วิษณุ ย้ำยังไม่มีสัญญาณปรับ ครม. - ทดลองยกเลิกเคอร์ฟิวได้ แต่ต้องหารือทีมแพทย์ก่อน
"วิษณุ" เผยยังไม่มีสัญญาณปรับ ครม. จากนายกรัฐมนตรี บอกหากปรับ ต้องแจ้งล่วงหน้า เพราะเป็นรัฐบาลผสม ขณะที่ฝ่ายความมั่นคงเสนอทดลองยกเลิกเคอร์ฟิว 15 วันทำได้ แต่ต้องหารือทีมแพทย์ก่อน ย้ำต่อ-ไม่ต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อยู่ที่ความเหมาะสม ไม่มีใครได้ประโยชน์
วันนี้ (10 มิ.ย.) นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไม่ทราบกระแสข่าวจะมีการปรับ ครม. เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไม่เคยพูด แต่ยอมรับเมื่อวานได้พูดในที่ประชุม ครม. ว่าการปรับ ครม. เป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรี ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีสัญญาหรือสัญญาณใดๆ และการปรับ ครม. ด้วยการให้รัฐมนตรีเซ็นใบลาออกล่วงหน้านั้น ส่วนใหญ่เป็นพรรคการเมืองทำ ไม่เคยมีรัฐบาลทำและคงไม่กล้าทำ เพราะเป็นรัฐบาลผสมที่มีหลายพรรคร่วม แต่การเซ็นใบลาออกล่วงหน้ากับพรรค บางพรรคก็ทำ บางพรรคก็ไม่ทำ ซึ่งพรรคที่ทำ อาจทำด้วยเจตนาดี ถ้าเกิดฉุกเฉิน หากจำเป็นต้องปรับแล้วเจ้าตัวอยู่ต่างประเทศ
พร้อมกันนี้ นายวิษณุ ไม่ตอบว่าสถานการณ์ปัจจุบันเหมาะหรือไม่ที่จะปรับ ครม. ซึ่งการปรับ ครม. แต่ละครั้ง มีทั้งแบบล่วงหน้า คือ ให้เขียนใบลาออก และมีแบบไม่แจ้ง แต่นำความขึ้นกราบบังคมทูลให้พ้นจากตำแหน่งเหมือนปลดออก และแจ้งล่วงหน้าแต่ไม่บอกว่าจะปรับเมื่อใด ขึ้นอยู่กับว่าจะใช้แบบใด เคยเขียนไว้ในหนังสือว่านายกรัฐมนตรีบางคนไม่แจ้งล่วงหน้า ซึ่งสมัยตนเป็นเลขาธิการ ครม. ได้บอกนายกรัฐมนตรีว่าควรจะบอกเจ้าตัว ให้ยื่นใบลาออก
นายวิษณุ บอกด้วยว่า รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งแต่ตนเป็นรองนายกรัฐมนตรี สมัย คสช. จะแจ้งล่วงหน้าทุกครั้ง ที่มีการปรับ ครม. เพราะมาด้วยกันและไม่ได้เป็นพรรคการเมือง แต่ที่ยากคือพรรคการเมือง เพราะเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งและเป็นรัฐบาลผสม ถ้าจะปรับ ครม. แล้วไม่แจ้ง ควรจะแจ้งพรรคการเมือง เผื่อพรรคอยากจะเปลี่ยนตัวบุคคล ทั้งนี้ นายวิษณุ ยังพูดทีเล่นทีจริงว่าการเมืองในช่วงนี้ไม่ได้สนุก ดูละคร สนุกกว่าเยอะ
ทดลองเลิกเคอร์ฟิวได้ แต่ต้องหารือทีมแพทย์
นอกจากนี้ นายวิษณุ ยังระบุถึงการประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่เสนอให้พิจารณาทดลองยกเลิกเคอร์ฟิวเป็นเวลา 15 วัน ตั้งแต่วันที่ 15-30 มิ.ย.นี้ ส่วนตัวไม่ทราบรายละเอียดมาก่อน แต่เมื่อได้ข้อสรุปจากการประชุมวันนี้แล้ว ก็จะรายงานให้นายกรัฐมนตรีทราบในวันพรุ่งนี้ (11 มิ.ย.) อย่างไรก็ตาม มองว่าเป็นสิ่งที่สามารถทำได้อยู่แล้วในทางกฎหมาย แต่ในทางสาธารณสุขต้องปรึกษาบุคลากรทางการแพทย์ด้วย
ส่วนข้อเสนอให้เปิดสนามมวยแต่ไม่มีผู้ชม ใช้วิธีถ่ายทอดผ่านระบบออนไลน์แทนนั้น เรื่องนี้แล้วแต่คณะกรรมการพิจารณาตามความเหมาะสม
นายวิษณุ ยังกล่าวอีกด้วยว่า หากยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะมีกฎหมายปกติเข้ามาดูแลสถานการณ์แทน ทั้ง พ.ร.บ.โรคติดต่อ ที่เป็นกฏหมายหลักในการทำงาน รวมถึง พ.ร.บ.การเดินอากาศ พ.ร.บ.สาธารณสุข พ.ร.บ.ป้องกันบรรเทาสาธารณภัย และ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งกฎหมายเหล่านี้ถูกใช้ก่อนประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือตั้งแต่ 13 ม.ค. ที่พบผู้ป่วยคนแรกในไทย
ดังนั้น หากยกเลิกก็กลับมาใช้กฎหมายเหล่านี้ แต่ยอมรับว่ามีช่องโหว่ทางกฎหมายอยู่ จึงต้องเรียนรู้และแก้ไขปัญหา แต่ทั้งนี้หากจะใช้มติ ครม. ก็จะทำได้เพียงการบูรณาการเชื่อมการทำงานระหว่างจังหวัดเท่านั้น แต่จะใช้ในการกำหนดมาตรการหนัก เช่น การประกาศเคอร์ฟิว ไม่ได้
ทั้งนี้ ย้ำว่าเคยอธิบายมาหลายครั้งแล้วว่าแนวทางสำคัญของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มี 3 แนวทางหลักๆ คือ
1. การคง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เอาไว้
2. ยกเลิกการประกาศใช้
3. คงประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไว้ แต่ผ่อนคลายมาตรการหลายอย่างภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เช่น เคอร์ฟิว
อย่างไรก็ตาม นายวิษณุยืนยันว่าการพิจารณายกเลิกหรือคง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน นั้น จะพิจารณาตามความเหมาะสมเป็นหลัก เพราะการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไม่ทำให้ใครได้ประโยชน์
นายวิษณุ ยังระบุเพิ่มเติมว่า ไม่ต้องกังวลกับเรื่องดังกล่าว เพราะหากยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แล้วสถานการณ์รุนแรงขึ้นอีก ก็ประกาศใช้ใหม่ได้ ไม่ใช่เรื่องที่ยากเย็นอะไร และยืนยันว่าไม่มีกฎหมายพิเศษอื่นที่จะมาดูแลสถานการณ์ในขณะนี้ได้ เพราะกฎหมายพิเศษอื่นๆ เช่น การประกาศกฎอัยการศึก หรือ พ.ร.บ.ความมั่นคง จะใช้ในกรณีที่มีเหตุการณ์ความรุนแรงเท่านั้น