กมธ.ป.ป.ช.ลั่นฟันไม่เลี้ยง กอร์ปศักดิ์-น้องชาย ถ้าหลักฐานถึง

กมธ.ป.ป.ช.ลั่นฟันไม่เลี้ยง กอร์ปศักดิ์-น้องชาย ถ้าหลักฐานถึง

กมธ.ป.ป.ช.ลั่นฟันไม่เลี้ยง กอร์ปศักดิ์-น้องชาย ถ้าหลักฐานถึง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ดีเอสไอส่งทีมลงพื้นที่ตรวจสอบร้องเรียนทุจริตโครงการพอเพียง จัดซื้อตู้น้ำหยอดเหรียญพลังงานแสงอาทิตย์ กมธ.ป.ป.ช. ประกาศฟันไม่เลี้ยง กอร์ปศักดิ์-น้องชาย ถ้าหลักฐานเชื่อมโยงถึง

จากกรณี มติชน ลงพื้นที่ตรวจสอบการดำเนินโครงการชุมชนพอเพียงในหลายชุมชนของ จ.ชัยภูมิ พบว่ามีกลุ่มบุคคลเข้าไปชี้นำให้ชุมชนทำโครงการซื้อปุ๋ยสำเร็จรูป โดยกล่าวอ้างว่า หากสั่งซื้อปุ๋ยสำเร็จรูปจากบริษัทตนแล้ว โครงการที่เสนอขอไปจะได้รับอนุมัติงบฯจากสำนักงานเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อยกระดับชุมชน (สพช.) แน่นอน เนื่องจากมีสายสัมพันธ์กับเจ้าหน้าที่ภายใน พร้อมทั้งยังช่วยดำเนินการด้านเอกสารขอโครงการให้ทั้งหมด โดยประธานชุมชนทำหน้าที่เพียงแค่ลงชื่อเท่านั้น และหลังส่งเอกสารผ่านอำเภอไปยัง สพช.เพียงไม่กี่วัน ตัวแทนบริษัทได้นำปุ๋ยสำเร็จรูปจำนวนหนึ่งมาส่งมอบ ทั้งที่หลายแห่งยังไม่ได้รับอนุมัติโครงการ โดยเบื้องต้นสินค้าปุ๋ยที่ชุมชนต่างๆ ได้รับไป เป็นยี่ห้อ ม้าเงา ปรากฏชื่อ ห้างหุ้นส่วนจำกัด (หจก.) ฟุกเทียนสุราษฎร์การเกษตร ตั้งอยู่เลขที่ 62/2 หมู่ 2 ต.กะแตะ อ.กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี เป็นผู้ผลิต

จากการตรวจสอบข้อมูลการจดทะเบียนจัดตั้ง หจก.ฟุกเทียนฯ จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่าจดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2536 ปัจจุบันยังดำเนินกิจการอยู่ มีทุนจดทะเบียน 4,500,000 บาท ประกอบธุรกิจสินค้าเพื่อการเกษตร-ค้าปลีก ขนาดเล็ก ปรากฏชื่อ นายธรรมยุทธ์ เจนพิชิตกุลชัย เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ และมีชื่อ พล.อ.ชัยสิทธิ์ ชินวัตร ญาติ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และนางจันเพ็ญ เจนพิชิตกุลชัย เป็นกรรมการ

เมื่อผู้สื่อข่าวโทรศัพท์สอบถามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจาก หจก.ฟุกเทียนฯ ตามเบอร์โทรศัพท์ที่ปรากฏไว้ด้านข้างถุงปุ๋ยที่มีการนำไปส่งมอบให้กับชุมชนต่างๆ แต่เจ้าหน้าที่ไม่สามารถให้ข้อมูลได้ โดยขอให้ผู้สื่อข่าวทิ้งเบอร์โทรศัพท์ไว้และจะติดต่อกลับมาอีกครั้ง เมื่อผู้สื่อข่าวขอเบอร์โทรศัพท์เพื่อติดต่อนายธรรมยุทธ์ แต่เจ้าหน้าที่ปฏิเสธโดยระบุว่า ขณะนี้นายธรรมยุทธ์เดินทางไปต่างจังหวัด แต่จะแจ้งเรื่องให้นายธรรมยุทธ์รับทราบ เพื่อให้ติดต่อกลับมาอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม นอกจากการตรวจพบความไม่ชอบมาพากลกรณีกลุ่มบุคคลอ้างเป็นตัวแทนบริษัทจำหน่ายปุ๋ยไปล็อบบี้ชุมชนต่างๆ ใน จ.ชัยภูมิ แล้วยังพบพฤติการณ์ดังกล่าวที่ชุมชนหลายแห่งใน จ.มหาสารคาม และมีปัญหาลักษณะเดียวกันอีก ซึ่งจากการลงพื้นที่ตรวจสอบข้อมูลการซื้อปุ๋ยอินทรีย์สำเร็จรูปของชุมชนจำนวน 12 แห่งใน ต.วังยาง อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม ซึ่งได้รับอนุมัติงบประมาณ 400,000-500,000 บาท พบว่าทุกชุมชนสั่งซื้อปุ๋ยยี่ห้อและชนิดเดียวกันหมด มีขั้นตอนการจัดทำโครงการเหมือนกันหมด เริ่มจากกลุ่มบุคคลเข้าไปอ้างกับกรรมการชุมชนว่า หากสั่งซื้อสินค้าจากบริษัทของตน จะได้รับอนุมัติโครงการอย่างแน่นอน มิหนำซ้ำยังนำสินค้ามามอบให้ก่อน ทั้งที่มีเพียงชุมชนเดียวจาก 12 ชุมชนเท่านั้นที่ได้รับการอนุมัติงบฯ

นายวาสนา ศรีอุดม อายุ 47 ปี ผู้ใหญ่บ้านโนนทัน หมู่ 11 ต.วังยาว อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม กล่าวว่า ชาวบ้านลงมติว่าต้องการได้ปุ๋ยอินทรีย์มาใช้ เนื่องจากในช่วงนั้นใกล้ฤดูเพาะปลูกแล้ว แต่เสนอโครงการไปนานหลายสัปดาห์ ยังไม่มีวี่แววว่าจะได้รับอนุมัติ จนกระทั้งเมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา มีตัวแทนบริษัทขายปุ๋ยรายหนึ่งเข้ามาหาที่หมู่บ้าน พร้อมยืนยันว่าสามารถช่วยเดินเรื่องให้โครงการผ่านการอนุมัติ หากซื้อสินค้ากับบริษัทของตน เมื่อสอบถามผู้ใหญ่บ้านหมู่ใกล้ๆ กันได้รับแจ้งว่า ทุกชุมชนใน ต.วังยาว ตัดสินใจสั่งซื้อปุ๋ยจากบริษัทแห่งนี้หมดแล้ว ที่ประชุมชาวบ้านจึงยอมซื้อปุ๋ยกับบริษัทแห่งนี้ 484 ถุง ถุงละ 50 กิโลกรัม ราคาถุงละ 740 บาท จากนั้นไม่นานตัวแทนรายนี้ก็นำสินค้าปุ๋ยมาส่งให้ชุมชน

"เขาบอกว่าไม่เป็นไร เรื่องเงินไม่มีปัญหา ชาวบ้านเอาปุ๋ยไปใช้ได้เลย ผมเลยเอาปุ๋ยมาแจกจ่ายให้ชาวบ้านหลังคาละ 4 ถุง ตอนนี้ใช้หมดแล้ว แต่โครงการเรายังไม่ได้รับอนุมัติเลย เงินก็ยังไม่ได้ ไม่รู้ว่าบริษัทจะมาท้วงค่าปุ๋ยหรือเปล่า" นายวาสนากล่าว

ส่วนกรณีที่ราคาปุ๋ยที่สูงถึง 740 บาทต่อถุง ขณะที่ชุมชนอื่นเฉลี่ยอยู่ที่ 500 บาทต่อถุงนั้น นายวาสนา กล่าวว่า ตัวแทนบริษัทปุ๋ยแจ้งให้ทราบว่าสาเหตุที่ราคาสูงถึง 700 กว่าบาท เพราะในขั้นตอนการเดินเรื่องเพื่อให้ สพช.อนุมัติโครงการ ต้องมีค่าใช้จ่ายพิเศษด้วย ส่วนจะเป็นค่าอะไรนั้นตนไม่ทราบ ภายหลังมีข่าวไม่ชอบมาพากลขึ้น ตัวแทนบริษัทปุ๋ยไม่กลับมาติดต่ออะไรอีกเลย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการตรวจสอบปุ๋ยที่นำมามอบให้ชุมชนทั้ง 12 แห่งใน ต.วังยาว พบว่าล้วนแล้วแต่เป็นผลิตภัณฑ์ยี่ห้อ ม้าเงา ของ หจก.ฟุกเทียนฯ ทั้งสิ้น แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าราคาปุ๋ยที่แต่ละชุมชนตกลงซื้อ จะไม่เท่ากัน มีตั้งแต่ 650, 700 และ 800 บาทต่อถุง ทั้งๆ ที่ชนิดของสารประกอบไม่แตกต่างกัน น้ำหนัก 50 กิโลกรัมเท่ากัน ขณะที่ชาวบ้านหลายรายระบุว่าใช้ไม่ได้ผลเท่าที่ควร

