“เสียงแห่งความกลัว” ประวัติศาสตร์การใช้เสียงเป็นอาวุธทางการทหาร

“เสียงแห่งความกลัว” ประวัติศาสตร์การใช้เสียงเป็นอาวุธทางการทหาร

“เสียงแห่งความกลัว” ประวัติศาสตร์การใช้เสียงเป็นอาวุธทางการทหาร
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เสียงถูกใช้สร้างอำนาจและควบคุมมนุษย์ในทุกช่วงเวลาของประวัติศาสตร์ และทุกวันนี้ เทคนิคการใช้เสียงสุดไฮเทค เพลย์ลิสต์เพลง “สุดขั้ว” ตั้งแต่เพลงประกอบรายการเด็กไปจนถึงเพลงเมทัลสุดดาร์ก ถูกนำมาใช้เป็นอาวุธสำหรับการทรมานและการจารกรรม ว่ากันว่า “การมองเห็นทำให้เราเชื่อ” โดยดวงตาของมนุษย์จะทำหน้าที่สำคัญในการมีส่วนร่วมกับสังคม แต่ก็มีความสงสัยที่เกี่ยวข้องกับการได้ยิน ที่อาจเป็นส่วนหนึ่งที่นำทางมนุษย์ และทำให้มนุษย์เข้าใจสิ่งแวดล้อม

ในทางประวัติศาสตร์แล้ว ใบหูทำหน้าที่ป้องกัน “สิ่ง” ที่กองไฟไม่สามารถส่องถึง รวมถึงสิ่งที่อยู่ด้านหลังที่ดวงตาไม่อาจมองเห็นได้ เสียงมีความสามารถในการทำให้หลอน ตกใจ และหวาดกลัว อาจกล่าวได้ว่า “เสียง” สามารถเข้าไปมีอิทธิพลต่อจิตใจส่วนลึกของมนุษย์ได้ เสียงที่ได้ยินแต่ไม่สามารถหาที่มาของเสียงได้ เรียกว่า “acousmatic” วิธีการที่มนุษย์ใช้จัดการกับเสียงลักษณะนี้ คือการสร้างเรื่องเล่าหรือตำนานขึ้นมา ดังเช่น ในตำนานของชาวญี่ปุ่นเรื่อง Yanari หรือเสียงของบ้านที่สั่นไหวเมื่อเกิดภัยแผ่นดินไหวขึ้น หรือในตำนานของชาวนอร์ส ที่เชื่อมโยงเสียงฟ้าร้องกับเทพเจ้าธอร์ 

เสียงส่งผลต่อความรู้สึกอย่างรุนแรง จึงเป็นสาเหตุที่เสียงถูกใช้เป็นเครื่องมือในการใช้อำนาจและการควบคุม ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา การใช้เสียงเป็นอาวุธมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ตั้งแต่เครื่องส่งคลื่นความถี่สูง ที่ใช้เพื่อไล่กลุ่มผู้ชุมนุมประท้วง โดรนทหารที่สร้างคลื่นความกลัวให้กับคนที่อยู่ข้างใต้ ไปจนถึงการเปิดเพลงวนซ้ำ ๆ ในคุกกวนตานาโม ซึ่งเป็นข้อพิสูจน์ที่ว่า มนุษย์กำลังเดินทางมาถึงยุคของการใช้เสียงเป็นเครื่องมือในการสร้างความหวาดกลัว 

ในเชิงจิตวิทยาแล้ว โซนิก เอฟเฟกต์ (Sonic affect) ถูกสร้างขึ้นผ่านเสียงที่แตกต่างกัน โดยระดับเสียง ระยะเวลา และวัตถุที่ทำให้เกิดเสียงล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อมนุษย์ทั้งสิ้น เมื่อวิเคราะห์ผลกระทบของเสียงต่อสรีรวิทยา ความถี่และระดับของเสียง คือ 2 ปัจจัยที่สำคัญ โดยเสียงที่มนุษย์รู้สึกอยู่ภายในร่างกายมักเป็นเสียงที่มีความถี่ต่ำ หรือ Infrasound ซึ่งเป็นเสียงความถี่ต่ำที่มนุษย์ไม่สามารถได้ยินได้ แต่ก็ยังส่งผลให้เกิดความกระวนกระวายของร่างกายโดยที่มนุษย์ไม่รู้ตัว ดังนั้น การผสมผสานการทำงานของหูและร่างกาย จิตวิทยาและสรีรวิทยา ล้วนแล้วแต่ทำให้เสียงกลายเป็นอาวุธได้ 

ศึกเจริโค ที่ถูกบันทึกไว้ในคัมภีร์ไบเบิล เป็นจุดเริ่มต้นของการใช้ “เสียง” เป็นอาวุธ โดยกองทัพของโจชัวสามารถพังกำแพงของเมืองโจริโคได้ ด้วยเสียงของทรัมเป็ต แม้จะไม่มีการยืนยันทางด้านประวัติศาสตร์ แต่ก็ชี้ให้เห็นถึงจิตวิทยาและสรีรวิทยาที่ได้รับผลกระทบจากเสียง โดยระดับของเสียงที่ดังมาก ๆ ก็ส่งผลกระทบต่อวัตถุได้ ขณะที่เสียงก็ทำให้รู้สึกเหนื่อยล้าได้ เช่น มลพิษทางเสียง เป็นต้น ยิ่งไปกว่านั้น เสียงของเครื่องเป่าที่ดังต่อเนื่องก็เป็นสัญญาณของการโจมตีได้ทุกเมื่อ นั่นคือการข่มขู่ด้วยเสียงที่กลายมาเป็นเครื่องมือสร้างความกลัว 

อาวุธสร้างเสียงที่น่ากลัวมากที่สุดในอดีตที่มีการค้นพบ คือ นกหวีดแห่งความตายของชาวแอชเท็ก หรือ Aztec Death Whistle ภาชนะดินเผา รูปร่างคล้ายหัวกะโหลก ซึ่งเป็นเครื่องเป่าของชนเผ่าในเม็กซิโก ยุคก่อนการค้นพบของโคลัมบัส ที่ให้เสียง “คล้ายกับศพกรีดร้อง” เมื่อกองทัพเดินเท้ามาพร้อมกับเสียงกรีดร้องของศพ ก็คงสร้างความหวาดกลัวให้กับฝ่ายตรงข้ามอย่างแน่นอน 

หนึ่งในผลงานการใช้เสียงเพื่อสร้างความกลัวที่ถูกพูดถึงมากที่สุดในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 คือ Stuka Ju-87 ของฝ่ายเยอรมัน ซึ่งเป็นเครื่องบินทิ้งระเบิดที่มีไซเรนขนาด 70 เซนติเมตร และกลายเป็นเครื่องมือสร้างความกลัวที่ใช้ได้ผลมากที่สุด ต่อมาจึงกลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับเครื่องบิน V1 Flying Bomb หรือที่รู้จักกันในชื่อ “Buzzbomb” ซึ่งพลังโซนิกของมันทำให้มันเป็นที่รู้จักว่าเป็นเครื่องมือสร้างความหวาดกลัวทางจิตใจ หรือเป็นเครื่องมือทำลายล้างแห่งสงคราม 

หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง การพัฒนาเครื่องบินซูเปอร์โซนิกก็ยังไม่หยุดยั้ง และกลายเป็นโซนิกบูม (sonic boom) ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อเครื่องบินบินที่ความเร็ว 1,236 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในอากาศที่แห้งและอุณหภูมิ 20 องศาเซลเซียส โดยในปี 1964 รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ทดลองโซนิกบูม ในเมืองโอกลาโฮมา ซึ่งเสียงที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของชาวเมืองอย่างมาก หลังจากนั้น สหรัฐฯ ได้ใช้โซนิกบูมสู้กับประเทศนิคารากัว เพื่อก่อกวนรัฐบาลซานตินิสตา 

ในช่วงสงครามเวียดนาม กองกำลังสหรัฐฯ ก็ได้เปิดเพลงที่เป็นที่รู้จักกันในชื่อ “Ghost Tape Number 10” เพื่อสู้กับกลุ่มทหารแนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติเวียดนามใต้ การปฏิบัติการทางจิตวิทยาในลักษณะนี้ ใช้ประโยชน์จากความเชื่อของชาวเวียดนามเรื่องวิญญาณของบรรพบุรุษที่ยังวนเวียนอยู่รอบ ๆ เสียงและดนตรีที่น่ากลัวมีจุดประสงค์เพื่อสร้างความหวาดกลัวและหลอกหลอนทหารเวียดนาม เพื่อให้พวกเขาละทิ้งฐานทัพไป 

การใช้ยานพาหนะทางอากาศไร้คนขับ หรือโดรนของกองทัพเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งทำให้การสร้างความกลัวด้วยเสียงโซนิกเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย ซึ่งเสียงของมันจะคล้ายกับเสียงผึ้ง ซึ่งทำให้คนที่อยู่ข้างใต้โดรนรู้สึกไม่สบายใจและหวาดกลัวได้ ดังเช่น ในปี 2012 ปฏิบัติการ Pillar of Defence ของกองกำลังป้องกันอิสราเอลในฉนวนกาซา ก็ได้ใช้โดรนส่งเสียงโซนิกที่สร้างความหวาดกลัวและความไม่สบายใจเมื่อได้ยินเสียงหึ่ง ๆ อยู่ด้านบนศีรษะ ซึ่งเป็นข้อพิสูจน์ถึงการเป็นอาวุธใช้เสียงที่ทรงอำนาจ

