สมาคมชาวนาไทย ยื่นคัดค้าน CPTPP ยกเหตุผล 6 ข้อ หวั่นกระทบเศรษฐกิจฐานราก
สมาคมชาวนาไทย ยื่นหนังสือคัดค้านการเข้าร่วม CPTPP ต่อ กมธ.ศึกษาผลกระทบฯ สภาผู้แทนราษฎร ยกเหตุผล 6 ข้อ พันธุ์พืช ยา ความมั่นคงทางสาธารณสุข หวั่นกระทบต่อเศรษฐกิจฐานรากโดยตรง
นายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย พร้อมอุปนายก และที่ปรึกษาฯ เป็นตัวแทนของสมาคมฯ ยื่นหนังสือต่อนายนิกร จำนง รองประธานอนุกรรมาธิการเกษตรและพันธุ์พืช กรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วม CPTPP เพื่อส่งต่อ นายวีระกร คำประกอบ ประธานกรรมาธิการฯ คัดค้านการเข้าร่วมความตกลง CPTPP
ทั้งนี้เนื้อหาในจดหมายระบุว่า สมาคมชาวนาและเกษตรกรไทยได้ติดตามและศึกษาเกี่ยวกับ ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP ) นั้นสมาคมฯได้จัดประชุมและมีมติเป็นเอกฉันท์ในการคัดค้านความตกลงนี้ โดยมีเหตุผลประกอบ 6 ประการคือ
1.การเข้าร่วม CPTPP จะทำให้ไทยต้องข้าเป็นภาคีในสนธิสัญญาคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (UPOV1991) ซึ่งเพิ่มอำนาจการผูกขาดสายพันธุ์พืช ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรที่จะเก็บพันธุ์พืชไปปลูกต่อ รวมทั้งขยายอำนาจการผูกขาดจากเดิมเฉพาะสายพันธุ์พืชไปยังผลผลิตหรือผลิตภัณฑ์ และกระทบต่อการพัฒนาขีดความสามารถของนักปรับปรุงพันธุ์รายย่อยและเกษตรกร ซึ่งรวมถึงเกษตรกรผู้ปลูกสมุนไพร ส่งผลต่อต้นทุนการเพาะปลูก การแข่งขันและการต่อยอด การค้นคว้าวิจัยต่างๆ
2.การเข้าร่วม CPTPP ยังทำให้ไทยต้องเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาบูดาเปสต์ (Budapest Treaty) ว่าด้วยการยอมรับระหว่างประเทศในการฝากเก็บจุลชีพเพื่อการจดสิทธิบัตร ซึ่งจะทำให้ทั้งจุลินทรีย์และพันธุ์พืชถูกนำไปต่อยอดเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัท
3. ความตกลง CPTPP ยังขยายการผูกขาดที่เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาอื่นๆ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจฐานราก เกิดผลเสียต่อการพัฒนาความมั่นคงภายในประเทศ
4. ความตกลงนี้อาจทำให้จีดีพีเพิ่มขึ้น แต่ตกอยู่กับคนไม่กี่กลุ่ม ในขณะที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนฐานราก ทั้งเรื่องพันธุ์พืช ยา และความมั่นคงทางสาธารณสุข เศรษฐกิจฐานรากจะล้มทั้งกระดาน
5. มีการอ้างเหตุผลเรื่องการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นเรื่องไม่สมเหตุสมผล ในขณะที่เศรษฐกิจโลกได้รับผลกระทบจากโรคระบาด ซึ่งอาจทำคิดได้ว่าเป็นการผลักดันของกลุ่มทุนเพื่อตนเองได้ผลประโยชน์อย่างแนบเนียน โดยไม่คำนึงถึงความมั่นคงในทรัพยากร สิ่งแวดล้อม และความยั่งยืนทางชีวพันธุ์ของประเทศ
6.สมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย ขอเสนอให้เปิดเผยผลการประเมินผลกระทบจากการตัดสินใจข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วม โดยพิจารณาจากมิติทางสังคมของประชาชนและเกษตรกร วิถีการพัฒนาอย่างยั่งยืนของชาติ รวมทั้งการที่รัฐต้องแสดงความรับผิดชอบหากเกิดผลกระทบในทางลบ ต้องให้ชัดเจนว่าใครเป็นผู้เสนอ ใครเป็นผู้ตัดสินใจ และต้องมีผู้ต้องรับผิดชอบชดใช้ความเสียหาย