มอง “ผู้ลี้ภัย” ผ่านสายตาคนไทยที่อยากเห็นมนุษยธรรม
การหายตัวไปของ “วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์” NGO ผู้ซึ่งลี้ภัยทางการเมืองอยู่ในประเทศกัมพูชา นับเป็นอีกครั้งที่คำว่า “ผู้ลี้ภัย” ปรากฏในความรับรู้ของคนไทย จากที่ผ่านมาสังคมไทยดูจะไม่ได้ให้ความสนใจกับประเด็นนี้มากนัก แม้จะมีผู้ลี้ภัยเดินทางเข้ามาและอาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นจำนวนมากก็ตาม หรือหากมีการพูดถึง ก็จะเป็นภาพของอาชญากรหรือภาระของประเทศ ประกอบกับการที่ประเทศไทยไม่ได้มีกฎหมายรองรับผู้ลี้ภัย ส่งผลให้คนกลุ่มนี้ต้องมีชีวิตอยู่อย่างหลบซ่อน เพราะการเปิดเผยตัวอาจทำให้พวกเขาต้องพลัดพรากจากครอบครัวและสูญเสียอิสรภาพไปชั่วชีวิต
แต่ในแง่ของมนุษยธรรม ผู้ลี้ภัยก็เป็นมนุษย์ที่มีเลือดเนื้อและความใฝ่ฝันไม่ต่างจากคนอื่นๆ ดังนั้น คนกลุ่มนี้จึงจำเป็นต้อง “ถูกมองเห็น” เพื่อให้ได้รับความช่วยเหลือ การมองเห็นผู้ลี้ภัยจะให้อะไรกับตัวเราและสังคมไทย มาหาคำตอบไปพร้อมกัน
ผู้ลี้ภัยในสายตาศิลปิน
เป็นที่รู้กันดีว่าประเทศไทยไม่ได้เป็นภาคีของอนุสัญญาว่าด้วยผู้ลี้ภัยของสหประชาชาติ ปี 2494 และไม่มีกฎหมายรับรองสถานภาพของผู้อพยพ และผู้แสวงหาที่ลี้ภัย ดังนั้น ประเทศไทยจึงไม่ใช่สถานที่รองรับการลี้ภัย ผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่ที่เข้ามานั้น จะหนีภัยสงครามและการเมืองเข้ามาในประเทศไทยด้วยวีซ่านักท่องเที่ยว เมื่อวีซ่าหมดอายุ ก็ต้องอยู่อย่างหลบซ่อน เพื่อไม่ให้ถูกจับกุมตัว เงื่อนไขทางกฎหมายเช่นนี้เป็นปัจจัยลำดับแรกๆ ที่ทำให้เราไม่สามารถมองเห็นผู้ลี้ภัยได้ ประกอบกับแนวคิดชาตินิยมที่ทำให้เรามองผู้ลี้ภัยเป็นคนอื่น รวมทั้งทัศนคติที่มองว่าคนเหล่านี้เป็นผู้ที่เข้ามากอบโกยผลประโยชน์ของประเทศไทย ก็ทำให้เรามองข้ามความเป็นมนุษย์ของคนเหล่านี้ นำไปสู่การต่อต้าน โจมตี หรือมองไม่เห็นว่าคนเหล่านี้มีตัวตนและต้องการความช่วยเหลือ
คุณจิรวัฒน์ เอื้อสังคมเศรษฐ์ ศิลปินวิดีโอและภาพยนตร์ ผู้จัดนิทรรศการ “ฉันไม่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในโลกความจริงของคุณ" ที่ว่าด้วยชีวิตของผู้ลี้ภัยในเมือง ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้เปิดเผยถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการทำงานกับผู้ลี้ภัยว่า นอกจากคนไทยจะไม่รับรู้การมีอยู่ในเชิงกายภาพของผู้ลี้ภัยแล้ว ยังมองไม่เห็นถึงเรื่องราวเบื้องหลังของคนเหล่านี้ด้วย
“เรามักจะมองเห็นเขาในอีกแบบหนึ่ง คือมองว่าทำไมเขาต้องมาอยู่ประเทศเรา คิดจะมาทำอะไร แต่ถ้าไปดูจริงๆ ผู้ลี้ภัยส่วนมากก็ไม่ได้อยากอยู่ประเทศไทย เขาอยากไปต่อประเทศที่สาม ซึ่งมันอาจจะสะท้อนได้ว่าการมองไม่เห็น มันก็มีได้หลายระดับ บางครั้งความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน และเรามองไม่เห็นสิ่งที่เป็นแกนของเขา มันก็อาจจะเรียกได้ว่าเรามองไม่เห็นเขา เรามองไม่เห็นความเป็นมนุษย์ของเขา” คุณจิรวัฒน์กล่าว
คุณจิรวัฒน์เล่าว่า การรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยเป็นเวลานาน 2 ปี เพื่อจัดทำนิทรรศการ ถือเป็นการ “เปิดตา” ให้เขารู้ว่าที่จริงแล้ว ผู้ลี้ภัยไม่ใช่แค่คนที่อยู่ในค่ายตามชายแดน แต่อยู่ใกล้ตัวเขามากกว่าที่คิด นั่นคือกลุ่ม “ผู้ลี้ภัยในเมือง” ซึ่งมีสถานะและตัวตนที่เลือนรางยิ่งกว่ากลุ่มที่อยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย
“ผู้ลี้ภัยในเมืองส่วนมากเข้ามาในประเทศไทยเพราะว่าเรามี UNHCR ที่จะช่วยให้เขาได้ไปอีกประเทศหนึ่ง แต่กลายเป็นว่ากระบวนการที่จะไปประเทศที่สามมันนานมากจนวีซ่าเขาขาด ต้องมีชีวิตอยู่ในพื้นที่แคบๆ แม้ว่าจะสามารถออกมาเจอโลกภายนอกบ้าง แต่ก็ไม่สามารถเปิดเผยตัวตนได้ ทำให้ตัวตนของผู้ลี้ภัยไม่ถูกมองเห็น และถ้าเขาโชคร้าย ถูกจับ เขาก็ต้องติดคุกเลย ถ้าโชคร้ายกว่านั้น คือไม่มีเงินประกันตัว ผมคิดว่าการถูกคุมขังโดยที่ไม่รู้ว่าจะมีโอกาสจะได้รับการปล่อยตัวหรือไม่ มันก็เป็นนรกแบบหนึ่ง เป็นความทุกข์ทรมานแบบหนึ่ง” คุณจิรวัฒน์เล่า
“ผู้ต้องกัก” ใน ตม.
ชีวิตในฐานะ “ผู้ต้องกัก” ของผู้ลี้ภัยที่ถูกควบคุมตัวในสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจะเป็นอย่างไรนั้น น้อยคนที่จะได้รู้เห็น แต่เรามักจะได้ยินได้ฟังจากการบอกเล่าของคุณศักดา แก้วบัวดี นักแสดงที่ได้ชื่อว่าเป็น “เพื่อนของผู้ลี้ภัย” ที่นอกจากจะไปเยี่ยมเยียนผู้ลี้ภัยใน “ศูนย์กักขัง” แล้ว ยังเคยประกาศระดมทุนช่วยเหลือครอบครัวผู้ลี้ภัย ให้สามารถเดินทางไปยังประเทศที่สามหลายครั้ง
คุณศักดาเล่าว่า เขาได้รู้จักกับผู้ลี้ภัยครั้งแรกเมื่อปี 2017 เมื่อเพื่อนชาวฝรั่งเศสฝากให้เขานำอาหารไปเยี่ยม “เอริก” ผู้ลี้ภัยชาวคองโก และเขาพบว่ามีผู้ลี้ภัยหลายเชื้อชาติถูกคุมตัวอยู่ในศูนย์ จึงขอให้เอริกหาข้อมูลของผู้ลี้ภัยคนอื่นๆ มาให้ เพื่อจะได้ติดต่อขอเข้าเยี่ยมคนอื่นๆ ได้
“พอได้เยี่ยมห้องอื่น ก็เริ่มเห็นว่ามีคนแก่ มีเด็กอยู่ในนั้น เด็กบางคนโดนจับมาทั้งครอบครัว แม่จะถูกแยกไปห้องกักกันหญิง พ่อจะถูกแยกไปห้องกักกันชาย ลูกก็จะถูกแยกไปอีกห้อง ซึ่งทั้งครอบครัวจะไม่ได้เจอกันเลย การที่จะให้ทั้งครอบครัวมาเจอกัน ต้องมีคนเยี่ยมตามจำนวน เช่น ครอบครัวนี้มีกัน 4 คน ผมก็ต้องพาคน 4 คน ไปเยี่ยม 4 คนนี้ เพื่อให้ทุกคนได้ออกจากห้องมาเจอกัน นั่นคือจุดเริ่มต้นที่ผมเข้าไปเยี่ยม แล้วก็ไม่เคยหยุดเลยในช่วงครึ่งปีแรก”
คุณศักดาอธิบายว่า ผู้ลี้ภัยเหล่านี้ต้องถูกคุมตัว 24 ชม. ในห้องที่แออัด การเข้าไปเยี่ยมจะทำให้พวกเขาได้ออกมาที่ห้องเยี่ยมและพูดคุยกับคนอื่นๆ และจะได้กินอาหารนอกเหนือจากที่ศูนย์กักขังจัดหาให้ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่เติมเต็มจิตใจของผู้ลี้ภัย นอกจากนี้ การเข้าเยี่ยมผู้ลี้ภัยยังทำให้เขาได้รับรู้เรื่องราวของคนเหล่านี้ บางคนมีสมาชิกในครอบครัวอาศัยอยู่ข้างนอก จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้คุณศักดาเริ่มนำอาหารและของใช้จำเป็นไปเยี่ยมผู้ลี้ภัยในเมืองด้วย
“หลายคนที่เขาถูกแยกกันไปด้วยเหตุผลหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น ตม. ถูกขังคนละห้อง แค่มีคนไปเยี่ยมแล้วเขาได้ออกจากห้องมาเจอหน้ากัน ผมเห็นเขาเจอกัน ร้องไห้ เราก็มีความสุขไปด้วย ถ้าได้ไปอยู่ในประเทศที่ปลอดภัยมากกว่านี้ มีอิสระมากกว่านี้ ก็ยิ่งดี ผมก็เลยคิดว่าสิ่งที่เขาต้องการมากที่สุดคืออยู่พร้อมหน้าพร้อมตากัน และอยู่ในพื้นที่ที่ปลอดภัย” คุณศักดากล่าว
การพบปะและรับฟังเรื่องราวของผู้ลี้ภัย ทำให้คนธรรมดาอย่างคุณศักดาหันมาทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ได้อย่างไม่คาดคิด นั่นคือการติดต่อสถานทูตในประเทศต่างๆ ที่รองรับผู้ลี้ภัย และส่งครอบครัวผู้ลี้ภัยให้เดินทางไปยังประเทศที่สาม ด้วยเงินเก็บของตัวเองและการระดมทุนจากเพื่อนในโลกออนไลน์ ซึ่งครอบครัวที่ได้รับการพูดถึงมากที่สุด คือครอบครัวของ “เหนีย” ชาวม้งที่เป็นคริสเตียนจากทางตอนเหนือของเวียดนาม ที่หนีการปราบปรามของรัฐบาลเวียดนามไปยังประเทศลาว ก่อนจะล่องเรือพาภรรยาและลูกสาว 5 คน ฝ่าพายุข้ามแม่น้ำโขงมายังประเทศไทย ก่อนที่เหนียจะถูกจับที่กรุงเทพฯ ขณะเดินทางกลับจากการติดต่อ UNHCR
“วันที่เหนียโดนจับวันแรก จนกระทั่งวันสุดท้ายที่ผมได้ช่วยให้เขาได้ไปฝรั่งเศส เป็นเวลา 9 ปีครึ่ง นั่นคือระยะเวลาที่เขาไม่เคยเจอหน้าลูกและเมียอีกเลย ลูกคนเล็กที่อายุ 2 เดือน ช่วงที่โดนจับ กว่าจะได้เจอกันครั้งแรก ลูกคนนั้นก็อายุ 10 ขวบแล้ว วันที่เขาเจอกันครั้งแรกในสถานทูต ลูกจำพ่อไม่ได้ แต่ลูกคนโตจำได้ดี เจอกันครั้งแรกเขาก็โผกอดกันร้องไห้ในสถานทูต” คุณศักดาย้อนภาพในอดีต ก่อนเล่าเสริมว่า หลังจากนั้น ครอบครัวนี้ต้องรับโทษโดยการถูกคุมขังในข้อหาเข้าเมืองผิดกฎหมาย และขณะนี้ทุกคนเป็นอิสระ ได้ไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่ประเทศฝรั่งเศสแล้ว
นอกจากกรณีของเหนียแล้ว อีกครอบครัวที่หลายคนติดตามเรื่องราวจากเฟซบุ๊กของคุณศักดา ก็คือ “บ็อกเซอร์” อดีตนักมวยชื่อดังชาวปากีสถาน ที่นับถือศาสนาคริสต์ และถูกชุมชนชาวมุสลิมโจมตี ทำให้ภรรยาและลูกชายถูกทำร้ายจนบาดเจ็บและพิการ เมื่อเขาและครอบครัวหนีมายังประเทศไทย ก็พบว่าเงินในบัญชีธนาคารที่ปากีสถานถูกยึด บ้านก็ถูกเผาทำลาย และหลังจากนั้น ภรรยาของเขาก็ถูกจับกุมตัวและถูกขังในศูนย์กักขัง ซึ่งบ็อกเซอร์ก็ทำอาหารไปเยี่ยมภรรยาทุกวัน จนได้พบกับคุณศักดา
