ความหวังรับมือ “โควิด-19” จาก 3 งานวิจัยเกี่ยวกับ “ไวรัสโคโรนา”

ความหวังรับมือ “โควิด-19” จาก 3 งานวิจัยเกี่ยวกับ “ไวรัสโคโรนา”

ความหวังรับมือ “โควิด-19” จาก 3 งานวิจัยเกี่ยวกับ “ไวรัสโคโรนา”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เป็นเวลากว่า 6 เดือนแล้ว ที่โลกเราต้องใช้ชีวิตอยู่กับโรคระบาดโควิด-19 ขณะที่นักวิทยาศาสตร์และบุคลากรทางการแพทย์ต่างก็ทำงานอย่างหนักและพยายามทุกวิถีทางในการรับมือกับโรคร้ายนี้ งานวิจัยหลายชิ้นเผยให้เรารู้ถึงความอันตรายของเชื้อไวรัสโคโรนา ต้นเหตุที่ทำให้เกิดโรคโควิด-19 รวมทั้งความหวังในการรักษาโรคนี้ ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนหรือวิธีการรักษาอื่นๆ และต่อไปนี้คือ 3 งานวิจัยล่าสุด ที่จะทำให้โลกมีความหวังในการจัดการกับเชื้อไวรัสชนิดนี้

ไวรัสโคโรนาหลังกลายพันธุ์สามารถแทรกตัวเข้าสู่เซลล์ได้ดีขึ้น

นักวิทยาศาสตร์จาก Scripps Research ในฟลอริดา กล่าวว่า ไวรัสโคโรนาที่กลายพันธุ์แล้วจะถูกพบมากในเดือนมีนาคม และการกลายพันธุ์จะส่งผลให้เชื้อไวรัสมีความสามารถในการทำให้เซลล์ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

จากการศึกษาที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบ นักวิจัยพบว่า การกลายพันธุ์ที่เรียกว่า “D614G” ทำให้ “แท่งตะปู” ของเชื้อไวรัสที่ใช้ในการจับและแทรกตัวเข้าสู่เซลล์มีจำนวนเพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้เชื้อไวรัสมีความแข็งแกร่งมากกว่าเดิม และไวรัสที่กลายพันธุ์แล้วจะมีประสิทธิภาพในการเจาะเข้าสู่เซลล์และทำให้เซลล์ติดเชื้อได้มากขึ้นถึง 9 เท่า การกลายพันธุ์เช่นนี้อาจจะเป็นคำอธิบายว่าเหตุใดการระบาดของโรคโควิด-19 ทางตอนเหนือของอิตาลีและนิวยอร์ก จึงมีมากกว่าประเทศอื่นๆ ที่ประสบกับการระบาดใหญ่ในช่วงแรก

ไมเคิล ฟาร์ซาน หนึ่งในนักวิจัยกล่าวว่า ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าการเปลี่ยนแปลงของเชื้อไวรัสจะกระทบต่ออาการและการแพร่เชื้อมากน้อยแค่ไหน แต่ก็ยากที่จะเชื่อว่าไม่มีผลกระทบ

อย่างไรก็ตาม นักวิจัยระบุว่า เมื่อเทียบกับอนุภาคของไวรัสที่ยังไม่กลายพันธุ์ ไวรัสที่กลายพันธุ์แล้วจะเปราะบางต่อการรักษาด้วยแอนติบอดีจากเลือดของผู้ที่หายป่วยจากโรคโควิด-19

ปอดที่มีโรคจะติดเชื้อไวรัสโคโรนาได้มากกว่า

ผู้ที่มีอาการเกี่ยวกับทางเดินหายใจจะมีความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสูงกว่าคนปกติ เนื่องจากโดยทั่วไป ไวรัสจะแทรกตัวเข้าสู่เซลล์ผ่านโปรตีนตัวรับบนผิวของเซลล์ ที่เรียกว่า “ACE2” ซึ่งนักวิจัยพบว่า ผู้ที่มีอาการ เช่น หอบหืด โรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง ภาวะความดันเลือดในปอดสูง และผู้ที่สูบบุหรี่ จะมีโปรตีนตัวรับ ACE2 ในปอดมากกว่าผู้ที่มีสุขภาพดี จึงมีโอกาสที่จะได้รับเชื้อมากกว่า

อย่างไรก็ตาม จากการวิเคราะห์พันธุกรรมเซลล์ปอดจากคน 700 คน ที่มีอาการเหล่านี้ พบว่าโปรตีนอื่นๆ นอกเหนือจาก ACE2 ส่งผลกระทบต่อ “วงจรชีวิตของเชื้อไวรัส” ซึ่งหมายความว่า โปรตีนเหล่านั้น “อาจมีความสำคัญอย่างมากต่อวงจรเซลล์ของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ และการแทรกตัวของไวรัส รวมทั้งอาจเป็นเป้าหมายอย่างดีในการรักษาและป้องกันร่างกายของผู้ป่วยหนักโรคโควิด-19 ด้วย

ผ้าฝ้ายอาจช่วยป้องกันเชื้อไวรัสได้

ปัญหาหนึ่งที่พบในสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 คือการขาดแคลนอุปกรณ์ป้องกันร่างกายส่วนบุคคล หรือ PPE ในหมู่บุคลากรทางการแพทย์ ทำให้บุคลากรทางการแพทย์จำนวนมากต้องใช้อุปกรณ์ซ้ำ เสี่ยงต่อการติดเชื้อ ขณะเดียวกันก็มีความพยายามหาวิธีการฆ่าเชื้อและทำความสะอาดอุปกรณ์ เพื่อให้สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้อย่างปลอดภัย

ล่าสุด นักวิจัยได้ทดลองทำให้อุปกรณ์ป้องกันและวัสดุต่างๆ 8 ชนิด ปนเปื้อนเชื้อไวรัส ได้แก่ ถุงมือยางสีฟ้า ถุงมือป้องกันสารเคมีเสริมแรง หน้ากากกันเชื้อโรค N-95 และ N-100 เสื้อคลุมทำจากผ้าไทเวค พลาสติก ผ้าฝ้าย และสเตนเลส สตีล พบว่า ไวรัสบนหน้ากากพลาสติกจะลดจำนวนลงหลังจาก 21 วัน ส่วนบนสเตนเลส สตีล และเสื้อคลุมที่ทำจากผ้าไทเวค ไวรัสจะมีจำนวนลดลงหลังจาก 14 วัน บนถุงมือยาง จะลดจำนวนลงหลังจาก 7 วัน และถุงมือป้องกันสารเคมีเสริมแรง ไวรัสจะลดจำนวนลงหลังจาก 4 วันผ่านไป

แต่หลังจากที่ผ้าฝ้ายมีการปนเปื้อนเชื้อไวรัสเพียง 1 ชม. จำนวนของไวรัสที่มีชีวิตกลับลดลงถึง 99.9% และไม่สามารถตรวจพบได้ในเวลาเพียงไม่ถึง 24 ชม.

นักวิจัยระบุว่า ผลการศึกษาครั้งนี้เกี่ยวข้องโดยตรงกับการป้องกันและควบคุมการติดเชื้อ การทำความสะอาดอุปกรณ์ และแนวทางปฏิบัติในการจัดการกับขยะที่เกิดจากการรักษาพยาบาล และการใช้ผ้าฝ้ายสำหรับจัดทำอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการรักษาพยาบาลน่าจะมีความเสี่ยงน้อยลงระหว่างที่มีการจัดการฆ่าเชื้อทำความสะอาดและนำอุปกรณ์กลับมาใช้ซ้ำ

ติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับ COVID-19 ได้ที่นี่

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook