รถร่วมฯ ร้องคมนาคม ยืดเวลาปฏิรูปเส้นทาง-ขอใช้รถเก่าอีก 3 ปี
นายวิทยา เปรมจิตร์ นายกสมาคมพัฒนารถร่วมเอกชน พร้อมสมาชิก เดินทางเข้ายื่นหนังสือถึงนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อขอความช่วยเหลือจากแผนปฏิรูปเส้นทางรถโดยสารประจำทางทั้ง 269 เส้นทางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เนื่องจากผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทางเส้นทางหมวด 1 และรถนิบัสที่เดินรถในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19
โดยเบื้องต้นได้มีการยื่นเรียกร้อง 4 ข้อ คือ
1.ขอขยายระยะเวลายื่นคำขออนุญาตประกอบการขนส่งประจำทางด้วยรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสาร เส้นทางหมวด 1 ในเขตกรุงเทพฯ และจังหวัดที่มีเส้นทางต่อเนื่อง (ตามแนวทางปฏิรูปช่วงถ่ายโอนการกำกับดูแล) พ.ศ. 2562 ที่ประกาศ ณ วันที่ 1 ก.ค. 2562 ออกไปอีก 3 ปี
2.ขอให้ใช้รถเก่าต่อไปได้อีกอย่างน้อย 3 ปี
3.ขอให้รัฐจัดหาแหล่งเงินทุน เพื่อจัดหาซื้อรถโดยสารใหม่ และขอให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น เนื่องจากในโครงการปฏิรูปเส้นทางรถเมล์ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล สำหรับเส้นทางของผู้ประกอบการรถร่วมที่กรมการขนส่งทางบกต้องจัดสรรให้ 54 เส้นทาง และออกใบอนุญาตประกอบการเดินรถแล้ว 48 เส้นทาง แบ่งเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ 31 เส้นทาง และ รายย่อย 17 เส้นทาง ทำให้รายย่อยไม่มีแหล่งทุนลงทุน
4.ขอให้กระทรวงคมนาคมประสานไปยัง ปตท.ให้ขยายระยะเวลาการลดราคาเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ NGV ที่ ปตท.ให้ความช่วยเหลือรถโดยสารสาธารณะจากเดิมราคา 15.65 บาท ต่อกิโลกรัม เหลือ 10.67 บาท ต่อกิโลกรัมมาตั้งแต่ 1 เม.ย.63 และสิ้นสุด 30 มิ.ย.63 ให้ขยายต่อไปอีก 3 เดือน ลดผลกระทบโควิด-19
“การเรียกร้องครั้งนี้เกรงว่ารถร่วมเดิมที่มี 100 กว่าเส้นทาง แต่เมื่อการปฏิรูปเส้นทางลดเหลือ 54 เส้นทาง ทำให้รถร่วมที่มีกว่า 46 เส้นทาง จำนวนรถ 2,000 กว่าคัน และพนักงานขับรถและพนักงานเก็บค่าโดยสารต้องตกงานและหายไปจากระบบ คิดว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ทั้งที่เรื่องดังกล่าวสามารถประกอบธุรกิจร่วมกันได้ ทั้งนี้หากไม่พิจารณาให้จะไปยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีต่อไป” นายวิทยา กล่าว
นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้ออกใบอนุญาตประกอบการเดินรถให้เอกชนแล้ว 56 เส้นทาง มีเอกชนกว่า 40 เส้นทางที่ยังไม่ได้รับใบอนุญาต เนื่องจากไม่สามารถรวมกลุ่มเป็นนิติบุคคลได้ ตามข้อกำหนดระบุว่า 1 เส้นทางต้องมีผู้ประกอบการเพียงรายเดียวเท่านั้น ส่วนข้อ 4 ข้อของผู้ประกอบการ ยืนยันว่า จะมีการหารือร่วมกันเพื่อหาทางออกอีกครั้ง คาดว่าภายในสิ้นเดือนนี้จะได้ข้อสรุป
ส่วนการขอขยายระยะเวลาการลดราคาก๊าซ NGV ในวันที่ 11 มิ.ย.นี้ จะหารือกับกระทรวงพลังงานต่อไป ส่วนแหล่งเงินทุนจะมีการประสานงานไปยังสถาบันการเงินในการปล่อยสินเชื่อเข้าตามหลักเกณฑ์ ส่วนปัญหาที่ผู้ประกอบการกว่า 40 เส้นทางยังไม่ได้รับใบอนุญาตประกอบการเดินรถนั้น ได้มอบหมายให้ ขสมก.ไปดำเนินการต่อไป
ด้านนายสุระชัย เอี่ยมวชิรสกุล ผู้อำนวยการ ขสมก.กล่าวว่า สำหรับผู้ประกอบการกว่า 40 เส้นทางที่ไม่ได้รับใบอนุญาตประกอบการเดินรถ จะเปิดให้ผู้ประกอบการรถร่วมฯ เข้ามาประมูลเส้นทางต่อไป โดยผู้ประกอบการที่เข้ามาต้องเป็นภาคสมัครใจเข้ามายื่นประมูล ภายใต้เงื่อนไขตามคุณสมบัติที่กำหนด เช่น ต้องมีรถใหม่ และมีการประกันคุุณภาพรถ เพื่อให้บริการประชาชนได้มีประสิทธิภาพ ซึ่งยื่นยันว่าไม่เป็นการผูกขาดเฉพาะรายอย่างแน่นอน