นักวิจัยเผย “การล็อกดาวน์ช่วงโควิด-19” เซฟหลายล้านชีวิตทั่วโลก
งานวิจัย 2 ชิ้นใหม่ที่ได้รับการตีพิมพ์ในนิตยสาร Nature ระบุว่า การล็อกดาวน์ช่วงโควิด-19 เพื่อช่วยลดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา สามารถป้องกันการติดเชื้อทั่วโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพและช่วยชีวิตประชาชนหลายล้านคนทั่วโลกให้รอดพ้นจากการติดโรคโควิด-19
“งานวิจัยของเราแสดงให้เห็นว่า การล็อกดาวน์ช่วยทำให้อัตราการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ลดลงอย่างมาก” Samir Bhatt อาจารย์ประจำภาควิชาสาธารณสุขศาสตร์ อิมพีเรียลคอลเลจลอนดอน และเป็นเจ้าของงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ใน Nature กล่าว
ทีมของอาจารย์ Bhatt ทำการวิเคราะห์อัตราการติดเชื้อและเสียชีวิตใน 11 ประเทศในทวีปยุโรป ซึ่งค้นพบว่า ประชาชนกว่า 3.1 ล้านคนในแต่ละประเทศอาจเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 หากไม่มีการประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์ ซึ่งอาจารย์ Bhatt ชี้ว่า หากไม่มีมาตรการดังกล่าว ยอดผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตจะมีสูงมาก
นอกจากงานวิจัยของอาจารย์ Bhatt แล้ว นิตยสาร Nature ยังได้ตีพิมพ์งานวิจัยอีก 1 ชิ้นจาก Global Policy Lab มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ ซึ่งทำการวิเคราะห์การล็อกดาวน์ของประเทศจีน เกาหลีใต้ อิหร่าน ฝรั่งเศส อิตาลี และสหรัฐอเมริกา ซึ่งผลการวิเคราะห์พบว่า การล็อกดาวน์ใน 6 ประเทศดังกล่าว ช่วยลดการติดโรคโควิด-19 ได้มากกว่า 62 ล้านราย ยกตัวอย่างเช่น ในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนเมษายน สหรัฐฯ มียอดผู้ติดเชื้ออยู่ที่ 360,000 ราย ซึ่งหากไม่มีการประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์ นักวิจัยได้คาดการณ์ว่า สหรัฐฯ จะมีผู้ติดเชื้อมากกว่า 14 เท่าของจำนวนผู้ติดเชื้อ หรือคิดเป็น 5 ล้านรายทั่วประเทศ
Solomon Hsiang ผู้อำนวยการ Global Policy Lab ชี้ว่า คำสั่งล็อกดาวน์ต้องแลกมาด้วยเศรษฐกิจที่หดตัวลง แต่รัฐบาลในหลาย ๆ ประเทศก็ยังประกาศใช้คำสั่งดังกล่าว และได้ผลลัพธ์ออกมาเป็นที่น่าพึงพอใจ
“คุณค่าของการศึกษาที่คุณเห็นอยู่ในทุกวันนี้ คือชี้ให้เห็นว่านโยบายที่ถูกประกาศใช้มีประโยชน์กับประชาชน โดยนโยบายเหล่านี้ช่วยรักษาชีวิตของคนหลายสิบล้านคนจากการติดเชื้อและเสียชีวิตจากโรคโควิด-19” Hsiang กล่าวในงานแถลงข่าว
งานวิจัยทั้ง 2 ชิ้นมีวิธีการวิเคราะห์ตัวเลขที่แตกต่างกัน โดยทีมของอาจารย์ Bhatt ใช้รายงานผู้เสียชีวิตมาคำนวณการติดเชื้อในชุมชนที่เกิดขึ้นในช่วงก่อนการล็อกดาวน์ และใช้การเปลี่ยนแปลงของตัวเลขผู้เสียชีวิตเพื่อศึกษาว่า การล็อกดาวน์ช่วยลดอัตราการติดเชื้อได้มากน้อยแค่ไหน ขณะที่งานวิจัยของ Hsiang ในเบิร์กลีย์ นำรูปแบบเศรษฐกิจที่ถูกใช้ในการศึกษานโยบายที่ส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจมาใช้ โดยพวกเขาวิเคราะห์อัตราการเพิ่มขึ้นของการติดเชื้อ ในแต่ละวัน ที่เปลี่ยนแปลงไปในระหว่างการล็อกดาวน์ แม้จะใช้วิธีการที่แตกต่างกัน แต่งานวิจัยทั้ง 2 ชิ้นก็ได้ผลการวิจัยที่คล้ายคลึงกัน
อย่างไรก็ตาม งานวิจัยทั้ง 2 ชิ้นก็ตระหนักว่า แม้จะประกาศล็อกดาวน์ในหลายประเทศทั่วโลก มีการตรวจหาเชื้ออย่างกว้างขวาง การรักษาระยะห่างทางสังคมถูกใช้ในพื้นที่สาธารณะ ขณะที่การรวมตัวกันของคนหมู่มากก็ถูกสั่งห้าม แต่สำนักงานสาธารณสุขของแต่ละประเทศก็มีเครื่องมือที่จำกัด สำหรับการรับมือกับเชื้อไวรัสโคโรนา
Maria Van Kerkhove นักระบาดวิทยาแห่งองค์การอนามัยโลก กล่าวเตือนว่ายังไม่ควรผ่อนคลายมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 หรือลดความพยายามในการยับยั้งการระบาดของโรค
“ฉันรู้ว่าเราหลายคนอยากจะให้มันสิ้นสุดลงได้แล้ว และฉันก็รู้ว่าในหลาย ๆ สถานการณ์ก็มีสัญญาณที่ดี แต่มันยังห่างไกลจากการปิดฉากของโรคอย่างมาก เราทุกคนต้องมุ่งเป้าไปที่การหยุดยั้งการระบาดของโรค ลดการแพร่กระจายของเชื้อ และช่วยชีวิตคน ยังมีอะไรอีกมากที่เราต้องทำ” Kerkhove กล่าว
เช่นเดียวกับอาจารย์ Bhatt ที่ระบุว่า การผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ในหลายประเทศ อาจทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อีกครั้ง
“ยิ่งล็อกดาวน์นาน อัตราการแพร่ระบาดของเชื้อก็ลดน้อยลง ผู้คนไม่สามารถเดินทางไปไหนมาไหนได้ แต่เมื่อผ่อนคลายการล็อกดาวน์ ระบบเศรษฐกิจก็ฟื้นตัวขึ้นมาเล็กน้อย แต่อัตราการติดเชื้อก็จะเพิ่มขึ้น ดังนั้น แม้จะคลายการล็อกดาวน์แล้ว แต่นโยบายบางอย่างก็ยังจำเป็นต้องใช้อยู่” เขากล่าว
ทั้งนี้ นักวิจัยจากงานวิจัยทั้ง 2 ชิ้น เห็นตรงกันว่า คนทั่วไปต้องเข้าใจว่าการล็อกดาวน์ส่งผลดีกับสังคมมากแค่ไหน โดย Hsiang กล่าวว่า แม้จะเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบาก แต่สถานการณ์อาจเลวร้ายมากกว่าเดิมหากคนหลายล้านคนไม่อยู่บ้านเพื่อหยุดการระบาดของเชื้อ
“ถ้าไม่มีการใช้นโยบายเหล่านี้ ช่วงเดือนเม.ย. – พ.ค. คงเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากของเรามาก อย่างที่เราเองก็ไม่อาจจะจินตนาการได้” Hsiang กล่าวปิดท้าย