กัมพูชาเยียวยา 2.3 ล้านคนจนจากวิกฤตโควิด-19 ตั้งแต่ 120-920 บาท นาน 5 เดือน
พนมเปญ, 24 มิ.ย. (ซินหัว) — กัมพูชาเปิดตัวโครงการแจกเงินเยียวยาให้แก่ครอบครัวยากจนและเปราะบางจำนวน 562,686 ครัวเรือน ซึ่งมีสมาชิกเกือบ 2.3 ล้านคน ประมาณคนละ 120-920 บาทต่อเดือน นาน 5 เดือน เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)
สมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา กล่าวในพิธีเปิดตัวโครงการว่า รัฐบาลจะลงทุนเงินราว 25 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 770 ล้านบาท) ต่อเดือน เพื่อสนับสนุนครอบครัวดังกล่าว เริ่มตั้งแต่เดือนนี้เป็นต้นไป
“โครงการนี้จะช่วยอำนวยความสะดวกด้านสภาพความเป็นอยู่ของประชนยากจนและเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 โดยโครงการดังกล่าวจัดตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือสังคมในช่วงเวลาวิกฤต ไม่ใช่โครงการถาวร” ฮุน เซน กล่าว
เขาระบุว่า รัฐบาลจะมอบเงินสดรายเดือนผ่านทางโครงการเป็นเวลา 5 เดือน พร้อมเสริมว่าครอบครัวยากจนและเปราะบางทั้งหลายจะได้รับเงินไม่เท่ากัน เนื่องจากราคาอาหารในเขตเมืองและชนบทนั้นแตกต่างกัน
ด้าน อุน พรมนนิโรธ (Aun Pornmoniroth) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจและการคลังกัมพูชา เปิดเผยว่า โครงการที่ว่านี้จะจำแนกประเภทครอบครัวยากจนและเปราะบางในกรุงพนมเปญ และเมืองระดับจังหวัดต่างๆ โดยกลุ่มที่ถูกจัดให้อยู่ในระดับ 1 และ 2 จะได้รับเงิน 30 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 920 บาท) ต่อเดือน
อุนกล่าวว่า สมาชิกครอบครัวยากจนระดับ 1 ในกรุงพนมเปญจะได้รับเงินช่วยเหลือเพิ่มเติม 13 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 400 บาท) ต่อเดือน ขณะที่สมาชิกครอบครัวยากจนระดับ 2 จะได้รับเงินคนละ 9 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 270 บาท)
ขณะที่สมาชิกครอบครัวยากจนระดับ 1 ในเมืองระดับจังหวัดอื่นๆ จะได้รับเงินช่วยเหลือ 10 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 300 บาท) ต่อเดือน ส่วนระดับ 2 จะได้รับ 7 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 215 บาท)
รัฐมนตรีเศรษฐกิจกัมพูชาเสริมว่า ครอบครัวยากจนและเปราะบางในพื้นที่ชนบทจะได้รับเงิน 20 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 610 บาท) ต่อเดือน โดยสมาชิกครอบครัวในระดับ 1 จะได้รับเงินเพิ่มเติมคนละ 6 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 180 บาท) และในระดับ 2 จะได้รับเงินเพิ่มเติมคนละ 4 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 120 บาท)
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขกัมพูชารายงานการตรวจพบผู้ป่วยติดเชื้อโรคโควิด-19 รวมอยู่ที่ 130 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยที่มาจากต่างประเทศ และยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต ขณะนี้มีผู้ป่วยเพียง 2 รายที่กำลังอยู่ระหว่างเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล