ครูฝึกตำรวจชาวไทยในสหรัฐชี้ เหตุ "จอร์จ ฟลอยด์" คือความเสื่อมเสียของวงการตำรวจ
“ในวงการตำรวจสหรัฐฯผมพูดได้เลยว่า มันเป็นสิ่งที่เราอายมาก เป็นสิ่งที่เสียกับในวงการตำรวจมาก เรามีเพื่อนตำรวจที่นครลอสแอนเจลิส (LAPD) หรือ ตำรวจที่นครนิวยอร์ก (NYPD) ก็จะคุยกัน จากโรงเรียนสอนตำรวจหลายแห่ง เราก็จะปรึกษากันตลอด คือตอนนี้มันสิ่งที่ถือเป็นแผลเป็นของวงการตำรวจ เพราะว่า เราไม่ฝึกแบบนี้ ไม่ปฏิบัติงานแบบนี้ มันไม่ได้อยู่ในตำราเลยครับที่จะเอาหัวเข่าดันให้คนนี้เสียชีวิต..”
คำยืนยันของ เจ้าหน้าที่ "ตระกูลรักษ์ ศิลปะดุริยางค์" ครูฝึกและผู้เชี่ยวชาญพิเศษ จากโรงเรียนฝึกตำรวจนครชิคาโก ในรัฐอิลลินอยส์ บอกถึง ปฏิกิริยาจากวงการครูฝึกตำรวจในสหรัฐอเมริกาต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับ จอร์จ ฟลอยด์ ชายชาวผิวสีวัย 46 ปีที่เสียชีวิตระหว่างถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจนครมินนีแอโปลิส รัฐมินนิโซตา ควบคุมตัว เมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
ครูฝึกตำรวจเชื้อสายไทย ซึ่งถือเป็นผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านกฎการใช้กำลัง หรือ Use of Force ของ Chicago PD ย้ำว่า แนวทางการฝึกและหลักปฏิบัติการด้านยุทธวิธีของเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายนั้น จะมีหลักปฏิบัติชัดเจน ตั้งแต่การใส่กุญแจมือ หรือการเรียกกำลังเสริมในกรณีที่จำเป็นทางยุทธวิธี ส่วนการจับผู้ต้องหานอนคว่ำหน้านั้น จะใช้เมื่อต้องการควบคุมสถานการณ์ในระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น
“ในการฝึกยุทธวิธีของตำรวจ เราใช้ตำแหน่งที่จะให้คนร้าย หรือ ผู้ต้องหา นอนอยู่ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ปลอดภัย (กับเจ้าหน้าที่) ที่สุด พอใส่กุญแจมือปุ๊บ เราต้องพลิกเขาขึ้นข้างๆทันที หรือไม่ก็ให้ขึ้นมานั่ง แต่จะให้ช่วงที่อยู่ที่คว่ำหน้าลงให้ใช้เวลาให้น้อยที่สุดเพราะการฝึกของเรา เราต้องให้ความสำคัญของการหายใจของคนทุกที่เราจับกุม..” ตระกูลรักษ์ ให้สัมภาษณ์กับวีโอเอ ไทย
การใช้เข่ากดคอผู้ต้องหาขณะใส่กุญแจเมือ คือ ข้อห้าม!
ครูฝึกตระกูลรักษ์ ย้ำว่า การใช้น้ำหนักตัว หรือ หัวเข่า กดลงไปที่คอหรือตัวผู้ต้องหาในขณะที่ใส่กุญแจมืออยู่กับพื้นนั้นถือเป็นข้อห้ามสำหรับการปฏิบัติในองค์กรตำรวจหลายแห่งทั่วอเมริกา
“เดี๋ยวนี้การฝึกตำรวจที่ชิคาโก ไม่ต่ำว่า 10 ปีมาแล้วที่มีการห้าม โดยมีกฎระเบียบออกมาแล้ว ผมยังจำได้เมื่อปี ค.ศ.2008-2009 มีกฎออกมาเลยว่า ห้ามเอาเข่าไปวาง หรือน้ำหนักตัวไปวาง ตรงคอหรือตรงไหล่ ถ้าเราใส่กุญแจมือแล้ว เพราะจะทำให้มีอาการ Positional asphyxia หรืออาการหายใจไม่ออก หรือกดทับทางเดินหายใจ
ที่ผมเห็นมาในประสบการณ์ของผมตั้งแต่ฝึกมา แล้วก็ทำงานบนถนนมา 7-8 ปี ก่อนจะมาเป็นอาจารย์ในโรงเรียนฝึกตำรวจ ลองคิดดูว่าการขัดขืน หรือว่าเผชิญหน้ากับตำรวจเป็นเรื่องธรรมดาที่ทั้งผู้ต้องหา หรือตำรวจ หรือแม้แต่ผมเอวก็มีอาการตื่นเต้น หัวใจเต้นแรง มีการสูบฉีด สารอะดรีนาลีน ในร่างกาย มากกกว่าปกติ. และจะหายใจแรงขึ้น เพราะต้องการออกซิเจน การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจคนนี้ใช้เข่าดันกดทับอยู่ บางทีคุณฟลอยด์อาจจะไม่ตั้งใจว่าจะลุกขึ้น คนที่เอาเข่าดันอยู่ก็เหมือนกับว่าผู้ต้องหาพยายามขัดขืน แต่จริง ๆ แล้วเขาไม่ได้ขัดขืนเพียงแต่เขาพยายามดิ้นเพื่อหายใจ เหมือนเรารู้สึกจะจมน้ำ ก็ต้องพยายามดิ้นเพื่อหายใจให้ได้ อาจจะทำให้ตำรวจนายนั้นคิดว่าฟลอยด์จะขัดขืน”
ในฐานะครูฝึกตำรวจในอเมริกาที่มีประสบการณ์ทั้งการจับคนร้าย และเป็นครูฝึกมานานกว่า 18 ปี ทำให้เจ้าหน้าที่ตระกูลรักษ์ ต้องนำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาศึกษาวิเคราะห์ ขั้นตอนปฏิบัติ ที่นำไปสู่ข้อผิดพลาดของเหตุการณ์ดังกล่าว
“แล้วที่สำคัญ เรื่องใหญ่ คือ มันมีเวลาครับ มีเวลาตั้ง 8-9 นาทีตั้งแต่เอาฟลอยด์ลงนอนหน้าคว่ำกับพื้นแล้วที่เขาเริ่มเข่ากดลงไป ที่ผมจะพูดเรื่องที่สำคัญที่สุด คือมันมีเวลาที่เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องจะตัดสินใจให้ได้ว่า ควรทำอะไรต่อไป ควรหรือไม่ควร ไม่เหมือนกันกับการที่ตำรวจตัดสินใจยิง หรือว่าโดนยิง หลายครั้งที่เผชิญเหตุในกรณีที่คนร้ายมีอาวุธปืน ที่อาจจะเป็นเสี้ยววินาทีที่ตร.ต้องตัดสินใจ ที่อาจเกิดความผิดพลาดแต่ในกรณีฟลอยด์นี้ไม่ใช่ นี่คือเรื่องที่ใหญ่มาก และเป็นเรื่องที่ผมรับไม่ได้ในเรื่องนี้ แต่ที่รับไม่ได้มากกว่านั้นคือว่า มีตำรวจอีก 3 นายที่เห็น และควรที่จะรู้ ถ้าเราเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ แล้วเราเห็นว่าคู่หูเรา หรือ เจ้าหน้าที่ตำรวจอีกคนทำอะไรที่ผิดอยู่ หน้าที่ของเราจะต้องหยุดยั้งเขาทำทันที ถ้าเราไม่หยุดยั้งเขา ก็หมายความว่าเราโอเคในสิ่งที่เขาทำ หากพบว่าผิดก็จะต้องผิดด้วยกัน"