ศาลฎีกาสั่งจำคุก 5 แกนนำ นปช. คนละ 2 ปี 8 เดือน ไม่รอลงอาญา คดีบุกบ้านสี่เสาเทเวศร์
ศาลฎีกาอ่านคำพิพากษาจำคุก 5 แกนนำ นปช. คนละ 2 ปี 8 เดือน คดีที่นำมวลชนชุมนุมบุกล้อมบ้านสี่เสาเทเวศร์เมื่อ 13 ปีก่อน หลังจากก่อนหน้านี้ต้องเลื่อนอ่านคำพิพากษามาแล้ว 4 ครั้ง
วันนี้ (26 มิ.ย.) เวลา 09.00 น. ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก นัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีหมายเลขดำ อ.3531/2552 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 10 เป็นโจทก์ฟ้อง นายนพรุจ หรือนพรุฒ วรชิตวุฒิกุล อดีตแกนนำกลุ่มพิราบขาว 2006 นายวีระศักดิ์ เหมะธุลิน นายวันชัย นาพุทธา นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ อดีตประธาน นปช. นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไท นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำ นปช. และนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการ นปช. เป็นจำเลยที่ 1-7 ในความผิดฐานมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองจากการพามวลชนไปชุมนุมปิดล้อมบ้านพักสี่เสาเทเวศร์ของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2550 หลังจากก่อนหน้านี้มีการเลื่อนอ่านคำพิพากษาของศาลฎีกามาแล้ว 4 ครั้ง
ล่าสุด ศาลฎีกาตัดสินยืนตามศาลอุทธรณ์ สั่งจำคุกจำเลย 5 คน ได้แก่ นายนพรุจ หรือนพรุฒ วรชิตวุฒิกุล นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไท นพ.เหวง โตจิราการ และนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ คนละ 2 ปี 8 เดือน โดยไม่รอลงอาญา (ส่วนนายวีระศักดิ์ เหมะธุลิน และนายวันชัย นาพุทธา ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายกฟ้องไปแล้วก่อนหน้านี้)
ทั้งนี้ หากย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ที่มีการนัดอ่านคำพิพากษาของศาลฎีกา แต่ถูกเลื่อนมาตลอดนั้น โดยครั้งแรกเมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2562 เนื่องจากเหตุที่นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ จำเลยที่ 4 แจ้งว่าป่วย จากนั้นศาลได้เลื่อนมาเป็นวันที่ 23 ก.ย. 2562 แต่จำเลยที่ 4-7 คือ นายวีระกานต์ นายวิภูแถลง นพ.เหวง และนายณัฐวุฒิ ขอกลับคำให้การเดิมจากปฏิเสธสู้คดี เป็นขอรับสารภาพผิด ทำให้ "ศาลอาญา" ต้องส่งคำพิพากษากลับไปให้ "ศาลฎีกา" พิจารณาใหม่อีกครั้ง ก่อนนัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาเป็นวันที่ 6 ก.พ. 2563
แต่แล้วก็มีเหตุให้ต้องเลื่อนอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาอีกครั้ง เมื่อนายนพรุจ จำเลยที่ 1 ย้ายที่อยู่ ไม่สามารถส่งหมายนัดให้นายนพรุจได้ ทำให้ต้องเลื่อนนัดเป็นวันที่ 30 เม.ย. 2563 แต่อยู่ในช่วงการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ "โควิด-19" ซึ่งศาลใช้ดุลยพินิจสั่งเลื่อนอ่านคำพิพากษาคดีดังกล่าว มาถึงนัดล่าสุดในวันศุกร์ที่ 26 มิ.ย. เวลา 09.00 น.
อย่างไรก็ตาม คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2558 ให้จำคุกนายนพรุจ จำเลยที่ 1 เป็นเวลา 2 ปี 8 เดือน ฐานทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติหน้าที่ฯ ส่วนนายวีระกานต์, นายณัฐวุฒิ, นายวิภูแถลง และ นพ.เหวง จำเลยที่ 4-7 ให้จำคุกคนละ 4 ปี 4 เดือน ฐานมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้ายฯ และเป็นผู้ใช้ให้ผู้อื่นขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานฯ ให้ยกฟ้องนายวีระศักดิ์และนายวันชัย จำเลยที่ 2-3 ริบของกลางทั้งหมด
ต่อมาเมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2560 ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า พวกจำเลยมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุน ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานฯ ตามมาตรา 138 วรรคสอง ให้จำคุกคนละ 1 ปี และมีความผิดฐานมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ก่อให้เกิดความวุ่นวายโดยเป็นหัวหน้าสั่งการ ซึ่งเจ้าพนักงานสั่งให้เลิกแล้วไม่เลิก ตามมาตรา 215 วรรคหนึ่งและวรรคสาม, มาตรา 216 ประกอบมาตรา 83 ซึ่งเป็นการกระทำกรรมเดียว แต่ผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 215 วรรคสาม เพียงกรรมเดียว จำคุกคนละ 3 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 4-7 คนละ 4 ปี คำให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดีอยู่บ้าง ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกจำเลยที่ 4-7 คนละ 2 ปี 8 เดือน ส่วนนายนพรุจ จำเลยที่ 1 คงจำคุก 2 ปี 8 เดือน โดยไม่รอลงอาญา ยกฟ้องจำเลยที่ 2-3 แต่จำเลยทั้ง 5 คนที่ต้องโทษคำพิพากษาดังกล่าว ขอประกันตัวออกไปเพื่อยื่นคำร้องต่อศาลฎีกา จนกระทั่งมีการอ่านคำพิพากษาในวันนี้
ขณะที่บรรยากาศภายหลังทราบคำพิพากษาแล้วนั้น แกนนำ นปช. ได้พูดคุยกับญาติและมวลชนที่มาให้กำลังใจ ก่อนเตรียมตัวให้เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์คุมตัวเพื่อไปคุมขังรับโทษตามคำพิพากษาซึ่งถึงที่สุดต่อไป
ย้อนเวลา 13 ปีก่อน ชุมนุมหน้าบ้านสี่เสาหวังยกระดับกดดัน
เหตุการณ์ที่ทำให้เกิดคดีมหากาพย์ยาวนาน 13 ปี เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2550 จุดเริ่มต้นจากแกนนำ นปช. ซึ่งในขณะนั้นใช้ชื่อว่า "กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ" หรือ "นปก." ทั้ง 15 คน พร้อมกลุ่มผู้ชุมนุมหลายพันคน ประกาศเคลื่อนขบวนจากการชุมนุมที่สนามหลวง เคลื่อนไปปิดล้อมบริเวณหน้าบ้านสี่เสาเทเวศร์ ซึ่งเป็นบ้านพักรับรองของ "พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์" กดดันให้ลาออกจากตำแหน่งประธานองคมนตรี เนื่องมาจากกลุ่ม นปก. เชื่อว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการก่อรัฐประหารในวันที่ 19 ก.ย. 2549
การเคลื่อนขบวนผู้ชุมนุม เป็นตัวเร่งให้สถานการณ์ที่หน้าบ้านสี่เสาเทเวศร์ตึงเครียดมากขึ้น โดยเฉพาะการปราศรัยจากแกนนำ "นปก." โดยใช้เครื่องขยายเสียงขนาดใหญ่ที่ถูกติดตั้งไว้บนรถบรรทุก โจมตีผู้เกี่ยวข้องกับการทำรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 ซึ่งขณะนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามเจรจาให้ยุติการชุมนุม ไปจนถึงการใช้แก๊สน้ำตา แต่กลับไม่ทำให้สถานการณ์ชุมนุมยุติลง
เหตุการณ์เริ่มบานปลายขึ้นเรื่อยๆ จากเหตุปะทะของผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจและผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บหลายราย จนในที่สุดเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าจับกุมนายนพรุจ วรชิตวุฒิกุล แกนนำกลุ่มพิราบขาว 2006 สำเร็จ ส่วนแกนนำ นปก. คนอื่น ประกาศให้ผู้ชุมนุมล่าถอยกลับไปรวมตัวกันที่ท้องสนามหลวงอีกครั้ง
ในเวลาต่อมา เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการตั้งข้อหาซ่องสุมเกินกว่า 10 คน กับแกนนำ นปก. อันประกอบไปด้วย นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไทย พ.อ.ดร.อภิวันท์ วิริยะชัย นายจรัล ดิษฐาอภิชัย นายมานิตย์ จิตต์จันทร์กลับ นายวีระ มุสิกพงศ์ นายจตุพร พรหมพันธ์ นายจักรภพ เพ็ญแข นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นายแพทย์เหวง โตจิราการ ซึ่งแกนนำทั้งหมดได้ติดต่อขอเข้ามอบตัวในเวลาต่อมา แต่ขณะนั้นอัยการได้พิจารณาสำนวนคดีและสั่งไม่ฟ้องแกนนำ นปช. เนื่องจากผู้ต้องหาได้ยื่นหลักฐานเอกสารร้องขอความเป็นธรรมให้อัยการพิจารณา จึงมีคำสั่งไม่ฟ้อง และส่งเรื่องให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) พิจารณา
ปรากฏว่า พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ในเวลานั้น กลับมีความเห็นแย้งให้ฟ้องผู้ต้องหา และส่งความเห็นแย้งให้ นายชัยเกษม นิติสิริ อัยการสูงสุดในขณะนั้น พิจารณาชี้ขาด จนกระทั่งอัยการสูงสุด มีความเห็น "ชี้ขาด" สั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้งหมดในข้อหามั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้ายหรือก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง และข้อหาอื่นตามความเห็นแย้งของ ผบ.ตร.
ทั้งนี้ พนักงานสอบสวนมีความเห็นสมควรสั่งฟ้องแกนนำ นปช. 10 คน ในข้อหามั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดการวุ่นวายขึ้นประกอบด้วย
1. นายวีระ มุสิกพงศ์
2. นายจตุพร พรหมพันธุ์
3. นายจักรภพ เพ็ญแข
4. นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ
5. นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไทย
6. นพ.เหวง โตจิราการ
7. พ.อ.ดร.อภิวันท์ วิริยะชัย
8. นายจรัล ดิษฐาอภิชัย
9. นายมานิตย์ จิตต์จันทร์กลับ และ
10. นายนพรุจ วรชิตวุฒิกุล
นอกจากนี้ ได้ส่งฟ้องผู้ร่วมชุมนุมก่อความวุ่นวายอีก 5 คน ในข้อหามั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ประกอบด้วย
1. นายบรรจง สมคำ 2. หม่อมหลวงวีระยุทธ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา 3. นายศราวุธ หลงเส็ง 4. นายวีระศักดิ์ เหมะธุลิน และ 5. นายวันชัย นาพุทธา