ไม่ใช่แค่ในสนามรบเท่านั้น เครื่องส่งคลื่นความถี่สูง (LRAD) ยังถูกนำมาใช้ในด้านอื่น ๆ ด้วย เช่น การประท้วง G20 ในเมืองพิตต์สเบิร์ก LRAD ถูกนำมาใช้เพื่อระงับกลุ่มผู้ชุมนุม เช่นเดียวกับในออสเตรเลีย ที่มีการนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้เช่นกัน แต่ใช้ในสถานการณ์ภัยพิบัติหรือการล้อมโจมตีเท่านั้น 

นอกจากนี้ “เพลง” ยังเป็นอีกหนึ่งอาวุธที่ทรงพลัง ที่ถูกใช้ “ควบคุม” นักโทษ เพลงที่จะใช้สร้างความกลัวได้ต้องมีระดับเสียงที่เสมอกัน สุนทรียะ และท่อนร้องซ้ำ ในประเทศกรีซ ระหว่างปี 1967 ถึง 1974 สารวัตรทหารที่เรียกว่า Special Interrogation Unit จะเปิดเพลงเสียงดังเป็นเวลานาน และนักโทษจะถูกบังคับให้ร้องเพลงตามซ้ำแล้วซ้ำเล่า เช่นเดียวกับในไอร์แลนด์เหนือ ในช่วงทศวรรษที่ 1970s มีห้อง Music Room ที่ใช้ควบคุมนักโทษ ขณะที่ด้านนอก ก็มีการใช้เครื่องมือที่เรียกว่า Curdler เพื่อทรมานนักโทษ ด้วยการเปิดเสียงที่ดังในระดับความถี่ที่อ่อนไหวต่อมนุษย์ 

ในปี 1989 รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ใช้ Operation Nifty Package เพื่อจับกุมตัว Manuel Noriega ผู้นำเผด็จการชาวปานามาที่หลบซ่อนตัวอยู่ในสำนักงานเอกอัครสมณทูตในกรุงปานามา หลังจากเปิดเพลงร็อกและเฮฟวี่เมทัลเสียงดัง รวมถึงเพลงของวง Styx และ Black Sabbath เป็นเวลานาน Noriega ก็ถูกส่งตัวออกมา 

แต่เหตุการณ์ที่โด่งดังของการใช้เสียงโซนิก เกิดขึ้นในปี 1993 เมื่อสาวกนิกายเดวิเดียนส์ ในเมืองวาโก รัฐเท็กซัส ถูกทางการรัฐตั้งข้อหาว่าสะสมอาวุธร้ายแรง ทางการจึงเปิดเพลง “These Boots Are Made For Walkin” ของ Nancy Sinatra เปิดบทสวดมนต์ของทิเบต เสียงของกระต่ายที่โดนล่า และเพลงวันคริสต์มาส ขณะที่ David Koresh ผู้นำนิกายก็เปิดเพลงของตัวเองมาสู้ กระทั่งถูกตัดไฟ  อย่างไรก็ตาม ระบบเสียงที่ใช้ระหว่างการปฏิบัติวาโกทำให้เจ้าหน้าที่ที่ออกปฏิบัติการต้องใช้ที่ปิดหูเพื่อกันเสียงและผลกระทบจากเพลงของตัวเอง 

การเลือกเพลงก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญ โดยเพลง “Fuck Your God” ของวงเมทัล Deicide มักถูกนำมาใช้บ่อยครั้ง เช่นเดียวกันเพลงฮิปฮอป แต่เพลงป็อปอย่างเพลงของบริตนีย์ สเปียร์ ก็ถูกนำมาใช้บ่อยเช่นกัน เช่นเดียวกับเพลง I Love you จากการ์ตูนเรื่อง Barney and Friends 

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการใช้เพลงเป็นเครื่องมือในการสร้างความขัดแย้งและความหวาดกลัวจะยังคงดำเนินต่อไป ความสามารถของเสียงที่สามารถใช้เป็นอาวุธยังอยู่ในจุดเริ่มต้น อย่างไรก็ตาม อาวุธชนิดนี้จะไม่ทิ้งบาดแผลที่มองเห็นได้ จึงเป็นอาวุธที่เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่ต้องการทิ้งร่องรอยเอาไว้เบื้องหลัง 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook