ราชกิจจาฯ เผยแพร่คำสั่งยกเลิกเคอร์ฟิว ตั้งแต่ 5 ทุ่ม 14 มิ.ย. คลายล็อกเฟส 4 เริ่ม 15 มิ.ย.
เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ข้อกําหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2558 (ฉบับที่ 10) ซึ่งเป็นการยกเลิกเคอร์ฟิว และรายละเอียดของมาตรการผ่อนคลายระยะที่ 4 โดยมีเนื้อความดังนี้
ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติในการประชุมเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 ให้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรออกไปตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2563 จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2563 นั้น
โดยที่สมควรผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการต่างๆ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เป็นช่วงที่ 4 ต่อเนื่องจากการผ่อนคลายที่ดําเนินมาก่อนแล้วเป็นลําดับ ทั้งนี้ ยังคงต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคตามมาตรฐานสากลอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า การเว้นระยะห่างทางสังคม และการยอมรับระบบติดตามตัวผ่านแอปพลิเคชั่นทางโทรศัพท์มือถือ
อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2558 และมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 นายกรัฐมนตรีจึงออกข้อกําหนดเป็นการทั่วไปและข้อปฏิบัติแก่ส่วนราชการทั้งหลาย ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 การยกเลิกการห้ามออกนอกเคหสถาน เพื่อเป็นมาตรการผ่อนคลายและบรรเทาผลกระทบต่อการดําเนินชีวิตประจําวันของประชาชน จึงให้ยกเลิกการห้ามออกนอกเคหสถานทั่วราชอาณาจักรเฉพาะเหตุอันเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ตั้งแต่เวลา 23.00 นาฬิกา ของวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2563
ข้อ 2 การผ่อนผันการใช้อาคารสถานที่ของโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษา เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรองรับการเปิดภาคเรียนในปีการศึกษา 2563 จึงผ่อนผันการใช้อาคารสถานที่เพื่อจัดการเรียนการสอน หรือการฝึกอบรมของโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาเพิ่มเติมจากที่ได้กําหนดไว้แล้วตามข้อกําหนด (ฉบับที่ 4) ลงวันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2563
โดยให้โรงเรียนในระบบประเภทนานาชาติ สถาบันการศึกษาหรือมหาวิทยาลัยที่มีการเรียนการสอนหลักสูตรนานาชาติ โรงเรียนนอกระบบประเภทกวดวิชาตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน โรงเรียนตํารวจตระเวนชายแดน และโรงเรียนที่มีจํานวนนักเรียนรวมทั้งโรงเรียนไม่เกิน 120 คน สามารถใช้อาคารสถานที่เพื่อจัดการเรียนการสอนหรือการฝึกอบรมได้ โดยผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษา ต้องดําเนินการจัดรูปแบบการเรียนการสอน สถานที่ รวมทั้งบุคลากรและเจ้าหน้าที่ ให้มีความพร้อมสอดคล้องกับการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกําหนด รวมทั้งจัดระเบียบและระบบต่างๆ ให้เป็นไปตามคําแนะนําของทางราชการอย่างเคร่งครัด โดยคํานึงถึงความเสี่ยงต่อการติดโรค การแพร่กระจายเชื้อ และความปลอดภัยของผู้เรียนเป็นสําคัญ
ส่วนการเปิดเรียนและรูปแบบการเรียนการสอนของโรงเรียน สถาบันการศึกษาหรือมหาวิทยาลัยอื่นๆ ให้เป็นไปตามที่กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แล้วแต่กรณีกําหนด โดยปฏิบัติตามความในวรรคก่อนด้วยโดยอนุโลม
ข้อ 3 การผ่อนคลายให้ดําเนินการหรือทํากิจกรรมบางอย่างได้ เพื่ออํานวยความสะดวกแก่ประชาชนและขับเคลื่อนกิจกรรมบางอย่างเพิ่มเติมจากที่ได้กําหนดไว้แล้วตามข้อกําหนด (ฉบับที่ 5) ลงวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 ข้อกําหนด (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 และข้อกําหนด (ฉบับที่ 4) ลงวันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 ภายใต้การปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกําหนด รวมทั้งการจัดระเบียบและระบบต่างๆ ให้เป็นไปตามคําแนะนําของทางราชการ ให้สถานที่หรือการดําเนินกิจกรรมที่เคยมีข้อกําหนดหรือคําสั่งของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและผู้ว่าราชการจังหวัดให้ปิดสถานที่ไว้เป็นการชั่วคราวตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 และตามข้อกําหนด (ฉบับที่ 5) ลงวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 สามารถเปิดดําเนินการหรือทํากิจกรรมบางอย่างเพิ่มเติมได้ทั่วราชอาณาจักร ตามความสมัครใจและความพร้อม ดังต่อไปนี้
(๑) กิจกรรมด้านเศรษฐกิจและการดําเนินชีวิต
ก.) การจัดการประชุม การอบรม การสัมมนา การจัดนิทรรศการ การจัดแสดงสินค้า การจัดเลี้ยง งานพิธี การแสดง นาฏศิลป์ ดนตรี คอนเสิร์ต หรือการจัดกิจกรรมต่างๆ ที่จัดขึ้นในโรงแรม โรงมหรสพ ห้องประชุม ศูนย์ประชุม ศูนย์แสดงสินค้า โรงภาพยนตร์ หรือในสถานที่อื่นๆ ให้สามารถดําเนินการได้
ข.) การบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในภัตตาคาร สวนอาหาร โรงแรม ร้านอาหารหรือเครื่องดื่มทั่วไป หรือในสถานที่ที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายและได้ผ่อนคลายให้เปิดดําเนินการอยู่ก่อนแล้วให้สามารถทําได้ภายในกําหนดเวลาปกติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยงดเว้นการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย
ในส่วนของสถานบริการ สถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ ผับ บาร์ คาราโอเกะ ยังไม่อนุญาตให้เปิดดําเนินการ
ค.) สถานรับเลี้ยงเด็ก ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก สถานพัฒนาเด็กปฐมวัย ศูนย์เด็กพิเศษ สถานดูแลผู้สูงอายุ สถานที่บริการดูแล สถานที่พํานักอาศัย หรือสถานสงเคราะห์อื่นที่จัดสวัสดิการให้แก่เด็กหรือผู้สูงอายุ สามารถเปิดดําเนินการให้บริการแบบรายวันได้ ทั้งนี้ การเดินทางไปกลับสถานที่ดังกล่าวถือเป็นเหตุยกเว้นการปฏิบัติตามมาตรการอันพึงปฏิบัติของกลุ่มบุคคลที่มีความเสี่ยงต่อการติดโรค
ง.) ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา อุทยานวิทยาศาสตร์ ศูนย์วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม
จ.) การถ่ายทํารายการโทรทัศน์ ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ให้ดําเนินการได้โดยมีจํานวนผู้แสดง ผู้ร่วมรายการและคณะทํางานถ่ายทํารวมกันไม่เกินคราวละ 150 คน และมีผู้ชมไม่เกิน 50 คน
(๒) กิจกรรมด้านการออกกําลังกาย การดูแลสุขภาพหรือสันทนาการ
ก.) การอบตัว อบสมุนไพร การอบไอน้ำแบบรวมหรือการนวดบริเวณใบหน้า ในสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ สปา หรือสถานประกอบการนวดแผนไทย ให้ดําเนินการได้ ยกเว้นในส่วนของสถานประกอบกิจการอาบ อบ นวด ยังไม่อนุญาตให้เปิดดําเนินการ
ข.) การออกกําลังกายแบบกลุ่มในสวนสาธารณะ ลานกิจกรรม พื้นที่กิจกรรมสาธารณะ หรือลานกีฬากลางแจ้ง ให้ดําเนินการได้
ค.) สวนน้ำ สนามเด็กเล่น สวนสนุก ยกเว้นการใช้เครื่องเล่นในลักษณะที่เป็นการติดตั้งชั่วคราว หรือเครื่องเล่นที่มีพื้นผิวสัมผัสมากซึ่งอาจมีความเสี่ยงต่อการติดโรคในเด็ก เช่น บ้านบอล บ้านลม
ง.) สนามกีฬาหรือสถานที่เพื่อการออกกําลังกาย การเล่นกีฬา หรือเพื่อการเรียนการสอน ในทุกประเภทกีฬา ให้เปิดดําเนินการได้ ยกเว้นสนามชนโค สนามชนไก่ สนามกัดปลา หรือสนามการแข่งขันอื่นในลักษณะทํานองเดียวกันยังไม่อนุญาตให้เปิดดําเนินการ
สถานที่ที่ได้รับการผ่อนคลายสามารถจัดให้มีการแข่งขันและถ่ายทอดโทรทัศน์การแข่งขันกีฬาหรือการถ่ายทอดผ่านสื่ออื่นๆ ได้ แต่ต้องไม่มีผู้ชมอยู่ในสนามแข่งขัน และผู้จัดการแข่งขันต้องดําเนินการตามขั้นตอนและวิธีการที่ทางราชการกําหนดด้วย
จ.) ตู้เกม เครื่องเล่นหยอดเหรียญที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายและตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ ให้เปิดดําเนินการได้
ข้อ 4 การขนส่งสาธารณะข้ามเขตพื้นที่จังหวัด เพื่ออํานวยความสะดวก และรองรับการเดินทางของประชาชนภายหลังมาตรการผ่อนคลายการเดินทางข้ามเขตพื้นที่จังหวัด ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบตรวจสอบและกํากับดูแลการขนส่งผู้โดยสารที่เป็นการขนส่งสาธารณะทุกประเภท (รถโดยสารประจําทาง รถปรับอากาศ รถตู้ รถไฟ เรือ เครื่องบิน) โดยผู้ประกอบการต้องจัดระบบ และระเบียบต่างๆ รวมทั้งให้มีการจอดพักรถ การเว้นที่นั่ง และการจํากัดจํานวนผู้โดยสารในแต่ละเที่ยว ให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกําหนด
ข้อ 5 การดําเนินการตามมาตรการป้องกันโรคและการจัดระเบียบ ให้ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบ เจ้าของ หรือผู้จัดการสถานที่ในข้อ 2 หรือข้อ 3 มีหน้าที่รับผิดชอบในการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค รวมทั้งดําเนินการจัดระเบียบและระบบต่างๆ ตามคําแนะนํา เงื่อนไข และเงื่อนเวลา ที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือตามที่ทางราชการกําหนด
ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอํานาจเข้าตรวจสอบการใช้อาคารสถานที่ตามข้อ 2 และการดําเนินการของเจ้าของหรือผู้จัดการสถานที่ตามข้อ 3 เพื่อให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันโรค รวมทั้งการจัดระเบียบและระบบต่างๆ ที่ทางราชการกําหนด หากพบการกระทําที่อาจมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค พนักงานเจ้าหน้าที่อาจให้คําแนะนํา ตักเตือน ห้ามปราม และมีอํานาจกําหนดช่วงระยะเวลาเพื่อให้ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบ เจ้าของหรือผู้จัดการสถานที่ดําเนินการปรับปรุงแก้ไข เพื่อป้องกันมิให้มีการแพร่ของโรค รวมทั้งเสนอให้ผู้มีอํานาจตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 มีคําสั่งปิดสถานที่ในพื้นที่รับผิดชอบไว้เป็นการชั่วคราวก็ได้
ในกรณีที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหรือผู้ว่าราชการจังหวัดมีคําสั่งปิดสถานที่ไว้เป็นการชั่วคราว เมื่อผู้มีหน้าที่รับผิดชอบ เจ้าของหรือผู้จัดการสถานที่ได้ดําเนินการให้เป็นไปตามมาตรการที่ทางราชการกําหนดและจัดระเบียบและระบบต่างๆ แล้ว ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหรือผู้ว่าราชการจังหวัด แล้วแต่กรณี มีอํานาจสั่งให้เปิดดําเนินการในสถานที่ดังกล่าวได้
ข้อ 6 ในกรณีมีปัญหาว่าสถานที่หรือกิจกรรมใดเข้าข่ายตามที่กําหนดไว้ในข้อกําหนดนี้หรือไม่ ให้หารือคณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ซึ่งมีเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติในฐานะหัวหน้าสํานักงานประสานงานกลาง ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 เป็นประธาน
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2563 เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2563
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรี
อัลบั้มภาพ 4 ภาพ