“Bansaka” ภาษาลับของกลุ่ม LGBTQ+ ในพม่า

“Bansaka” ภาษาลับของกลุ่ม LGBTQ+ ในพม่า

“Bansaka” ภาษาลับของกลุ่ม LGBTQ+ ในพม่า
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แม้การเปิดรับกลุ่ม LGBTQ+ ของสังคมจะมีมากขึ้นกว่าในอดีตแล้ว แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า การเลือกปฏิบัติและการกลั่นแกล้งกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศยังมีให้เห็นอยู่เสมอ เช่นเดียวกับในประเทศเมียนมา ซึ่งประชากรกว่า 90 เปอร์เซ็นต์นับถือศาสนาพุทธ หลายคนเชื่อว่าการเป็นเกย์ หรือคนข้ามเพศ คือการลงโทษจากบาปกรรมที่เคยทำไว้ในชาติที่แล้ว กลุ่ม LGBTQ+ ในเมียนมา จึงถูกมองว่าเป็นกลุ่มคนที่ไร้ศีลธรรม ยิ่งไปกว่านั้น ความเชื่อทางศาสนายังหนุนให้เกิดข้อกฎหมาย ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากยุคล่าอาณานิคม ที่กำหนดว่าการมีเพศสัมพันธ์ของคนเพศเดียวกันถือเป็นอาชญากรรม

ด้วยเหตุนี้ กลุ่มเกย์และคนข้ามเพศในเมียนมาจึงใช้ภาษาของตัวเอง ที่เรียกว่า “Bansaka” เพื่อสื่อสารกันภายในกลุ่ม เช่นเดียวกับกลุ่ม LGBTQ+ อื่น ๆ ที่มักจะสร้าง “ภาษาลับ” ของตัวเองขึ้นมาเพื่อปกปิดอัตลักษณ์และใช้พูดคุยเรื่องส่วนตัวของกันและกัน โดยกลุ่มเกย์และคนข้ามเพศในเมียนมา จะเปลี่ยนมาคุยกันด้วยภาษา Bansaka เมื่อต้องการซุบซิบนินทาคนที่อยู่ใกล้ ๆ

“ถ้ามีลูกค้าเดินเข้ามาบอกว่าอยากสวยเหมือนบียอนเซ่ เราก็จะบ่น ๆ เรื่องนี้กับเพื่อนร่วมงานด้วยภาษาของเรา” Thu Yain Maung Maung ช่างแต่งหน้า LGBTQ+ ในเมียนมา อธิบาย

ขณะที่การพูดคุยในกลุ่มของ LGBTQ+ เมียนมา ก็มีการใช้ภาษา Bansaka เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของความรัก รวมทั้งยังสร้างคำใหม่ และท่าทางการแสดงออกเพื่อสร้างความสนุกสนานให้กันและกัน Moe Aung จากกลุ่ม Kings N Queens อธิบายท่าทางล่าสุดที่พวกเขาเพิ่งนำมาใช้ นั่นคือการทำมือให้เป็นสัญลักษณ์ “OK” ซึ่งมีความหมายว่า “หยุดพูดได้แล้ว” หรือ “พอแล้ว หยุดได้แล้ว”

นอกจากนี้ ภาษา Bansaka ยังให้การปกป้องและความรู้สึกปลอดภัยแก่กลุ่ม LGBTQ+ เมื่อพวกเขาหรือเธอพูดคุยกันอีกด้วย โดย Moe Aung ซึ่งทำการแสดง Drag Queen  เล่าว่า เมื่อเธอต้องการไปเข้าห้องน้ำสาธารณะ เธอมักจะชวนเพื่อนไปด้วยเพื่อความปลอดภัย ซึ่งบทสนทนาของเธอกับเพื่อนจะเป็นภาษาที่คนในกลุ่มใช้ เพื่อหลีกเลี่ยงการล้อเลียนเนื่องจากต้องมีคนไปส่งเข้าห้องน้ำ และการที่กลุ่ม LGBTQ+ เข้าห้องน้ำสาธารณะคนเดียวยังมีความเสี่ยงที่พวกเขาหรือเธอจะถูกล่วงละเมิดทางเพศได้

กลุ่ม LGBTQ+ ในพม่าเรียนภาษา Bansaka จากที่ทำงาน ซึ่งมีไม่กี่อาชีพที่เปิดโอกาสให้กับพวกเขาหรือเธอ เช่น ร่างทรง ช่างตัดผม ช่างแต่งหน้า และคนจัดดอกไม้

“อาชีพเหล่านี้ให้อะไรมากกว่างาน พวกเขามีกระบวนการที่ทำให้การทำงานเป็นเหมือนครอบครัว” David Gilbert จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย กล่าว พร้อมอธิบายเพิ่มเติมว่าคนกลุ่มนี้มักอาศัยอยู่ด้วยกัน

อย่างไรก็ตาม ภาษา Bansaka ในทุกวันนี้ไม่ได้ถูกใช้เพื่อความปลอดภัยมากเท่ากับเมื่อครั้งอดีตแล้ว ในช่วงเวลา 15 ปีที่ผ่านมา คนทั่วไปเริ่มรู้จักภาษาของกลุ่ม LGBTQ+ มากขึ้น แต่คนส่วนใหญ่ก็ยังไม่เข้าใจความหมายของมัน ยิ่งไปกว่านั้น คนรุ่นใหม่ก็ไม่ใช้ภาษานี้กันแล้ว แต่พวกเขาใช้การสื่อสารผ่านช่องทางออนไลน์ที่เป็นส่วนตัวมากกว่า

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook