"หมอประสิทธิ์" ย้ำ ไม่พบผู้ติดเชื้อในประเทศ ไม่ได้แปลว่าปลอดภัย ขอประชาชนการ์ดอย่าตก
ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดี คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวสรุปสถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) จากทั่วโลก และสิ่งที่ประเทศไทยต้องทำ เพื่อให้เกิดสมดุลเรื่องสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม ผ่านทางเฟซบุ๊กเพจ “Mahidol Channel” โดยระบุว่า
การที่ องค์การอนามัยโลก (WHO) ออกมาประกาศเตือน เรื่องของการเข้าสู่ช่วงเวลา และอันตรายของเชื้อไวรัสโควิด-19 นั้น เพราะมีตัวเลขที่ชัดเจนถึงสถิติของตัวเลขที่เพิ่มขึ้นในแต่ละวัน แต่ละประเทศ การกลับมาของอัตราการติดเชื้อในผู้ป่วยใหม่ และการเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นในประเทศที่เคยควบคุมได้ดี หรือค่อนข้างดี
การที่องค์การอนามัยโลกออกมาเตือนเรื่องนี้ เพราะปักกิ่งก็ดี กรุงโซลก็ดี เกิดการกลับมาใหม่ของการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 มีการติดเชื้อรายใหม่ในแต่ละวัน เพิ่มสูงขึ้น ขณะเดียวกัน มีผลกระทบในอเมริกา ในบางรัฐที่ผ่อนคลายเร็วเกินกว่าที่ควรจะเป็น
ในช่วง 2 สัปดาห์ที่มา มีมากถึง 81 ประเทศ ที่มีกลุ่มอาการใหม่ ของผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เพิ่มสูงขึ้น และมีเพียงแค่ 36 ประเทศเท่านั้นที่ลดลง ทำให้ในตอนนี้ กลายเป็นว่า ทั่วโลกมีการติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มมากขึ้นทุกวัน โดยกลุ่มประเทศที่ เปิดประเทศ และผ่อนคลายมาตรการเร็วเกินไป ทำให้เกิดการก้าวกระโดดของผู้ป่วยใหม่
นพ.ประสิทธิ์ ระบุว่า ถ้าเกิดการระบาดรอบใหม่ หากรัฐบาลเข้าไปจัดการทันที ก็จะสามารถควบคุมผู้ป่วยไม่ให้มีจำนวนสูงขึ้นอย่างมากได้ ซึ่งการที่จะทำเช่นนี้ได้ ก็ต้องมีการร่วมมือกัน จากรัฐบาล และประชาชนในประเทศเหล่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสืบสวนผู้ติดเชื้อ การค้นหาผู้ติดเชื้อ และผู้เสี่ยงติดเชื้อ
ถ้าหากดำเนินการอย่างนั้นได้ ธุรกิจส่วนใหญ่ก็จะดำเนินกิจการต่อไปได้ โดยสามารถเข้าไปควบคุมอย่างเข้มงวดเฉพาะต่อธุรกิจ หรือการประกอบการ ที่มีอุบัติการณ์ การแพร่ระบาด โดยปล่อยให้ธุรกิจอื่นๆ ดำเนินการต่อไปได้ ซึ่งหมายความว่า เศรษฐกิจของประเทศ ยังสามารถที่จะไปต่อได้
ขณะเดียวกัน เมื่อเศรษฐกิจ และธุรกิจต่างๆ เปิดดำเนินการ ประชาชนก็ออกจากบ้าน ไปร่วมกิจกรรมนอกบ้านได้มากขึ้น ช่วยผ่อนคลายความเครียด แต่ขณะเดียวกัน ต้องใช้ชีวิต แบบลดความเสี่ยงของการกระจายเชื้อควบคู่ไปด้วย
ประเทศที่จะทำสำเร็จแบบนี้ได้ นอกจากรัฐบาลดำเนินการในด้านนโยบาย และมาตรการต่างๆ แล้ว ผู้ประกอบการ ผู้เข้าใช้บริการ หรือประชาชนทั่วไป ก็ต้องเข้ามามีส่วนร่วม ทำให้การติดเชื้อควบคุมได้
เมื่อการติดเชื้อ โควิด ระบาดรอบ 2 อยู่ในจำนวนที่ควบคุมได้ ไม่สูงเกินไป และสามารถดึงกลับลงมาได้ ก็ไม่เกินศักยภาพของการดูแลสุขภาพของประเทศนั้นๆ อัตราการเสียชีวิตก็จะต่ำ ค่าใช้จ่ายด้านการดูแลสุขภาพก็จะไม่สูงนัก เศรษฐกิจของประเทศ ก็ไม่เกิดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น
นี่คือรูปแบบของการระบาดรอบใหม่ ซึ่งถ้าหากประเทศไทยจะเกิดการระบาดรอบใหม่ขึ้นมา ก็หวังว่าจะอยู่ในรูปแบบนี้ และการที่จะเกิดการระบาดในรูปแบบนี้ได้นั้น ทุกฝ่ายต้องช่วยกัน
ถ้าไม่ช่วยกัน หรือร่วมมือกันเต็มที่ ก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดการระบาดอีกแบบหนึ่ง ที่ตัวเลขผู้ป่วยจะพุ่งสูงขึ้นอย่างมาก และจะทำให้น้อยลงได้ ก็ต้องกลับไปใช้มาตรการที่มีความเข้มงวดอย่างมาก ซึ่งจะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจอีกครั้ง
นพ.ประสิทธิ์ ระบุด้วยว่า จำเป็นต้องสร้างสมดุลของสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม พร้อมเตือนว่า การที่ผู้ป่วยติดเชื้อใหม่ เป็นผู้กลับจากต่างประเทศ ไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ภายในประเทศ ไม่ได้สื่อว่า ประเทศไทยจะปลอดภัยจากเชื้อ เพราะโอกาสติดเชื้อจากแหล่งอื่นยังคงมีอยู่ ตัวอย่างจากกรณีของจีน ที่ไม่มีการติดเชื้อภายในประเทศมานานถึง 57 วัน ก่อนที่จะพบผู้ติดเชื้อรายใหม่
นอกจากนี้ การที่ไทยมีผู้ติดเชื้อเพียงแค่ 3,000 กว่าคนนั้น ยังทำให้คนไทยยังมีภูมิต้านทานเชื้อโควิด-19 ในระดับที่น้อย ถึงน้อยมาก ซึ่งถ้าหากมีเชื้อจากข้างนอกหลุดเข้ามา แล้วไม่พบ ไม่รู้ หรือไม่สามารถไปติดตามได้ว่า เขาไปติดต่อกับใครบ้าง ก็อาจจะเกิดการแพร่ระบาดขึ้นมาอีก
วิธีการสำคัญในการควบคุมการแพร่ระบาดคือ การป้องกันการติดเชื้อ และป้องกันการแพร่เชื้อ จนกว่าจะมีวัคซีน
“อันนี้ เป็นเรื่องสำคัญที่ผมอยากจะย้ำกับทุกคน อย่าการ์ดตก เราดีขึ้นแล้ว เราอุตส่าห์ทำดีมา 2-3 เดือนแล้ว แต่เหตุการณ์ติดเชื้อแบบนี้ ถ้าผิดพลาดแม้แต่วันเดียว หรือพลาดแม้แต่อาทิตย์เดียว บางทีมันกลับมา สถานการณ์ทุกอย่างจะเปลี่ยนแปลงไป สิ่งที่เราพยายามทำให้เกิดสมดุลในระหว่าง 3 เรื่องก็อาจจะเสียไป“
การตามหาผู้เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ และผู้ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ ถือเป็นปัจจัยสำคัญ ต่อความรุนแรงของการแพร่กระจายของเชื้อ เพราะฉะนั้น การใช้แอปพลิเคชัน ไทยชนะ จะช่วยให้การตามหาสะดวก และแม่นยำขึ้น คนยิ่งใช้มาก โอกาสตามตัว เพื่อควบคุมเชื้อจะยิ่งมากขึ้น แต่ต้องใช้ให้ถูก ขอย้ำอีกครั้งว่า ต้อง เช็คอิน และเช็คเอาท์ ในทุกทีที่ไป