“ผมสงสัยว่าทำไมคนนี้มาทุกวันเลย ก็เลยเข้าไปคุย ได้รู้ประวัติของเขา ผมก็เลยไปติดต่อสถานทูตแคนาดา เล่าให้เขาฟังว่าภรรยาเขาโดนทำร้ายร่างกายมา แล้วโดนขังอยู่ใน ตม. เข้าปีที่ 4 แล้ว แล้วก็ลูกๆ ทั้ง 3 คน มีคนหนึ่งที่ป่วยมาก ต้องการหมอ ไม่กี่วันต่อมาท่านทูตก็อีเมลกลับมาว่าจะรับเรื่องไว้พิจารณา ก็รอประมาณ 8 เดือน ถึงได้รับเรื่องจากทางสถานทูตว่าเขาตกลงรับครอบครัวนี้ ตอนนี้เขาก็ไปใช้ชีวิตอยู่ที่แคนาดา” คุณศักดาเล่า
แม้ว่าภารกิจช่วยเหลือผู้ลี้ภัยของคุณศักดาจะได้รับการสนับสนุนจากคนในโลกออนไลน์เป็นจำนวนมาก แต่ขณะเดียวกัน เขาก็ถูกโจมตีอย่างรุนแรงจากคนที่ไม่เห็นด้วยกับการช่วยเหลือผู้ลี้ภัย รวมทั้งเจ้าหน้าที่ทางการ
“ผมท้อมากที่โดนโจมตี เพราะผมก็คนหัวเดียวกระเทียมลีบ ไม่มีเส้นสายอะไร ถ้าผมโดนจับไปก็กลัว ก็หยุดไปเลย 1 เดือน ไม่ติดต่อใคร ไม่เอาอาหารไปให้ใคร แต่การหยุดของผม คนที่รอความช่วยเหลือเขาไม่ได้หยุดรอความช่วยเหลือจากผม เขาก็ส่งข้อความมา โทรมา ผมจะทิ้งไปแบบนี้ก็ไม่ได้ ก็โอเค กลับมารายแรกก็เป็นเคสที่ลูกไม่มีนมกิน แล้วเขาก็ไม่สบาย วันรุ่งขึ้นผมก็เอานมเอาข้าวยัดใส่ท้ายรถ แล้วก็เอาไปให้ครอบครัวนี้ แล้วหลังจากนั้นจนถึงทุกวันนี้ ผมก็ไม่ได้หยุดอีกเลย”
ทำไมเราต้อง "มองเห็น" ผู้ลี้ภัย
3 ปี กับการเยี่ยมเยียนและช่วยเหลือผู้ลี้ภัย คุณศักดายอมรับว่าเป็นภาระที่หนักหน่วงไม่น้อย แต่เขามองว่าเป็น “กิจวัตร” ที่เขาต้องทำ เพราะคนเหล่านี้ทำให้เขามองเห็นตัวเองสมัยที่ยังเป็นวัยรุ่น ที่ต้องดิ้นรนทำงานหนัก เพื่อส่งเสียตัวเองเรียน ก่อนจะได้รับโอกาสครั้งใหญ่จาก “อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล” ผู้กำกับภาพยนตร์ระดับโลก จนได้มารับบทนำในภาพยนตร์ “สัตว์ประหลาด”
“ง่ายๆ เลย เรื่องมนุษยธรรม เขาเป็นมนุษย์คนหนึ่งเหมือนกับเรา เราต้องการอะไร ผู้ลี้ภัยก็ต้องการสิ่งนั้น หลายคนกลัว หลายคนรังเกียจ ก็อยากให้เขาคิดอีกนิดหนึ่งว่าเขาต้องการความช่วยเหลือ เขาไม่ได้มาสร้างความเดือดร้อนให้เมืองไทย แต่ถ้าเขาจะสร้างความเดือดร้อน เพราะเขาไม่มีทางเลือก เพราะพวกเรานี่แหละที่ไปกดดันให้เขาก่ออาชญากรรม ถ้าเราให้การต้อนรับเขาหรือช่วยเหลือเขา เขาก็ไม่มีเหตุผลอันใดที่จะต้องไปก่ออาชญากรรม เขาอยู่ได้ เราก็อยู่ได้” คุณศักดาอธิบาย
เมื่อการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยที่ตกทุกข์ได้ยากแม้ว่าจะเป็นไปได้ แต่ก็ขัดกับหลักกฎหมายของประเทศและทัศนคติของคนบางส่วนในสังคม คุณจิรวัฒน์จึงมองว่า ประเด็นเรื่องผู้ลี้ภัยควรถูกมองเห็นและหยิบยกขึ้นมาพูดคุยกันเพื่อหาแนวทางที่ชัดเจนในการแก้ไขปัญหา
“แนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างหนึ่งคือ มันต้องมองให้เห็นปัญหาก่อน เราต้องยอมรับก่อนว่าเขามีชีวิตอยู่จริงๆ และเขามีปัญหาอยู่จริงๆ หรือสังคมไทยเองก็มีปัญหานี้อยู่ ซึ่งมันก็อาจจะนำไปสู่การถกเถียง เพื่อไขปัญหาการทำงานในอนาคตต่อไปได้ ถ้าเรามองไม่เห็น เราจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาอะไรได้เลย”
นอกจากนี้ คุณจิรวัฒน์ยังเสนอให้มีการเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อผู้ลี้ภัย โดยยกตัวอย่างผลงานกราฟิตีของ Banksy ศิลปินชาวอังกฤษ ที่เป็นภาพสตีฟ จ็อบส์ ผู้ก่อตั้ง Apple กำลังถือคอมพิวเตอร์แมคอินทอช ซึ่งอยู่บนกำแพงค่ายผู้ลี้ภัยในเมืองกาเลส์ ที่อยู่ระหว่างชายแดนประเทศฝรั่งเศสกับอังกฤษ
“พ่อแม่แท้ๆ ของสตีฟ จ็อบส์ เป็นชาวซีเรีย สิ่งที่น่าสนใจคือ Banksy พยายามพูดว่าสุดท้ายแล้ว อเมริกาจะไม่มี Apple โลกจะไม่มี Apple ถ้าเขาไม่ได้เปิดรับครอบครัวชาวซีเรียของสตีฟ จ็อบส์ เพราะฉะนั้น การย้ายถิ่นของผู้ลี้ภัยไม่ได้มีแต่ผลร้าย ไม่ได้เป็นแค่ภาระ แต่จริงๆ แล้วมันขึ้นอยู่กับการใช้ประโยชน์ หรือเรามองเห็นศักยภาพของเขาในฐานะคนคนหนึ่งหรือเปล่า” คุณจิรวัฒน์อธิบาย
อย่างไรก็ตาม คุณศักดาก็ยอมรับว่า ภารกิจช่วยเหลือด้วยวิธีการต่างๆ ของเขาก็เป็นเพียงจุดเล็กๆ เท่านั้น
“ที่ผมทำมาขณะนี้มันเหมือน ฝุ่นที่อยู่บนโต๊ะ แค่ปัดแล้วมันก็หายไป เหมือนแก้ปัญหาปลายเหตุ การที่จะช่วยเหลือเขาจริงๆ ต้องแก้ที่ต้นเหตุ ก็คือกฎหมาย ซึ่งผมสิ้นหวังกับการแก้กฎหมายเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยของประเทศนี้ เพราะว่าแค่มาเจอด่านแรก คนไทยด่าว่าช่วยเหลือพวกนี้ทำไม เขาก็ถอยหนีกันหมดแล้ว เพราะว่าเขาคงไม่ต้องการเสียคะแนนเสียง ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้เลยที่จะเกิดกฎหมายสิทธิมนุษยชนหรือการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยในประเทศนี้”
ด้านคุณจิรวัฒน์ก็มองว่า การตกอยู่ในสถานะผู้ลี้ภัยไม่ควรจะเกิดขึ้นกับใครทั้งนั้น ดังนั้นประเด็นเรื่องผู้ลี้ภัยจึงไม่ควรถูกมองว่าเป็นเรื่องของคนอื่น เพราะวันหนึ่งก็อาจจะเกิดขึ้นกับตัวเราได้เช่นกัน
“วันนี้คุณอาจจะคิดเหมือนกับรัฐ แล้วก็คิดว่าไม่เห็นมีปัญหาอะไรเลย แต่มันไม่มีอะไรการันตีว่าวันหนึ่งคุณจะคิดไม่เหมือนกับรัฐ และถ้าวันหนึ่งคุณไม่เห็นด้วยกับรัฐ คุณก็อาจจะถูกจัดการ ถูกบีบคั้นบางอย่าง คุณก็จำเป็นต้องเดินทางออกนอกประเทศและมีสถานะแบบนี้ได้ มันไม่มีอะไรการันตีได้ว่าคุณจะอยู่รอดปลอดภัยและเป็นเด็กดีไปเรื่อยๆ” คุณจิรวัฒน์กล่าวทิ้งท้าย