คนไทยแห่ถอนเงินช่วงล็อกดาวน์ 2 ล้านล้านบาท สูงที่สุดในประวัติศาสตร์การกดเงิน
แบงก์ชาติ เผย คนแห่กดเงินสดในเดือน เม.ย. 63 ช่วงรัฐบาลล็อกดาวน์โควิด-19 มากถึง 2.05 ล้านล้านบาท พบแบงก์ 1,000 บาทปลิวว่อน 1.58 ล้านล้านบาท ขณะที่แบงก์ 500 บาท มียอดใช้ 1.9 แสนล้านบาท
วันนี้ (18 มิ.ย.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงรายงานการใช้เงินสดหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจช่วงเดือน เม.ย. 2563 อยู่ที่ 2.05 ล้านล้านบาท ซึ่งถือเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ แม้ว่าจะเป็นช่วงเวลาที่ประเทศไทยเริ่ม “ล็อกดาวน์” ปิดสถานที่เสี่ยงสำคัญๆ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็ตาม
ทั้งนี้ ปริมาณการใช้เงินสดหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจช่วงเดือน เม.ย.2563 ที่ 2.05 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นราว 6.29% เมื่อเทียบกับช่วงสิ้นปี 2562 หรือคิดเป็นมูลค่าที่เพิ่มขึ้นประมาณ 1.21 แสนล้านบาท และหากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นราว 13.3% หรือประมาณ 2.41 แสนล้านบาท อย่างไรก็ตาม หากดูเงินสดที่หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจพบว่า มาจาก 3 ส่วน ทั้งเหรียญกษาปณ์และธนบัตรที่หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ รวมทั้งธนบัตรและเหรียญกษาปณ์ที่กรมธนารักษ์
สำหรับธนบัตรที่หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจในเดือน เม.ย. พบว่า เป็นระดับที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์เช่นกัน ที่ 1.98 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.21 แสนล้านบาท หรือ 6.52% หากเทียบกับสิ้นปีก่อน และเพิ่มขึ้น 2.39 แสนล้านบาท หรือ 13.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
นอกจากนี้ ยังพบว่าธนบัตรที่มีการออกใช้เพิ่มขึ้นนั้นมีหลายชนิดราคา โดยเฉพาะราคา 1,000 บาท ที่มียอดหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจอยู่ที่ 1.58 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.14 หมื่นล้านบาท หรือ 5.40% เมื่อเทียบกับสิ้นปีก่อน และเพิ่มขึ้น 1.23 แสนล้านบาท หรือ 8.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
เช่นเดียวกันธนบัตรชนิดราคา 500 บาท ที่พบว่าปรับตัวเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก โดยมียอดหมุนเวียนในระบบ 1.9 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.78 หมื่นล้านบาท หรือ 17.13% หากเทียบกับสิ้นปีก่อนที่มียอดธนบัตรหมุนชนิดนี้หมุนเวียนที่ 1.62 แสนล้านบาท และยังเพิ่มขึ้นมากหากเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่แล้ว ถึง 3.58 หมื่นล้านบาท หรือ 23.2%
ขณะที่ นายสมบูรณ์ จิตเป็นธม ผู้ช่วยผู้ว่าการ ธปท. เปิดเผยว่า ปริมาณเงินสดหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเดือน เม.ย. ที่อยู่ระดับสูง เป็นผลมาจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่ระบาดอย่างหนักในช่วงเดือน มี.ค. ถึง เม.ย. ส่งผลให้ประชาชนมีการเบิกถอนธนบัตรเป็นจำนวนมาก เนื่องจากรัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ด้วย
นอกจากนี้ การปิดสถานที่หลายแห่งและห้ามการเดินทางเข้าประเทศทุกช่องทาง ทำให้ไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะมีข้อจำกัดในการเดินทางอย่างไรและถึงเมื่อไหร่ สถาบันการเงินจึงเตรียมความพร้อมด้านเงินสด ด้วยการเบิกถอนธนบัตรเพิ่มขึ้นในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือน มี.ค. และต่อเนื่องจนถึงกลางเดือน เม.ย.
โดยเฉพาะชนิดราคา 1,000 บาท เพื่อสำรองไว้ที่สาขาธนาคารพาณิชย์และบรรจุในตู้เอทีเอ็ม เพื่อให้มั่นใจว่ามีธนบัตรเพียงพอให้ประชาชนมาถอนได้ตลอดช่วงเวลาดังกล่าว ประกอบกับเป็นช่วงใกล้สิ้นเดือนที่โดยปกติจะมีการเบิกถอนมากขึ้นอยู่แล้ว ทำให้ยอดการเบิกถอนธนบัตรสูงมากขึ้นกว่าปกติในช่วงปลายเดือน มี.ค.
อย่างไรก็ตาม เงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น ยังมาจากมาตรการช่วยเหลือและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ของภาครัฐที่ออกมาผ่านโครงการต่างๆ โดยเริ่มมีการจ่ายเงินช่วยเหลืองวดแรกในช่วงเดือน เม.ย. โดยสถาบันการเงินมีการเบิกถอนธนบัตรเพิ่มขึ้นสุทธิ 6.45 หมื่นล้านบาท เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่ง ธปท. ได้เตรียมธนบัตรสำรองไว้เพียงพอสำหรับรองรับมาตรการดังกล่าว