วธ.ตีกลับสัญลักษณ์เรทติ้งหนังชี้ไม่สากล
ก.ม.หนังวุ่นหนัก คณะกรรมการภาพยนตร์ตีกลับสัญลักษณ์เรทติ้ง ยังไม่ประกาศใช้ ชี้ไม่เป็นสากล สับสน หวั่นประชาชนไม่เข้าใจ
นายธีระ สลักเพชร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เปิดเผยภายหลังประชุมคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ วานนี้ (25 ส.ค.) ว่า จากการที่รัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ 2551 และประกาศใช้การจัดระดับความเหมาะสมของภาพยนตร์ ไปเมื่อวันที่ 12 ส.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมการภาพยนตร์ได้มีการพิจารณาตราสัญลักษณ์ประกอบการจัดระดับความเหมาะสม (เรทติ้ง) ภาพยนตร์ จำนวน 7 ระดับ ได้แก่ 1. ภาพยนตร์ส่งเสริมการเรียนรู้ และควรส่งเสริมให้ดู ใช้สัญลักษณ์ ส (ส่งเสริม)
2. ภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับผู้ดูทั่วไปใช้สัญลักษณ์ ท (ทั่วไป) 3. ภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับผู้มีอายุตั้งแต่ 13 ปีขึ้นไป ใช้สัญลักษณ์ถูกผิดและอักษร น 13+ 4. ภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับผู้มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป ใช้สัญลักษณ์ถูกผิดและอักษร น 15+ 5. ภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับผู้มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ใช้สัญลักษณ์ถูกผิดและอักษร น 18+ และ 6. ภาพยนตร์ที่ห้ามผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปีดู ใช้สัญลักษณ์ถูกผิดและอักษร ฉ 20+ ส่วนเรทติ้งที่ 7 ภาพยนตร์ที่ห้ามเผยแพร่ในราชอาณาจักร ไม่มีสัญลักษณ์แล้ว โดยคณะกรรมการมีมติให้นำสัญลักษณ์กลับไปทบทวนใหม่ โดยเฉพาะตราสัญลักษณ์ที่ 6 เนื่องจากคณะกรรมการเห็นว่าเรทติ้งนี้ควรใช้สัญลักษณ์สายฟ้าฟาด หรือควรให้ตัดสัญลักษณ์ถูกผิดออกไป เพราะเกรงว่าประชาชนจะสับสนกับเรทติ้ง 13,15, และ 18 ปี
นายธีระ กล่าวต่อไปว่า คณะกรรมการยังมีความเห็นว่าควรปรับตราสัญลักษณ์ให้มีความเป็นสากล แต่ทาง วธ.เห็นว่า กฎหมายที่ออกมาเป็นกฎหมายไทย ควรที่จะใช้สัญลักษณ์ที่แสดงความเป็นไทยและอักษรไทย ซึ่งคณะกรรมการก็เข้าใจ ทั้งนี้ ในส่วนของตราสัญลักษณ์ที่ไม่ผ่าน คณะกรรมการได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และพิจารณาข้อกฎหมายในคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์ เร่งดำเนินการแก้ไขตราสัญลักษณ์ จากนั้นให้ดำเนินการประกาศใช้ทันที โดยไม่ต้องนำเข้าสู่การประชุมของคณะกรรมการภาพยนตร์อีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ถึงแม้สัญลักษณ์เรทติ้งจะยังไม่ผ่าน แต่ขอให้โรงภาพยนตร์ขึ้นเป็นข้อความเนื้อหาเรทติ้งแต่ละประเภทไปก่อน ตนคาดว่า สัญลักษณ์เรทติ้ง จะดำเนินการเสร็จเร็วๆ นี้
นายปรัชญา ปิ่นแก้ว ผู้กำกับชื่อดัง ในฐานะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นว่าสัญลักษณ์เรทติ้งภาพยนตร์ที่นำเสนอนั้น มีความคล้ายคลึงกับเรทติ้งโทรทัศน์ เป็นอักษรแสดงภาษาไทย เลขไทย เครื่องหมายถูก ผิด ซึ่งเมื่อรวมเป็นสัญลักษณ์แล้วกลับไม่มีความเป็นสากล และมีรายละเอียดมากเกินไป อีกทั้งยังไม่มีความสวยงาม หากนำไปใช้จริงอาจจะเกิดความสับสนได้ เนื่องจากเกรงว่าประชาชนจะไม่เข้าใจในเนื้อหา ดังนั้น ตนจึงได้เสนอให้คณะอนุกรรมการ กลับไปออกแบบใหม่ทั้งหมด ไม่เฉพาะแต่สัญลักษณ์ ฉ 20+เท่านั้น