วันเดียวกัน พ.อ.ปิยะวัฒก์ กิ่งเกตุ ผู้บัญชาการสำนักคดีอาญาพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กล่าวถึงการตรวจสอบการทุจริตโครงการเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อยกระดับชุมชน (ศพช.) ว่า พ.ต.ท.กรวัชร ปานประภากร ผอ.ส่วนคดีอาญาพิเศษ 1 จะนำชุดพนักงานสอบสวนคดีพิเศษลงพื้นที่ตรวจสอบการดำเนินโครงการดังกล่าว ในการตรวจสอบของดีเอสไอจะลงพื้นที่ตรวจสอบเฉพาะบางโครงการที่มีการร้องเรียนทุจริตมาก และมีข้อมูลค่อนข้างชัดเจนว่าน่าจะมีมูลความผิดฐานฮั้วประมูล อาทิ การจัดซื้อตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งราคาในท้องตลาดเฉลี่ยตู้ละ 30,000 บาท แต่โครงการชุมชนพอเพียงจัดซื้อตู้ละกว่า 100,000 บาท

"สัปดาห์นี้ น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส.พรรคเพื่อไทย นัดจะเข้าให้ข้อมูลเพิ่มเติมพร้อมมอบเอกสารหลักฐานตรวจสอบการทุจริตที่คณะติดตามพรรคเพื่อไทยได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลรวบรวมมอบให้ดีเอสไอรับไปตรวจสอบต่อ ทั้งนี้ หลังรับข้อมูลเพิ่มเติมดังกล่าวแล้วจึงจะเดินหน้าหาความชัดเจนต่อไปได้"พ.อ.ปิยะวัฒก์กล่าว

ด้านนายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในฐานะคณะกรรมการตรวจสอบการทุจริตในโครงการชุมชนพอเพียง กล่าวว่า สมาชิกของ ปชป.ที่คณะกรรมการสรุปว่ามีความผิดฐานเข้าไปชี้นำเพื่อให้ซื้อสินค้าบางประเภทในโครงการชุมชนพอเพียง มีจำนวนทั้งหมด 4 คน แต่ทุกคนไม่ได้เป็น ส.ข. เป็น ส.ข.แค่ 2 คน ส่วนอีก 2 คนเป็นแค่สมาชิกพรรค ส่วนรายชื่อหากต้องการทราบให้ไปถามนายเจริญ คันธวงศ์ ส.ส.สัดส่วน ในฐานะประธานคณะกรรมการเอาเอง

ด้านนายสาธิต ปิตุเตชะ ส.ส.ระยอง และกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีการนัดประชุมกรรมการบริหารเพื่อพิจารณาบทลงโทษสมาชิกพรรคทั้ง 4 คน ตามที่ของนายเจริญเสนอมา โดยบทลงโทษจะพิจารณาตามข้อบังคับพรรคว่า มีการกระทำที่ทำให้พรรคเสื่อมเสียชื่อเสียงหรือไม่ หากเสื่อมเสียชื่อเสียง ก็จะมีโทษทั้งการตักเตือน ปลดออก หรือไล่ออก โดยจะพิจารณาจากรายงานของนายเจริญเป็นหลักว่าเสนอบทลงโทษสมาชิกเหล่านั้นอย่างไรบ้าง โดยผู้มีอำนาจเรียกประชุมคือ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะเลขาธิการพรรค แต่จนถึงวันนี้นายสุเทพยังไม่ได้ส่งสัญญาณจะเรียกประชุมเลย

ขณะที่นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ ส.ส.กทม. ปชป. ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ (กมธ.ป.ป.ช.) สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า กมธ.จะเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องทุจริตโครงการชุมชนพอเพียงตามที่ชาวบ้านใน อ.เมืองเก่ากบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี มาให้ข้อมูล

"ยืนยันว่าไม่มีผู้ใหญ่ภายในพรรคมาขอไม่ให้ตรวจสอบเรื่องนี้ หากหลักฐานเชื่อมโยงถึงไม่ว่าคนๆ นั้นมีแบ๊คดีอย่างไร แต่ตนก็ต้องฟัน ไม่ว่าจะเป็นตัวรองนายกฯหรือน้องชายเองก็ตาม ในส่วนของกบินทร์บุรีอาจต้องเชิญนายประโภชฌ์ สภาวสุ อดีตรอง ผอ.สพช.มาให้ข้อมูลด้วย เพราะมีชาวบ้านพาดพิงถึงว่าเป็นคนที่นำเงินไปคืน พร้อมบอกกับชาวบ้านว่าอย่าเอาเรื่อง" นายวิลาศ กล่า

ส่วนข่าวความไม่โปร่งใสในการใช้งบฯชุมชนพอเพียงไปจัดซื้อปุ๋ยจาก หจก.ฟุกเทียนฯ ในหลายจังหวัดทั่วภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นายวิลาศ กล่าวว่า อยากให้ผู้ที่มีข้อมูลนำมาให้กับ กมธ. ไม่ว่าจะเป็นสื่อ หรือฝ่ายค้าน เพื่อเป็นการชี้เป้าให้ กมธ.ลงไปตรวจสอบได้ถูกจุด จะให้ไปสุ่มตรวจในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง คงเป็นไปได้ยาก

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook