อย.ยันไม่มีสาหร่ายปลอมขายในท้องตลาด
หลังลงพื้นที่เก็บตัวอย่างทั่วปท.ตรวจ พบเป็นโครงสร้างเซลพืช ไม่ใช่พลาสติก ชี้สาหร่ายมีแร่ธาตุสูง
ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เมื่อวันนี้(27 ส.ค.) นพ.นรังสันต์ พีรกิจ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า หลังจากที่มีการส่งต่ออีเมล์สาหร่ายปลอมที่ผลิตจากพลาสติกสีดำ ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จึงได้ร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ในการเก็บตัวอย่างจากท้องตลาดส่งตรวจ วิเคราะห์ว่า มีสาหร่ายปลอมปนจำหน่ายหรือไม่ รวมทั้งเก็บตัวอย่างสาหร่ายจากด่านนำเข้าสินค้าเพื่อเป็นการเฝ้าระวัง ทั้งนี้สาหร่ายที่จำหน่ายในบ้านเรามี 2 ประเภท คือ สาหร่ายที่เป็นการนำเข้าจากต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี โดยเฉพาะจีนซึ่งมีการนำเข้ามายังประเทศไทยมากที่สุด ซึ่งสาหร่ายประเภทนี้ไม่ต้องมีทะเบียน อย. แต่ต้องมีรายละเอียดบริษัทที่ทำการผลิตและนำเข้าชัดเจน และสาหร่ายที่นำเข้ามาและแบ่งบรรจุขายในประเทศ ที่ต้องขึ้นทะเบียนกับทาง อย.ก่อน โดยสาหร่ายที่มีปัญหาเป็นสาหร่ายประเภทแรก และจากการเก็บตัวอย่างสาหร่าย 24 ตัวอย่าง โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และการเก็บตัวอย่างสาหร่ายจาก 5 ยี่ห้อที่จำหน่ายในท้องตลาดโดย อย. ยังไม่พบว่า มีสาหร่ายปลอมที่ผลิตจากพลาสติกจำหน่ายในท้องตลาดแต่อย่างใด
นพ.นรังสันต์ กล่าวว่า กรณีที่มีการร้องเรียนจากประชาชนที่ จ.นคราชสีมานั้น ทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ได้มีการเก็บตัวอย่างส่งตรวจแล้ว พบว่าเป็นสาหร่ายจริง ไม่ได้ใช่สาหร่ายปลอมที่ผลิตจากพลาสติก เพียงแต่ผู้บริโภคไม่มั่นใจและสงสัย จึงร้องเรียนให้ตรวจสอบ ซึ่งผลก็ยืนยันแล้ว
ศ.เกียรติคุณ กาญจนภาชน์ ลิ่วมโนมนต์ ภาควิชาชีววิทยาประมง คณะประมง มหาวิทยาเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า สาหร่ายที่มีข่าวว่าเป็นสาหร่ายปลอมนั้น เป็นสาหร่ายที่เรียกว่า "จีไฉ" สำหรับนำมาประกอบอาหาร ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าจากประเทศจีน แต่บ้านเราก็มีทำสาหร่ายประเภทนี้บ้างแต่ขึ้นอยู่กับฤดูกาล โดยลักษณะสาหร่ายที่ขายในปัจจุบันแตกต่างจากเมื่อก่อนที่จะสับเป็นท่อนเล็ก ก่อนตากแห้ง แผ่นสาหร่ายจึงละเอียดกว่า แต่ปัจจุบันเนื่องจากมีการผลิตเป็นจำนวนมาก จึงใช้วิธีนำขึ้นมาทั้งต้นแล้วตากแห้ง ทำให้สาหร่ายที่ได้ดูเป็นแผ่นใหญ่คล้ายกับพลาสติก แต่เมื่อนำมาตรวจดูเซลเนื้อเยื่อแล้ว พบว่าเป็นสาหร่ายจริง และที่ผ่านมาจากการตรวจดูหลายตัวอย่างก็ยังไม่เคยพบสาหร่ายที่ผลิตจาก พลาสติกเลย ซึ่งหากผลิตจากพลาสติก เนื้อกระด้างและไม่มีเซลพืชปรากฏ ทั้งนี้สาหร่ายถือเป็นอาหารที่มีคุณค่า มีแร่ธาตุอาหารสูงที่พืชบนบกไม่มี ดังนั้นจะเป็นได้ว่าชาวญี่ปุ่นจะนิยมทานสาหร่ายกันมาก เพราะเชื่อว่ากินแล้วแข็งแรง แก้โรคได้ จึงอยากแนะนำให้รับประทานเป็นประจำ
ด้าน นางเพ็ญศรี รอดมา นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า การตรวจสาหร่ายว่าเป็นสาหร่ายจริงหรือผลิตปลอมจากพลาสติก จะตรวจด้วย 3 วิธี คือ การตรวจด้วยวิธีทางเคมี ดีเอ็นเอ และการดูทางกายภาพ ซึ่งจากการนำดีเอ็นเอของตัวอย่างสาหร่ายที่จำหน่ายในท้องตลาดมาเปรียบเทียบ กับโครงสร้างพลาสติกที่มีอยู่ถึง 1,570 ตัวอย่าง พบว่า โครงสร้างสาหร่ายที่พบนั้นไม่ใกล้เคียงกับพลาสติกเลยสาหร่ายเมื่อถูกน้ำจะมี เมือกและยุ่ย มีกลิ่นคาวๆ ออกมาเล็กน้อย และเมื่อตรวจดูสารพันธุกรรมดีเอ็นเอยังพบว่า มีสารพันธุกรรมคล้ายกับสัตว์ สิ่งมีชีวิต ที่ไม่ใช่พลาสติก.