เพจดังเตือนโรงเรียน "อุโมงค์พ่นน้ำยาฆ่าเชื้อ" อาบตัวเด็กหัวจรดเท้า อันตรายมาก!
เฟซบุ๊กเพจ Drama-addict โพสต์ข้อความเตือนภัยถึงโรงเรียนต่างๆ ว่า ไม่ควรทำอุโมงค์พ่นน้ำยาฆ่าเชื้อ สำหรับพ่นน้ำยาใส่เด็กๆ ก่อนเข้าโรงเรียน โดยย้ำว่าจนถึงขณะนี้ ยังไม่มีน้ำยาฆ่าเชื้อตัวใด ที่ขึ้นทะเบียนกับ อย. ว่า ปลอดภัย พ่นใส่ร่างกายคนได้ โดยระบุว่า
"มีคุณแม่ท่านนึงฝากมาว่า โรงเรียนที่ลูกเขาเรียน มีการจัดทำอุโมงค์พ่นน้ำยาฆ่าเชื้อ อ้างว่าเป็นน้ำยา ที่พ่นกำจัด covid-19 ได้ (แต่ตัวนี้ห้ามพ่นใส่คนนะครับ เพราะระคายเคืองผิวหนัง ระคายเคืองทางเดินหายใจ ถ้าเด็กสูดเข้าไปนี่ระคายเคืองทางเดินหายใจ หอบได้ง่ายๆ เลย)
พอพ่อแม่ไปแย้ง ทางโรงเรียนก็ยังยืนกรานจะทำตามเดิม เลยมาปรึกษาว่าจะทำไงดี
อยากให้โรงเรียนต่างๆ ดูเอกสารฉบับนี้นะครับ
ไม่มีหน่วยงานสุขภาพหน่วยงานไหนในบ้านเรา แนะนำให้ทำอุโมงพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อนะ ไม่มีน้ำยาตัวใดในตอนนี้เลย ที่ขึ้นทะเบียนกับ อย. ว่า พ่นน้ำยา ใส่คนแล้วจะปลอดภัย ที่เอามาพ่นๆ กันอันตรายกับมนุษย์ทุกตัว ที่เขาใช้ฉีดพ่นกัน เขาไม่ได้ฉีดใส่คน เขาฉีดในห้องปิดทึบ เพื่อกำจัดพวกเชื้อใน droplet หรือ aerosol ไม่ได้พ่นใส่คน
โรงเรียนไหนอยากเสี่ยงเป็นข่าว เด็กหอบ หรือผื่นแดง ตาบอด หลังผ่าน อุโมงค์พ่นน้ำยาฆ่าเชื้อ ตอนเปิดเทอม ก็ทำไปเลย แต่เตือนแล้วนะ"
ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เคยออกมาเตือนแล้วว่า กรณีอุโมงค์พ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรคนั้น ส่วนใหญ่น้ำยาที่นำมาใช้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ขออนุญาตใช้สำหรับฆ่าเชื้อโรคบนพื้นผิวหรือวัสดุ ไม่สามารถนำมาใช้กับผิวหนัง หรือร่างกายมนุษย์ได้ เนื่องจากมีส่วนประกอบที่อาจทำให้เกิดการแพ้ ระคายเคืองต่อผิวหนัง และดวงตา
ดังนั้น การนำไปฉีดพ่นบนร่างกายมนุษย์เป็นอันตราย ควรระมัดระวังอย่างยิ่ง เช่นเดียวกันระบบฆ่าเชื้อโควิดด้วยแสง UV เหมาะสำหรับการฆ่าเชื้อโรคในห้องและอุปกรณ์ต่าง ๆ เท่านั้น ไม่เหมาะสำหรับมนุษย์และสัตว์เลี้ยง เพราะจะทำให้เกิดมะเร็งผิวหนังได้
ภญ.สุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการ อย. ระบุว่า การนำน้ำยาฆ่าเชื้อโรคมาแบ่งใส่ขวดแจกให้กับประชาชน หรือทำอุโมงค์พ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรค หรืออุโมงค์แสง UV เพื่อฆ่าเชื้อโรคนั้น อย. มีความห่วงใย ได้ตรวจสอบแล้วพบว่า น้ำยาที่นำมาแบ่งบรรจุนั้นได้รับอนุญาตเป็นน้ำยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่ใช้กับพื้นผิวหรือวัสดุ เพื่อความปลอดภัย อย. จึงขอแนะนำประชาชน หากได้รับน้ำยาฆ่าเชื้อโรคที่แบ่งใส่ขวด ขอให้ตรวจสอบว่ามีฉลากหรือไม่
หากไม่มีให้สอบถามผู้ให้ว่าคือน้ำยาอะไร มีวิธีการใช้อย่างไร แล้วทำฉลากให้ชัดเจน ระบุชื่อน้ำยาฆ่าเชื้อโรค วิธีการใช้ที่ถูกต้อง แล้วเก็บไว้ในที่มิดชิด ห่างจากมือเด็ก ไกลจากน้ำดื่มบรรจุขวด เพราะอาจพลั้งเผลอหยิบมาดื่ม คิดว่าเป็นน้ำและดื่มเข้าไป จนได้รับอันตรายตามที่เป็นข่าวมาแล้ว
ทั้งนี้ การฆ่าเชื้อโรคบนร่างกายมนุษย์โดยการพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรค และแสงยูวี องค์การอนามัยโลก ไม่แนะนำให้ใช้ วิธีการที่ทำได้ง่ายและได้ผลดี คือ การอาบน้ำ สระผม ทำความสะอาดร่างกายทันทีเมื่อกลับเข้าบ้าน และให้นำเสื้อผ้าไปซักด้วยผงซักฟอก หรือน้ำยาซักผ้าในน้ำร้อนที่อุณหภูมิประมาณ 70-90 องศาเซลเซียส จากนั้นนำไปตากแดดให้แห้ง