“เส้นแบ่งสีชมพู” ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นและเปลี่ยนแปลงในการต่อสู้ของ LGBTQ+

“เส้นแบ่งสีชมพู” ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นและเปลี่ยนแปลงในการต่อสู้ของ LGBTQ+

“เส้นแบ่งสีชมพู” ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นและเปลี่ยนแปลงในการต่อสู้ของ LGBTQ+
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในปัจจุบัน บทสนทนาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องรสนิยมทางเพศ และอัตลักษณ์ทางเพศเริ่มถูกให้ความหมายหรือมีคำอธิบายที่แตกต่างไปจากอดีตที่ผ่านมา ยุคโลกาภิวัตน์ก่อให้เกิดแรงผลักในด้านต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงการขับเคลื่อนเรื่องสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การขับเคลื่อนของกลุ่ม LGBTQ+ อย่างไรก็ตาม การต่อสู้ของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ได้ก่อให้เกิด “เส้นแบ่งสีชมพู” แบ่งแยกประเทศที่หลอมรวมกลุ่มเควียร์ให้เป็นประชากรของสังคมอย่างเต็มรูปแบบ ออกจากประเทศที่พยายามมองหาวิธีเพื่อปิดกั้นกลุ่มคนหลากหลายทางเพศเหล่านี้ กล่าวคือ ขณะที่กฎหมายการแต่งงานของคนเพศเดียวกันและการเปลี่ยนเพศ ถูกมองว่าเป็นสัญญาณของความก้าวหน้าในหลายประเทศทั่วโลก ทว่า ในอีกหลายประเทศ ก็มีการใช้กฎหมายที่เข้มงวดมากกว่าเดิม เพื่อผลักให้การเป็น LGBTQ+ กลายเป็นอาชญากรรม 

ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่แนวคิดเรื่องสิทธิของกลุ่ม LGBTQ+ จะขยายไปทั่วโลก ในช่วงที่แนวคิดแบบเก่าค่อย ๆ เสื่อมสลายไปในยุคโลกาภิวัตน์ การเสื่อมสลายลงไปของแนวคิดเก่านำไปสู่การแพร่กระจายของแนวคิดเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ หรือการเปลี่ยนเพศ ขณะเดียวกันก็มีแรงปะทะจากแนวคิดอนุรักษ์นิยม เช่น การไม่ยอมรับเพศที่หลากหลายของศาสนาบางนิกาย เป็นต้น ทั้งหมดนี้คือพลังที่เกิดขึ้นพร้อมกับการมีเส้นแบ่งสีชมพู โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ผู้คนเริ่มออกมาประกาศตัวว่าเป็น LGBTQ+ เป็นครั้งแรก แม้คนกลุ่มนี้จะอยู่ในทุกสังคม แต่พวกเขาก็ต้องอยู่อย่างหลบซ่อนและซุกซ่อนอัตลักษณ์ทางเพศของตัวเองเอาไว้ การเปลี่ยนแปลงของยุคโลกาภิวัตน์ ทำให้กลุ่ม LGBTQ+ สามารถสร้างอัตลักษณ์ทางการเมืองของตัวเองขึ้นมา พร้อมกับสถานะทางสังคมใหม่ของตัวเอง 

ในหลายพื้นที่ของโลก หลักของเส้นแบ่งสีชมพูและสิทธิของ LGBTQ+ ได้ทำลายวิธีการเก่า ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความแตกต่างทางเพศวิถีและเพศสถานะ ความเข้าใจเรื่องคนที่สนใจในเพศเดียวกัน (Homosexuality) เพิ่มสูงขึ้นในฐานะของอัตลักษณ์หนึ่งที่ควรได้รับสิทธิและการยอมรับ มากกว่าการเป็นพฤติกรรมทางเพศที่ต้องปิดเงียบเอาไว้ ขณะเดียวกัน การมีอัตลักษณ์ทางเพศที่แตกต่างจากเพศกำเนิดถูกมองว่าเป็นสิทธิมนุษยชน หรือเป็นสิ่งที่ทางการแพทย์ควรให้การส่งเสริมและสนับสนุน นอกจากนี้ ในศตวรรษที่ 21 เส้นแบ่งสีชมพูไม่ได้ถูกมองว่าเป็นอาณาเขตที่แบ่งแยกอีกแล้ว แต่มันถูกมองว่าเป็นปริมณฑลที่กลุ่มเควียร์พยายามใช้ประนีประนอมเพื่อสร้างอิสรภาพในพื้นที่ชุมชนที่พวกเขาก่อตั้งขึ้นบนโลกออนไลน์และออฟไลน์ มันคือพื้นที่ที่กลุ่มเควียร์ใช้เดินทางไปมาระหว่างโลกที่เงยหน้าขึ้นมาจากโทรศัพท์สมาร์ทโฟน มาเจอสมาชิกครอบครัวบนโต๊ะทานข้าว หรือที่ ๆ พวกเขาออกมาจากไนต์คลับใต้ดินและกลับสู่พื้นที่ของการเป็นรัฐชาติ ทั้งนี้ ในโลกหนึ่ง เวลาเดินไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว แต่อีกโลกหนึ่ง เวลาก็ผ่านไปอย่างเชื่องช้า

หากย้อนกลับไปมองประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิและเสรีภาพของกลุ่ม LGBTQ+ ในยุคโมเดิร์น การต่อสู้ทั้งหมดจะอยู่ในพื้นที่โลกออนไลน์ ซึ่งเป็นการต่อสู้ที่ไม่จำเป็นต้องเสียเลือดเนื้อ แต่การใช้อินเตอร์เน็ตเพื่อต่อสู้เรียกร้องสิทธิก็อาจต้องเผชิญกับการ “บล็อก” ครั้งใหญ่ เช่น The Great Firewall of China ซึ่งเป็นการตรวจพิจารณาการใช้อินเตอร์เน็ตของพลเมืองในประเทศจีน อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์ต่างประเทศ LGBTQ+ ในประเทศจีนก็หันมาใช้ Weibo เว็บไซต์ออนไลน์ของจีนเพื่อเรียกร้องสิทธิของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในจีน #IamGay ถูกใช้มากกว่า 500,000 ครั้ง และมีผู้เข้ามาเล่าเรื่องราวและประสบการณ์การเป็น LGBTQ+ มากมาย 

ขณะที่ผู้คนค้นพบชุมชน ข้อมูล และเซ็กส์บนโลกออนไลน์มากขึ้น ภัยคุกคามเรื่องความปลอดภัยก็เพิ่มสูงขึ้นด้วยเช่นกัน เช่น การกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ และการแบล็กเมล์ด้วยคลิปวิดีโอ เป็นต้น ในประเทศรัสเซีย กลุ่มเควียร์มีกลุ่มปิดชื่อ Children-404 บนเว็บไซต์ VKontakte ที่คอยให้กำลังใจซึ่งกันและกัน รวมทั้งแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน แต่ในเวลาเดียวกัน ก็มีกลุ่มที่ชื่อว่า Occupy Pedofilia ใช้ช่องทางบนเว็บไซต์ Vkontakte เพื่อหลอกกลุ่มเกย์ และโพสต์วิดีโอการทรมานและทำร้ายเกย์ลงในเว็บไซต์ หรือในอียิปต์ เจ้าหน้าที่ตำรวจในแอปพลิเคชัน Grindr เพื่อล่อจับกลุ่มเกย์ชาวอียิปต์ 

ทั้งหมดนี้คือ “เส้นแบ่งสีชมพู” ของโลกในศตวรรษที่ 21 การต่อสู้เรียกร้องเพื่อสิทธิและเสรีภาพของกลุ่มที่คนมีความหลากหลายทางเพศในช่องทางออนไลน์ ก็สร้างการตระหนักรู้ให้กับคนในสังคม และมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าการออกมาเดินขบวนเรียกร้องเพื่อเปลี่ยนแปลงกฎหมายและนโยบายที่เอื้อให้เกิดประโยชน์กับกลุ่ม LGBTQ+ นั่นเอง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook