รู้จัก "มะเร็งโคนลิ้น" ภัยเงียบคร่า "อ.โต้ง" ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ อาจรู้ตัวเมื่อสายเกินไป

รู้จัก "มะเร็งโคนลิ้น" ภัยเงียบคร่า "อ.โต้ง" ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ อาจรู้ตัวเมื่อสายเกินไป

รู้จัก "มะเร็งโคนลิ้น" ภัยเงียบคร่า "อ.โต้ง" ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ อาจรู้ตัวเมื่อสายเกินไป
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

"มะเร็งโคนลิ้น" มีแนวโน้มที่พบมากขึ้นในคนไทย ผู้ป่วยส่วนมากที่เป็นโรคนี้มักจะได้รับการวินิจฉัยในระยะลุกลามแล้ว แนะหากกลืนลำบาก กลืนเจ็บ เลือดออกทางช่องปาก ปวดหู พูดเสียงเปลี่ยน มีก้อนที่คอ รีบพบแพทย์

จากกรณีการเสียชีวิต ด้วยโรคมะเร็งโคนลิ้น ของ "อาจารย์โต้ง-ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ" อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ บุตรชายของอดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 17 "พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ" ที่เสียชีวิตลงอย่างสงบที่ รพ.ศิริราช เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. ที่ผ่านมา สิริอายุ 72 ปี ซึ่งก่อนหน้าที่จะเสียชีวิต "อาจารย์โต้ง" ต้องต่อสู้กับอาการป่วยโรคมะเร็งโคนลิ้นอยู่นานกว่า 5 ปี ทำให้ต้องเข้าออกโรงพยาบาลอยู่บ่อยครั้ง

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า "โรคมะเร็งโคนลิ้น" ทางการแพทย์ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของมะเร็งคอหอยส่วนปากหรือที่เรียกว่ามะเร็งคอหอยหลังช่องปาก แม้ขณะนี้จะพบมะเร็งดังกล่าวได้น้อยในคนไทย

โดยในปี 2558 พบว่ามีผู้ป่วยมะเร็งคอหอยส่วนปากรายใหม่ 674 ราย ซึ่งถือว่าน้อยถ้าเทียบกับจำนวนผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ทั้งหมด ซึ่งมีปีละ 122,757 ราย แต่ก็พบว่ามีแนวโน้มที่จะพบมากขึ้นเรื่อยๆ โดยชนิดของมะเร็งคอหอยส่วนปากที่พบบ่อยที่สุด คือ มะเร็งชนิด Squamous Cell Carcinoma ซึ่งเป็นชนิดเดียวกับมะเร็งศีรษะและลำคอที่พบมากที่สุด

ส่วนสาเหตุของการเกิดมะเร็งคอหอยส่วนปากนั้น เกิดจากการสูบบุหรี่ การดื่มสุรา และการติดเชื้อไวรัส Human Papilloma Virus (HPV) ซึ่งเป็นไวรัสที่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ดังนั้น การมีคู่นอนหลายคนและการมีเพศสัมพันธ์ทางปากจึงอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคนี้ด้วย

ด้าน นพ.จินดา โรจนเมธินทร์ ผอ.สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวถึงอาการของมะเร็งคอหอยส่วนปากว่า ผู้ป่วยมักมีอาการกลืนลำบาก เจ็บคอเวลากลืนอาหาร มีเลือดออกทางช่องปาก ปวดหู พูดเสียงเปลี่ยน มีก้อนที่คอ หากมีอาการเหล่านี้ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย แพทย์จะทำการตรวจร่างกาย ส่องกล้องทางหูคอจมูกเพื่อตรวจในลำคอ หากจำเป็นแพทย์จะสั่งตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หรือตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กเพิ่มเติม

“การรักษามะเร็งคอหอยส่วนปากระยะเริ่มต้นเป็นเรื่องสำคัญที่ประชาชนควรตระหนัก เพราะหากพบระยะเริ่มต้นจะสามารถรักษาอย่างทันท่วงทีและมีโอกาสหายสูง วิธีการรักษา ได้แก่ การให้รังสีรักษา และการผ่าตัด ส่วนการรักษากรณีเป็นมะเร็งระยะลุกลามที่ผ่าตัดไม่ได้ คือ การให้รังสีรักษาควบคู่กับเคมีบำบัด ซึ่งทั้งหมดจำเป็นต้องประเมินโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย เนื่องจากมีปัจจัยที่ต้องคำนึงหลายประการ” ผอ.สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติม

อย่างไรก็ตาม สำหรับการป้องกันโรคทำได้โดยการงดสูบบุหรี่ งดดื่มสุรา รวมถึงมีการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย ที่สำคัญหากมีอาการหรือสงสัยว่ามีความเสี่ยงต่อมะเร็งคอหอยส่วนปาก ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย ซึ่งจะช่วยให้สามารถรักษาได้อย่างทันท่วงทีและลดความเสี่ยงในการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งคอหอยส่วนปากได้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook