ผลวิจัยชี้ การกดชักโครกอาจทำให้ “เชื้อไวรัสโคโรนา” กระจายในอากาศได้

ผลวิจัยชี้ การกดชักโครกอาจทำให้ “เชื้อไวรัสโคโรนา” กระจายในอากาศได้

ผลวิจัยชี้ การกดชักโครกอาจทำให้ “เชื้อไวรัสโคโรนา” กระจายในอากาศได้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่า การกดชักโครกอาจสร้างกลุ่มละอองลอยขนาดใหญ่ ที่ลอยสูงเกือบ 3 ฟุต ซึ่งอาจจะค้างอยู่ในอากาศนานมากพอที่คนที่ใช้ห้องน้ำต่อจะสูดหายใจเข้าไป หรืออาจหล่นลงบนพื้นผิวในห้องน้ำ ทำให้ผู้ใช้ห้องน้ำติดเชื้อได้ นอกจากนี้ กลุ่มละอองลอยดังกล่าวอาจจะปนเปื้อนอนุภาคของเชื้อไวรัสโคโรนาที่มีอยู่ในอากาศอยู่แล้ว หรือติดอยู่บนฝารองชักโครก

งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Physics of Fluids ระบุถึงหลักฐานเพิ่มเติมที่ยืนยันว่า เชื้อไวรัสโคโรนาไม่เพียงแพร่กระจายผ่านละอองฝอยจากการหายใจเท่านั้น แต่ยังสามารถแพร่ผ่านอุจจาระที่มีการปนเปื้อนเชื้อไวรัสด้วย และในขณะที่ยังไม่มีข้อมูลว่าห้องน้ำสาธารณะหรือห้องน้ำรวมเป็นพื้นที่ที่มีการแพร่เชื้อหรือไม่ นักวิจัยก็ได้ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นในการคำนึงถึงการใช้พื้นที่สาธารณะร่วมกับผู้อื่นในช่วงการระบาดใหญ่

“ละอองลอยที่เกิดจากโถส้วมเป็นสิ่งที่เรารู้กันมาสักระยะแล้ว แต่หลายคนมองข้ามไป งานวิจัยชิ้นนี้ให้หลักฐานมากมายที่ชี้ว่าทุกคนจำเป็นต้องใช้ในการแก้ไขปัญหา” โจชัว แอล. ซานตาร์เปีย ศาสตราจารย์ด้านพยาธิวิทยาและจุลชีววิทยา ศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยเนบราสกา กล่าว

โดยทั่วไป เชื้อไวรัสโคโรนามักจะแฝงตัวอยู่ในปอดหรือทางเดินหายใจส่วนบน แต่งานวิจัยหลายชิ้นค้นพบว่า ไวรัสดังกล่าวสามารถอาศัยอยู่ในตัวรับของเซลล์ในลำไส้เล็กได้ด้วย โดยผู้ป่วยจะมีอาการท้องเสีย คลื่นไส้ และอาเจียนร่วมกับอาการอื่นๆ นอกจากนี้ นักวิจัยยังค้นพบเชื้อไวรัสที่ยังไม่ตายอยู่ในอุจจาระของผู้ป่วย เช่นเดียวกับอาร์เอ็นเอของไวรัส ที่ถูกพบในโถส้วมและอ่างล้างมือในห้องผู้ป่วยในโรงพยาบาล

แบบจำลองคอมพิวเตอร์ของกลไกการกดชักโครก แสดงให้เห็นว่า เมื่อน้ำไหลเข้าสู่โถส้วมจนเกิดน้ำวน น้ำจะเข้าไปแทนที่อากาศในโถ น้ำวนเหล่านี้จะเคลื่อนที่ขึ้นมาและแรงเหวี่ยงจากศูนย์กลางจะผลักละอองฝอยราว 6,000 หยด รวมถึงอนุภาคขนาดเล็กที่ลอยอยู่ในอากาศออกมา และการกดชักโครกจะดันละอองลอยที่เกิดขึ้นเหนือฝารองชักโครกราว 40 – 60% ของละอองที่เกิดขึ้นทั้งหมด

ดร.จี-เซียง หวัง ผู้ศึกษาเกี่ยวกับกลศาสตร์ของเหลวที่มหาวิทยาลัยหยางโจว และเป็นผู้ร่วมวิจัยครั้งนี้ กล่าวว่า ในความเป็นจริง เป็นไปไม่ได้ที่จะทำให้ห้องน้ำสะอาดอยู่ตลอดเวลา และห้องน้ำภายในบ้านก็ต้องรองรับสมาชิกในครอบครัวทุกคน แม้ว่าจะมีผู้ป่วยที่แยกตัวอยู่ในห้องนอนก็ตาม เช่นเดียวกับร้านอาหาร ออฟฟิศ และธุรกิจต่างๆ ที่กลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง และจำเป็นต้องมีห้องน้ำสาธารณะหรือห้องน้ำรวม จึงเป็นเรื่องยากที่จะรักษาระยะห่างทางสังคม

อนุภาคที่ลอยอยู่ในอากาศอาจจะค้างอยู่บนโถส้วม หรือในห้องน้ำที่มีการระบายอากาศไม่ดี ก็จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ดังนั้น ผู้ที่ใช้ห้องน้ำควรระมัดระวังความเสี่ยงจากการสัมผัสพื้นผิว เช่น ลูกบิดประตูหรือก็อกน้ำ

ดังนั้น ดร.หวังจึงแนะนำให้ปิดฝาชักโครกก่อนที่จะกดปุ่มชักโครก ล้างมือให้สะอาดบ่อยๆ โดยเฉพาะเมื่อต้องใช้ห้องน้ำรวม หลีกเลี่ยงการสัมผัสใบหน้า และสวมหน้ากากขณะเข้าห้องน้ำ ก็จะช่วยป้องกันการรับเชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกายได้ ขณะเดียวกันก็หวังว่างานวิจัยชิ้นใหม่นี้จะนำไปสู่การพัฒนาการออกแบบห้องน้ำ รวมทั้งการให้ความสำคัญกับตู้กดสบู่และกระดาษชำระที่ไม่ต้องสัมผัส และโถส้วมที่มีน้ำไหลออกมาทำความสะอาดเมื่อปิดฝาแล้ว

ติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับ COVID-19 ได้ที่นี่

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook