่ยวชาญติง ส.ส.เดโมแครต สวมผ้าลายแอฟริกันประท้วง เป็น “พร็อพ” ทางการเมือง

ผู้เชี่ยวชาญติง ส.ส.เดโมแครต สวมผ้าลายแอฟริกันประท้วง เป็น “พร็อพ” ทางการเมือง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคเดโมแครตของสหรัฐอเมริกา รวมทั้งแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎร และชัค ชูเมอร์ วุฒิสมาชิกและผู้นำเสียงข้างน้อยในวุฒิสภา พร้อมใจกันสวมผ้าพันคอที่ทำจากผ้าเคนเท (Kente) ซึ่งเป็นผ้าพื้นเมืองของแอฟริกา และคุกเข่าเป็นเวลา 8 นาที 46 วินาที ใน Emancipation Hall ของอาคารรัฐสภา เพื่อไว้อาลัยแก่ “จอร์จ ฟลอยด์” ชายผิวดำที่เสียชีวิตจากการถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้เข่ากดที่คอขณะจับกุมตัว แม้จะเป็นภาพที่สวยงาม แต่กลับถูกวิพากษ์วิจารณ์จากผู้เชี่ยวชาญ เนื่องจากหลายคนมองว่าเป็นการดึงผ้าพื้นเมืองของแอฟริกาไปเป็น “ของประกอบฉากทางการเมือง”

เจด เบนทิล นักวิจัยเชื้อสายกานา-ไนจีเรีย จากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด มองว่าการเคลื่อนไหวของนักการเมืองเหล่านี้เป็นเพียงการแสดง โดยระบุผ่านทวิตเตอร์ว่า บรรพบุรุษของเขาไม่ได้สร้างผ้าเคนเทขึ้นมาเพื่อให้นักการเมืองมาใช้แสดงออกทางการเมืองในปี 2020

ความเห็นของเบนทิลได้รับการสนับสนุนจากผู้เชี่ยวชาญด้านวารสารศาสตร์และวงการบันเทิงหลายคน ซึ่งระบุว่าการแสดงออกของ ส.ส. เหล่านี้ เป็นเพียงการใช้ผ้าดังกล่าวมาประกอบการเมือง บางคนเปรียบเทียบการเคลื่อนไหวนี้กับภาพของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ถือคัมภีร์ไบเบิลสร้างภาพเมื่อสัปดาห์ก่อน ขณะที่บางคนมองว่าพวกเขาควรผ่านกฎหมายบางข้อ แทนที่จะแต่งตัวเช่นนี้

อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวของเหล่า ส.ส. ครั้งนี้ ก็ได้รับการสนับสนุนจากนักกิจกรรมด้านสิทธิพลเมือง ที่ระบุว่า คนอื่นๆ ควรโฟกัสที่กฎหมายปฏิรูปตำรวจที่ ส.ส. เหล่านี้กำลังผลักดันมากกว่า ส่วนเอพริล เรน ผู้ก่อตั้งแฮชแท็ก #OscarsSoWhite ก็ทวีตว่า การเคลื่อนไหวนี้เป็นการแสดงความเป็นหนึ่ง และหวังว่าประชาชนจะไม่มองข้ามการผลักดันกฎหมายปฏิรูปตำรวจ หรือที่เรียกว่า "Justice in Policing Act of 2020" ที่พรรคเดโมแครตได้เสนอไปเมื่อวานนี้

จากข้อมูลของสมาคมประวัติศาสตร์ความคิดของชาวแอฟริกันอเมริกัน ความเป็นมาของผ้าเคนเท เชื่อกันว่าสร้างขึ้นในช่วง 1000 ปี ก่อนคริสตกาล โดยชนเผ่าอาคันและเอเว ทางตะวันตกของทวีปแอฟริกา ซึ่งปัจจุบันคือประเทศกานาและโตโก สีที่ใช้บนผืนผ้าจะมีความหมายพิเศษ เช่น สีทองหมายถึงสถานภาพหรือความสงบเยือกเย็น สีเขียวหมายถึงการเริ่มต้นใหม่ สีน้ำเงินหมายถึงจิตวิญญาณอันบริสุทธิ์หรือความสมดุล สีแดงหมายถึงความหลงใหล และสีดำหมายถึงความเป็นหนึ่งเดียวกับความตระหนักรู้ทางจิตวิญญาณหรือบรรพบุรุษ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook