2 อดีตขุนคลังวิเคราะห์เหตุแบงก์ชาติห้ามธนาคารจ่ายปันผล สัญญาณวิกฤตเศรษฐกิจรุนแรง
อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง 2 ท่าน ได้แก่ นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล และนายกรณ์ จาติกวณิช ให้ความเห็นกรณีธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกคำสั่งห้ามธนาคารพาณิชย์จ่ายเงินปันผล ถือเป็นสัญญาณว่าวิกฤตเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงกับการระบาดของโรคโควิด-19 รุนแรงกว่าที่คิด
- แบงก์ชาติสั่งแบงก์พาณิชย์ "งดจ่ายปันผลงวดกลางปีนี้-งดซื้อหุ้นคืน" รองรับวิกฤตโควิด-19
- แบงก์ชาติประกาศลดดอกเบี้ยบัตรเครดิต-สินเชื่อส่วนบุคคล ช่วยลูกหนี้จากวิกฤตโควิด-19
วันนี้ (20 มิ.ย.) นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) อดีตรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยระบุว่า
"“ธปท.สั่งแบงก์ห้ามจ่ายปันผล”
ผมโพสต์หลายครั้งว่า วิกฤตโควิดจะหนักพอกับมหาวิกฤตปี 1930 ตั้งแต่ไตรมาสสามเป็นต้นไป จะเกิดปัญหาสภาพคล่องติดขัด ดึงกันดึงกันมา จากบริษัทหนึ่งไปอีกบริษัทหนึ่ง เป็นเหมือนแชร์ลูกโซ่ และสุดท้ายจะวนไปที่แบงก์ ในรูปของ NPL ซึ่งขณะนี้ปัญหานี้ถูกแช่แข็งอยู่ กว่าจะรู้ตัวเลข NPL จริง ก็เมื่อพ้นเดือน ต.ค. ไปแล้ว
วันนี้ ธปท. ออกมาตรการกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ จัดทำแผนบริหารจัดการระดับเงินกองทุนให้รัดกุม และให้ธนาคารพาณิชย์ งดจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลในปี 2563 รวมถึงงดการซื้อหุ้นคืน
ผมตั้งข้อสังเกต เห็นด้วยกับแนวทางนี้ เพราะเป็นการยอมรับความจริง และเตรียมตั้งรับแต่เนิ่นๆ
อย่างไรก็ตาม ธปท. เห็นตัวอย่างหลายประเทศตะวันตก ที่ประกาศมาตรการนี้มาหลายเดือนแล้ว ทำไมไม่ประกาศไปพร้อมกับการออกพระราชกำหนด เป็น package ใหญ่ กลับไปเลือกเลียนแบบเฉพาะแต่การทำ QE โดยรับซื้อตราสารหนี้เอกชน
การประกาศมาตรการเมื่อจวนตัว ย่อมทำให้นักลงทุนสงสัยว่า ธปท. เริ่มเห็นอาการปัญหาหนักขึ้น
ในขณะที่ท่านรองนายกฯ ดร.สมคิด ประกาศว่า เศรษฐกิจไทยจะกลับมาเป็นมังกรบินได้ ก็ยิ่งทำให้คนสงสัยหนักขึ้นว่า ธปท. พบปัญหาอะไรเป็นพิเศษ"
สอดคล้องกับที่ นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยระบุว่า
"คำสั่งห้ามธนาคารพาณิชย์จ่ายเงินปันผลและห้ามซื้อหุ้นตัวเองคืน (ลดทุน) เป็นสัญญาณว่าธนาคารแห่งประเทศไทยได้ประเมินสถานการณ์หนี้เสียว่าเลวร้ายกว่าที่ปรากฏ
ถามว่าทำไมต้องออกคำสั่งแทนที่จะให้ธนาคารพาณิชย์ประเมินเองตามความเหมาะสม อาจจะเป็นเพราะนายแบงก์พาณิชย์ต้องการคำสั่งเป็นเกราะกำบังจากความไม่พอใจของนักลงทุนที่รอรับเงินปันผล ช่วงหลังหลายคนเข้าไปซื้อหุ้นเพราะราคาลดลงมาก ด้วยหวังผลตอบแทนจากเงินปันผลที่คาดว่าจะได้รับ
วันจันทร์นี้คาดว่าหุ้นธนาคารมีโอกาสสูงที่จะปรับลงแรง และผลกระทบต่อความมั่นใจทางเศรษฐกิจจะต้องมีอย่างแน่นอน
ที่สำคัญที่สุดคือการช่วยเหลือสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการอยู่รอด วันนี้ SME ทุกระดับยังเข้าไม่ถึงมาตรการของรัฐบาล ดังนั้นการใช้เงินกู้ของรัฐบาลต้องมีการออกแบบให้ถึงมือผู้ประกอบการโดยตรง รวดเร็ว ไม่รั่วไหล และต้องมีการใช้ในการจัดซื้อสินค้านำเข้าให้น้อยที่สุด รอบหมุนของเงินต้องมากที่สุด"