สหรัฐฯ มีการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง จากเหตุประท้วงกรณี “จอร์จ ฟลอยด์”

สหรัฐฯ มีการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง จากเหตุประท้วงกรณี “จอร์จ ฟลอยด์”

สหรัฐฯ มีการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง จากเหตุประท้วงกรณี “จอร์จ ฟลอยด์”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เป็นเวลาเกือบ 2 สัปดาห์แล้ว ที่ “จอร์จ ฟลอยด์” ชายผิวดำชาวอเมริกัน ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจมินนิอาโปลิสจับกุมตัว โดยใช้เข่ากดที่คอของเขาจนขาดอากาศหายใจและเสียชีวิต นำไปสู่การประท้วงต่อต้านการเหยียดผิวและความรุนแรงโดยตำรวจทั่วสหรัฐฯ และลุกลามสู่การเรียกร้องสิทธิของคนผิวดำทั่วโลก ปรากฏการณ์ดังกล่าวส่งผลเป็นลูกโซ่แห่งการเปลี่ยนแปลงในระบบการเมืองการปกครองของสหรัฐฯ อย่างไม่น่าเชื่อ และนี่คือ 5 ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากเหตุประท้วงต่อต้านการเหยียดผิว หลังจากเสียชีวิตของจอร์จ ฟลอยด์

การลดงบประมาณของตำรวจ

จากการประท้วงเรียกร้องให้ลดงบประมาณของตำรวจและยกเลิกกรมตำรวจ สมาชิกสภาเมืองมินนิอาโปลิสส่วนใหญ่ให้คำมั่นว่าจะมีการยกเลิกกรมตำรวจประจำเมือง และหันมาใช้โมเดลความปลอดภัยที่นำโดยชุมชนแทน ซึ่งเป็นความก้าวหน้าที่ไม่มีใครริเริ่มก่อนการเสียชีวิตของฟลอยด์

ด้านนายกเทศมนตรีลอสแอนเจลิสก็ได้เสนอตัดลดงบประมาณของตำรวจเมื่อสัปดาห์ก่อน จาก 3 พันล้านเหรียญสหรัฐ เหลือเพียง 150 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนสมาชิกสภาเมืองของนิวยอร์กซิตี้ ก็เสนอให้มีการลดงบประมาณของทุกหน่วยงานลงราว 5 – 7% รวมถึงงบประมาณของตำรวจ 5.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนเมืองขนาดเล็ก เช่น บอสตัน แลนซิง และซีแอตเติล ระบุว่าจะมีการพิจารณาลดงบประมาณเช่นกัน

เจ้าหน้าที่ตำรวจถูกดำเนินคดี

ภาพการเสียชีวิตของฟลอยด์ที่ถูกเผยแพร่ในโลกออนไลน์กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการกระทำอันเกินกว่าเหตุของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ส่งผลให้เดเร็ค ชอวิน เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ใช้เข่ากดลำคอของฟลอยด์นานกว่า 8 นาที จนเสียชีวิต ถูกไล่ออก รวมทั้งตั้งข้อหาฆาตกรรมในระดับสามและฆ่าคนตายโดยประมาท เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม ทว่าเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน เขาถูกตั้งข้อหาฆาตกรรมระดับสอง ส่วนเพื่อนตำรวจอีก 2 นาย ที่อยู่ในที่เกิดเหตุก็ถูกไล่ออก พร้อมข้อหาสมรู้ร่วมคิดและเอื้อให้เกิดการฆาตกรรมระดับสอง และข้อหาฆ่าคนตายโดยประมาท

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน เจ้าหน้าที่ตำรวจ 2 นาย จากบัฟฟาโล นิวยอร์ก ถูกกล่าวหาในคดีความผิดต่อร่างกาย หลังจากที่ผลักผู้ชุมนุมประท้วงวัย 75 ปี

การรื้อถอนอนุสาวรีย์ที่เกี่ยวข้องกับการเหยียดผิว

หน่วยงานรัฐหลายแห่งทางตอนใต้ของสหรัฐฯ ที่มีการใช้ทาสชาวแอฟริกันในสมัยก่อน ต่างพากันสั่งรื้อถอนอนุสาวรีย์ที่เชิดชูการเคลื่อนไหวของสมาพันธรัฐอเมริกา ที่สนับสนุนระบบทาส เช่นในเบอร์มิงแฮม แอละบามา ก็มีการรื้อถอนอนุสาวรีย์สมาพันธรัฐเมื่อสัปดาห์ก่อน ในขณะที่ผู้ว่าการรัฐเวอร์จิเนียกล่าวว่า จะมีการรื้อถอนอนุสาวรีย์ของนายพลโรเบิร์ต อี. ลี ผู้นำกองทัพสมาพันธรัฐให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้

ส่วนฟิลาเดลเฟียก็รื้อถอนรูปปั้นของแฟรงค์ ริซโซ อดีตนายกเทศมนตรีและอธิบดีกรมตำรวจ ก่อนกำหนด เช่นเดียวกับในดัลลัส ที่ถอนรูปปั้นอดีตหัวหน้าตำรวจเท็กซัส เจย์ แบงคส์ ซึ่งบุคคลทั้งสองเป็นผู้ที่สนับสนุนนโยบายที่เลือกปฏิบัติต่อคนผิวสี

มหาวิทยาลัยทางใต้ เช่น มหาวิทยาลัยนิโคลส์ สเตท ในลุยเซียนา ก็เปลี่ยนชื่ออาคารและถนนต่างๆ จากเดิมที่ใช้ชื่อตามผู้นำของสมาพันธรัฐอเมริกา ส่วนเหล่านาวิกโยธินสหรัฐฯ ก็ห้ามไม่ให้มีการติดตั้งธงสมาพันธรัฐในอาคารหน่วยงานทั้งหมด ขณะที่สถาบันอื่นๆ ก็กำลังพิจารณาการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว โดยผู้ว่าการรัฐเคนทักกีกล่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ทางการกำลังศึกษาเกี่ยวกับการย้ายรูปปั้นของประธานาธิบดีเจฟเฟอร์สัน เดวิส แห่งสมาพันธรัฐอเมริกา ออกจากอาคารสภาของรัฐ

การเปลี่ยนวิธีการจับกุมของเจ้าหน้าที่

หน่วยงานด้านการบังคับใช้กฎหมายของสหรัฐฯ และนักการเมืองที่ตรวจสอบการบังคับใช้กฎหมายทั่วประเทศได้สั่งให้มีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง โดยมุ่งที่การเพิ่มการเฝ้าระวังและควบคุมความรุนแรง

ผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนียสั่งให้ยกเลิกวิธีการกดคอในการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ตำรวจ หลังจากที่กรมตำรวจและสำนักงานนายอำเภอของซานดิเอโกประกาศว่าจะหยุดการใช้แผนซ้อมรบ จากข้อกังวลเกี่ยวกับอันตรายที่อาจเกิดขึ้น

ขณะเดียวกัน รัฐอื่นๆ ก็มีการพูดคุยเกี่ยวกับนโยบายใหม่ในการจับกุมผู้ต้องสงสัย เพื่อลดความเสี่ยงต่อชีวิต โดยนายกเทศมนตรีเมืองแคนซัส รัฐมิสซูรี จะใช้หน่วยงานภายนอก เช่น สำนักงานสอบสวนกลาง หรือ FBI ในการตรวจสอบกรณีที่ตำรวจท้องถิ่นยิงประชาชนทุกกรณี เพื่อตอบสนองข้อกังวลของผู้ประท้วงเกี่ยวกับการแทรกแซงการสืบสวนภายในกรมตำรวจ ส่วนอธิบดีกรมตำรวจของซีแอตเติลก็จะห้ามเจ้าหน้าที่ปิดเลขประจำตัวเจ้าหน้าที่บนบัตร ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนสามารถระบุตัวเจ้าหน้าที่ได้ นอกจากนี้ พอร์ทแลนด์และซีแอตเติลยังมีการห้ามใช้แก๊สน้ำตากับผู้ชุมนุมประท้วงเป็นการชั่วคราวด้วย

การเสนอกฎหมายใหม่

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคเดโมแครตได้นำเสนอให้มีการออกกฎหมายที่เอื้อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจรับผิดชอบต่อการประพฤติมิชอบ และปรับยุทธวิธีให้เป็นไปในแนวทางเดียวกันทั่วประเทศ ซึ่งหากกฎหมายฉบับนี้ผ่าน ก็จะนำไปสู่การห้ามเจ้าหน้าที่ใช้วิธีล็อกคอ เจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องมีกล้องติดตามตัว และหน่วยงานใต้บังคับบัญชาต้องมีอิสระมากขึ้น

จัสติน อามาช จากพรรคเสรีนิยมและอดีต ส.ส. พรรครีพับลิกัน อิลฮาน โอมาร์ ส.ส. พรรคเดโมแครตจากมินนิอาโปลิส และอายานนา เพรสลีย์ จากบอสตัน กล่าวว่าพวกเขามีแผนที่จะสนับสนุนกฎหมายแยก ที่จะอนุญาตให้มีการฟ้องร้องเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งจะลดอำนาจของศาลสูงในการปกป้องเจ้าหน้าที่ตำรวจจากความรับผิดทางกฎหมาย แม้ว่าศาลจะเห็นว่าเจ้าหน้าที่ดังกล่าวละเมิดสิทธิพลเมือง

นอกจากนี้ หน่วยงานรัฐในโคโลราโด แมรีแลนด์ มิชิแกน นิวยอร์ก และอื่นๆ ก็ได้เรียกร้องให้มีการผ่านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปตำรวจเช่นกัน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook