จีนถอด “เกล็ดตัวนิ่ม” ออกจากบัญชียา หวังแก้ปัญหาค้าสัตว์ ต้นเหตุ “โควิด-19”

จีนถอด “เกล็ดตัวนิ่ม” ออกจากบัญชียา หวังแก้ปัญหาค้าสัตว์ ต้นเหตุ “โควิด-19”

จีนถอด “เกล็ดตัวนิ่ม” ออกจากบัญชียา หวังแก้ปัญหาค้าสัตว์ ต้นเหตุ “โควิด-19”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

จีนถอด “เกล็ดตัวนิ่ม” ออกจากบัญชีส่วนประกอบยาแผนโบราณที่ได้รับการอนุมัติประจำปี 2020 ถือเป็น “ก้าวสำคัญ” ในการอนุรักษ์ตัวนิ่ม ซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ถูกลักลอบขายมากที่สุดในโลก

เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน ที่ผ่านมา สื่อของรัฐบาลจีนรายงานว่า ใน Chinese Pharmacopoeia ตำรับยาแผนโบราณของจีนและตะวันตกที่ได้รับการแก้ไขครั้งล่าสุด ได้มีการถอดเกล็ดของตัวนิ่มออกจากบัญชีส่วนประกอบยาที่ได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลจีนแล้ว เนื่องจาก “การสูญสิ้นทรัพยากรสัตว์ป่า”

เดวิด โอลสัน ผู้อำนวยการด้านการอนุรักษ์ของ WWF ฮ่องกง กล่าวว่า ท่าทีของจีนในครั้งนี้จะก่อให้เกิดผลกระทบอย่างแท้จริง และเป็นก้าวสำคัญมาก หากมีการอนุรักษ์สัตว์เหล่านี้อย่างจริงจัง

“ความต้องการและการบริโภคตัวนิ่มส่วนใหญ่จะมาจากตำรับยาแผนโบราณของจีน ส่งผลให้เกิดการซื้อขายเกล็ดตัวนิ่มอย่างผิดกฎหมาย” โอลสันกล่าว

การตัดสินใจของทางการจีนครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากที่สำนักงานป่าไม้และทุ่งหญ้าของจีนยกฐานะให้ตัวนิ่มจีนเป็น “สัตว์ป่าคุ้มครองลำดับที่หนึ่ง” ซึ่งเป็นสถานะคุ้มครองที่สูงที่สุด เทียบเท่ากับแพนดาและเสือโคร่ง

อย่างไรก็ตาม โซเฟีย จาง ผู้อำนวยการคณะทำงานเพื่อตัวนิ่มของมูลนิธิอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและการพัฒนาธรรมชาติของจีน กล่าวว่า แม้เธอจะรู้สึกพอใจกับการตัดสินใจครั้งนี้ แต่ก็รู้สึกว่าสายเกินไปเล็กน้อย

ตัวนิ่มเป็นสัตว์กินแมลงที่มีเกล็ดคลุมทั่วตัว ขนาดเท่ากับแมวบ้าน และมีเนื้อและเกล็ดที่มีมูลค่าสูงมากในแถบเอเชีย จากรายงานของ WildAid เมื่อปีที่แล้วเพียงปีเดียว เจ้าหน้าที่ได้ยึดผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับตัวนิ่มได้ถึง 130 ตัน

ตัวนิ่มสามารถแบ่งออกได้เป็น 8 สายพันธุ์ กระจายตัวอยู่ในทวีปเอเชียและแอฟริกา และ 3 สายพันธุ์ที่อยู่ในบัญชีสัตว์ที่มีความเสี่ยงขั้นวิกฤตต่อการสูญพันธุ์ของสหภาพระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (International Union for Conservation of Nature - IUCN) ได้แก่ ตัวนิ่มจีน ตัวนิ่มฟิลิปปินส์ และตัวนิ่มซุนดา ซึ่งพบมากในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในขณะที่อีก 5 สายพันธุ์ ซึ่งรวมถึงตัวนิ่มอินเดีย ถือเป็นสิ่งมีชีวิตที่ใกล้การสูญพันธุ์ หรือสิ่งมีชีวิตที่เกือบอยู่ในข่ายใกล้การสูญพันธุ์

เกล็ดของตัวนิ่มประกอบด้วยเคราติน ที่เป็นวัตถุชนิดเดียวกับที่พบในเล็บของมนุษย์และนอแรด ซึ่งเป็นหนึ่งในส่วนประกอบของยาแผนโบราณของจีน ที่เชื่อกันว่ามีสรรพคุณในการช่วยเรื่องการไหลเวียนของเลือดและลดการอักเสบ

การซื้อขายตัวนิ่มส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อประชากรตัวนิ่มในเอเชีย จากรายงานของ IUCN ประชากรตัวนิ่มในเอเชียลดลงกว่า 90% ตั้งแต่ปี 1960 ในขณะที่การค้าเกล็ดตัวนิ่มเริ่มเฟื่องฟูในทวีปแอฟริกา โดยในช่วงปี 2013 – 2019 ตัวนิ่มสายพันธุ์แอฟริกัน 2 ชนิด ได้แก่ ตัวนิ่มท้องขาวและตัวนิ่มยักษ์ ถูกเปลี่ยนสถานะจากสิ่งมีชีวิตที่เกือบอยู่ในข่ายใกล้การสูญพันธุ์ เป็นสิ่งมีชีวิตที่ใกล้การสูญพันธุ์

แม้ว่าจีนจะห้ามการนำเข้าผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับตัวนิ่มตั้งแต่ปี 2018 แต่การซื้อขายสัตว์ชนิดนี้ก็ยังคงดำเนินต่อไป โดยมีการสกัดจับจากการขนส่งทางเรือ ก่อนจะเข้าประเทศ

สตีฟ เบลค หัวหน้าผู้แทนของ WildAid กรุงปักกิ่ง กล่าวว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จีนมีการเคลื่อนไหวสาธารณะ เพื่อผลักดันให้มีการคุ้มครองตัวนิ่มที่มากขึ้น โดยจะพบว่า ในสื่อโซเชียลของจีน มีผู้ชมการรณรงค์ครั้งนี้กว่า 150 ล้านครั้ง

การเคลื่อนไหวเพื่อคุ้มครองตัวนิ่มครั้งนี้เกิดขึ้นพร้อมกับงานวิจัยชิ้นใหม่ ที่ระบุว่า ตัวนิ่มที่ถูกขังไว้ในตลาดค้าสัตว์ป่าทั่วประเทศจีน เป็นปัจจัยหนึ่งที่ก่อให้เกิดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ก่อนที่จะระบาดสู่มนุษย์

รายงานของทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยดุ๊ก และห้องปฏิบัติการแห่งชาติลอส อลามอส เปิดเผยว่า เชื้อไวรัสดังกล่าวมีการแลกเปลี่ยนยีนซ้ำๆ กับไวรัสสายพันธุ์เดียวกับที่พบในค้างคาว ตัวนิ่ม และสัตว์อีกชนิดหนึ่ง ก่อนที่จะแพร่สู่มนุษย์ นักวิจัยจึงสรุปว่า แม้ว่าจะเร็วเกินไปที่จะบอกว่าตัวนิ่มเป็นต้นเหตุของโรคระบาดใหญ่ แต่ก็ชัดเจนว่า คนเราควรลดการสัมผัสกับสัตว์ป่าที่สามารถแพร่เชื้อโรคชนิดใหม่ได้

แม้ว่าหลังจากการระบาดของโรคโควิด-19 รัฐบาลจีนจะพิจารณาให้การบริโภคสัตว์ป่าทุกชนิดผิดกฎหมาย เพื่อหลีกเลี่ยงการระบาดในอนาคต แต่ผู้เชี่ยวชาญก็ระบุว่า เพื่อให้การห้ามซื้อขายและการห้ามบริโภคมีประสิทธิภาพ มาตรการทั้งสองต้องถูกบังคับใช้โดยเจ้าหน้าที่ พร้อมกับมีการรณรงค์ให้ความรู้แก่ประชาชน เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงการลดความต้องการบริโภคสัตว์ชนิดนี้ และมองเห็นถึงความเสี่ยงจากการบริโภคผลิตภัณฑ์จากตัวนิ่ม รวมทั้งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

ด้านแอรอน ไวท์ นักรณรงค์เกี่ยวกับสัตว์ป่าจากหน่วยงานสืบสวนด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Investigation Agency) ระบุว่า เขายังคงกังวลว่าจะมีการใช้เกล็ดตัวนิ่มในการทำยาต่อไป จากช่องโหว่ทางกฎหมาย เช่นเดียวกับกระดูกเสือดาวและดีหมี เนื่องจากเกล็ดตัวนิ่มถูกระบุไว้ในตำรับยา 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนประกอบในการทำยาในส่วนแรก และในรายการสูตรยาที่ได้รับการจดสิทธิบัตรในส่วนที่สอง ซึ่งยังไม่ได้มีการลบออกไป

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการถอดส่วนประกอบทางยาชนิดนี้ออกทั้งหมดแล้ว แต่จางก็กล่าวว่า เธอกังวลว่า ผลกระทบที่รุนแรงต่อประชากรตัวนิ่มในจีนอาจไม่มีทางย้อนกลับมาแก้ไขได้ จากบทเรียนดังกล่าว เธอจึงแนะนำว่า ควรถอดรายชื่อของสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ทุกชนิดออกจากบัญชียา อย่ารอให้มีสัตว์ตายแล้วค่อยถอดออก เพราะเราจะไม่อาจกลับไปแก้ไขสิ่งที่เกิดขึ้นได้

ติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับ COVID-19 ได้ที่นี่

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook