WWF – WHO ยัน “หาประโยชน์จากธรรมชาติในทางที่ผิด” ส่งผลให้เกิดโรคระบาดใหญ่
รายงานใหม่จากกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล หรือ WWF International เปิดเผยว่า การทำลายธรรมชาติโดยฝีมือมนุษย์เป็นปัจจัยหนึ่งที่นำไปสู่การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา ต้นเหตุของโรคโควิด-19 และโรคระบาดใหญ่อื่นๆ ที่จะตามมา หากโลกปฏิเสธสัญญาณเตือนที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ พร้อมเรียกร้องให้มีความพยายามในระดับนานาชาติ เพื่อลดความเสี่ยงของโรคระบาดที่เกิดจากสัตว์ รวมทั้งยุติการค้าและบริโภคสัตว์ป่าที่มีความเสี่ยงสูง การตัดไม้ทำลายป่าอย่างรุนแรง และการเกษตรและปศุสัตว์เชิงอุตสาหกรรมที่กำลังเพิ่มจำนวนมากขึ้น
ขณะเดียวกัน ผู้นำด้านการอนุรักษ์และสาธารณสุขหลายคนต่างออกมาเตือนเกี่ยวกับโรคระบาดใหญ่ที่เกิดขึ้น ซึ่งคร่าชีวิตประชากรโลกแล้วกว่า 439,000 คน พร้อมทั้งเรียกร้องให้มีแผนฟื้นฟูที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมและสาธารณสุข
เอลิซาเบธ มารุมา เมเรมา เลขาธิการอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ เขียนไว้ใน The Independent ว่า ขณะที่โรคโควิด-19 จำเป็นต้องได้รับการจัดการอย่างทันท่วงที แต่ก็จำเป็นต้องมีวิสัยทัศน์ในระยะยาวด้วย เพื่อช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของความสัมพันธ์ระหว่างธรรมชาติ และเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคระบาดใหญ่ในอนาคต
ด้าน ดร.มาเรีย เนรา ผู้อำนวยการขององค์การอนามัยโลก แผนกสุขภาพด้านสาธารณสุข สิ่งแวดล้อม และการกำหนดทางสังคม กล่าวว่า ความท้าทายด้านสุขภาพโลกที่เรากำลังประสบอยู่ทุกวันนี้ ซึ่งรวมถึงโรคติดเชื้อ ภาวะทุโภชนาการ และโรคไม่ติดต่อ ต่างก็มีความเกี่ยวข้องกับความเสื่อมโทรมของความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศ
สภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) ระบุให้โรคระบาดใหญ่และโรคติดเชื้อเป็น “ภัยคุกคามเฉียบพลัน” ต่อชีวิตของมนุษย์ ตั้งแต่เมื่อ 10 ปีก่อน และราว 60% ของเชื้อไวรัสในมนุษย์ที่อุบัติใหม่เป็นเชื้อไวรัสที่มาจากสัตว์ จากรายงานของสถาบันแห่งชาติด้านสุขภาพ (National Institutes of Health)
ในการแถลงข่าวเมื่อวันพุธที่ผ่านมา มาร์โก ลัมแบร์ตินี ผู้บริหารระดับสูงของ WWF International ระบุว่า ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ได้ชี้ชัดแล้วว่า เราต้องทำงานกับธรรมชาติ ไม่ใช่ต่อต้านธรรมชาติ การแสวงหาประโยชน์จากธรรมชาติในทางที่ผิดอย่างไม่ยั่งยืนจะกลายเป็นความเสี่ยงต่อตัวเราทั้งหมด
แม้ว่าเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ประเทศจีนได้ออกกฎห้ามการค้าและบริโภคสัตว์ป่าทั้งหมด รวมทั้งสัตว์แปลกที่เลี้ยงในฟาร์ม และยังพิจารณาแก้ไขกฎหมายเพิ่มเติม แต่ WWF ก็กล่าวว่า การยุติการค้าและบริโภคสัตว์ที่มีความเสี่ยงสูงเท่านั้นยังไม่พอ ต้องมีการจัดการกับการเกษตรเชิงอุตสาหกรรมที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศด้วย เนื่องจากการเกษตรดังกล่าวอาจทำให้มนุษย์ ปศุสัตว์ และสัตว์ป่า เข้ามาสัมผัสใกล้ชิดกันมากกว่าที่เคย