ท็อป-กีรติ บัวลง โลดแล่น สู่เส้นชัย

ท็อป-กีรติ บัวลง โลดแล่น สู่เส้นชัย

ท็อป-กีรติ บัวลง โลดแล่น สู่เส้นชัย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โดย : อัญชัญ แวงชัยภูมิ

ก่อนถึงเส้นชัยของหนุ่มน้อยวัย 16 ปี เจ้าของตำแหน่งแชมป์เยาวชนกีฬาเรือใบระดับโลก ชีวิตกลางแดดจ้า การซ้อมหนัก และความฝัน..อยากเป็นนักข่าว

ข่าว คราวของแชมป์เรือใบระดับโลก 2 รางวัลในช่วงเดือนสิงหาคมนี้ ยังคงสร้างความยินดีให้กับชาวไทยทั่วประเทศ แต่กว่าจะก้าวมาถึงวันนี้ ทั้งคู่ได้ผ่านประสบการณ์มากมาย บนเส้นทางการแข่งขันและการฝึกซ้อม ก่อนจะได้สัมผัสกับคำว่า 'ความสำเร็จ'

จากจุดสตาร์ทสู่เส้นชัย

เป็นวัยรุ่นทั่วไป หากมีเวลาว่างคงได้ไปเที่ยวเตร่ที่ไหนบ้าง แต่สำหรับแชมป์โลกกีฬาเรือใบ อย่าง 'ท็อป' หรือ 'กีรติ บัวลง' แล้ว หนุ่มน้อยวัย 16 ปีคนนี้ ใช้เวลาไม่ต่ำกว่าวันละ 4 ชั่วโมงในการซ้อม ท่ามกลางแดดจ้าของทะเลสัตหีบ

"การซ้อมก่อนแข่งขันจะซ้อมหนักกว่าปกติ ตื่นเช้าวิ่งฟิตร่างกายทุกวัน ก่อนไปต้องศึกษาข้อมูลภูมิอากาศ คลื่นลม เตรียมพร้อมกับทุกสถานการณ์" เจ้าของส่วนสูง 182 ซ.ม.บอกถึงการเตรียมตัวที่ทำให้เขาคว้ารางวัลชนะเลิศจากประเทศญี่ปุ่น ประเภทเลเซอร์ เรเดียล (เรือใบประเภททั่วไป ใบกว้าง 5.76 ตารางเมตร) รุ่นอายุไม่เกิน 19 ปี ประจำปีนี้ เขายังบอกเล่าบรรยากาศการแข่งขันอย่างเต็มตื้นไปด้วยความปิติว่า

"ตื่นเต้นมาก ในในใจก็หวังว่าจะต้องติด 1 ใน 3 แต่ตอนนั้นคิดว่าหวังมากเกินไป เพราะวันแรกได้อยู่ที่ 21 จาก 125 คน ไม่เคยคิดว่าตัวเองจะเป็นถึงแชมป์ระดับโลก พอได้มาก็ดีใจมาก"

ในวัยเยาว์ เด็กชายท็อปเริ่มเล่นกีฬาเรือใบมาตั้งแต่อายุ 9 ขวบ เหมือนที่เจ้าตัวบอกยิ้มๆ ว่า "เล่นเรือใบจนเป็นชีวิตประจำวันไปแล้ว" จากการที่จากบิดาพามาเที่ยวแล้วเห็นว่ามีการเปิดสอนกีฬาเรือใบ แต่ถ้าเริ่มจริงๆ มาจากการชักนำของ ครูตุ้ม-พันจ่าเอกสุนทร ธรรมสุนทร โดยตัดสินใจมาเรียนเรือใบจริงจังตอนอายุ 11-12 ปี พร้อมทั้งย้ายมาเรียนต่อที่สัตหีบ เพื่อสะดวกต่อการฝึกซ้อม

เมื่อได้เข้ามาอยู่ในแวดวงเรือใบ หนุ่มน้อยก็เกิดแรงบันดาลใจจากการได้เห็นรุ่นพี่อย่าง 'ภราดร เชื้อสง่า' ได้เป็นตัวแทนไปแข่งขันจึงเกิดความรู้สึกอยากไปบ้าง ประกอบกับมีฮีโร่อย่าง 'พอล โกดิสัน' แชมป์เรือใบโอลิมปิกคนล่าสุดช่วยเติมความฝัน นับจากนั้น กีรติก็ได้ลงชื่อในสนามแข่งเรือใบมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย โดยมีผลงานที่โดดเด่นที่สุดก่อนหน้านี้คือ แชมป์ ไบต์ซี 2 เวิลด์ แชมเปียนชิพ 2007

เกือบ 8 ปีเต็มบนเส้นทางสายนี้ เขาบอกว่าเรือใบได้ให้อะไรหลายๆ อย่างสำหรับนักกีฬาอย่างเขา ไม่ว่าจะเป็นประสบการณ์ มิตรภาพจากต่างประเทศ การเรียนรู้ภาษา แม้จะได้ใช้ภาษาอังกฤษงูๆ ปลาๆ รวมไปกับภาษามือเพื่อช่วยในสื่อสาร

เรือเอกวีรสิฏฐ์ พวงนาคเรือเอกวีรสิฏฐ์ พวงนาค"เป็นประสบการณ์ที่หายากในชีวิต เช่นเวลาเจอคู่ต่อสู้ชาติอื่นทำให้ได้เรียนรู้ แต่ละประเทศเล่นคนละแบบ ได้สังเกตดู โค้ชเองจะดูเพื่อเอามาประยุกต์ให้เข้ากับการเล่นของเรา ได้รู้จักเพื่อนๆ ต่างชาติที่น่ารัก เขามาทักทายพุดคุยกับเรา"

อาจฟังดูเหมือนเส้นทางนี้จะโรยไว้ด้วยกลีบกุหลาบ แต่อันที่จริง กีรติก็ไม่ต่างจากนักกีฬาทั่วไปซึ่งก็เคยมีวันท้อแท้กันทั้งนั้น

"ตอนนั้นคัดตัวนักกีฬาไปแข่งเอเชี่ยนเกมส์ที่โนฮา ผมชนะติดกัน 2 ครั้งแต่ครั้งสุดท้าย (ครั้งที่ 3) โค้ชบอกว่าใครชนะจะได้เป็นตัวแทน แต่ลมไม่เป็นใจทำให้ผมไม่ชนะ ก็ไม่ได้ไป ผิดหวังและท้อมาก" ท็อปเล่าครั้งหนึ่งแห่งความท้อแท้ที่ทำให้ตัดสินใจจะเลิกแล่นใบจนหนีไปไม่ ยอมเล่นนับ 2 เดือนได้ จนกระทั่ง โค้ชโทรตามให้กลับมาบอกว่า "มันอาจไม่ใช่เวลาของเราก็ได้" จึงยอมกลับมาเล่น

วันนี้ของหนุ่มน้อยจากนครพนม ก็ได้สร้างผลงานให้กับสมาคมแข่งเรือใบแห่งประเทศไทยสมใจ ช่วยวาดหวังให้ชาวไทยในฐานะ 'แชมป์โอลิมปิก' ครั้งต่อไป อันเป็นความฝันที่สูงสุดของท็อป

แรงกาย+แรงใจ = ชัยชนะ

ด้วยความที่เติบโตมาในครอบครัวนักเรือใบ 'น้องนาย' 'นพเก้า พูนพัฒน์' จึงเห็นคุณพ่อและพี่สาวเล่นเรือใบมาตั้งแต่เด็ก สาวน้อยเลยแอบมีความฝันว่า วันหนึ่งข้างหน้าจะต้องได้เป็นนักแล่นเรือใบบ้าง

"เห็นเรือใบมาตั้งแต่เด็ก เพราะคุณพ่อกับพี่เล่น เราอยู่บ้านเฉยๆ น่าเบื่อก็อยากเล่นบ้าง" แชมป์เรือใบชิงแชมป์โลก ประเภทออพติมิสท์ (เรือใบขนาดเล็ก สำหรับเด็ก) รุ่นอายุไม่เกิน 15 ปีจากประเทศบราซิลเปิดใจถึงจุดเริ่มต้น

จากเด็กหญิงผมหยักโศกวัย 7 ขวบที่เริ่มเรียนรู้การเแล่นเรือ ถึงตอนนี้ เธอได้พาเจ้าเรือใบลอยลำกลางมหาสมุทร ทั้งอิตาลี ตุรกี สเปน สิงคโปร์ มาเลเซีย กาตาร์ อินโดนีเชีย ฯลฯ มาแล้วด้วยวัยเพียง 14 ปี ซึ่งเธอบอกเล่าความรู้สึกของการแข่งขันในแต่ละครั้งว่า

"สนุกดี เวลาไปแข่งขันได้แชมป์การแข่งขันมาก็ดีใจ ผ่านสนามมาก็เยอะเหมือนกัน แต่ละที่แตกต่างกันแล้วแต่สภาพอากาศ คลื่นลมแต่ผ่านมาได้ด้วยดี" แต่ชัยชนะที่ว่านี้ไม่ได้มาง่ายๆ เริ่มตั้งแต่ก่อนไปที่ต้องผ่านการคัดเลือกจาก 12 คนในรุ่นอายุ 7-15 ปี จนกระทั่งได้เป็นตัวแทนไปแข่งขัน เมื่อได้รับเลือกแล้ว ก่อนแข่งขันยังต้องซ้อมหนักถึงกับตัดเรื่องเรียนออกไป

"ลาเรียนไปเลย การแข่งขันครั้งนี้ก็หยุดเรียนไปหนึ่งอาทิตย์ ทุ่มเทกับการซ้อม ตื่นแต่เช้าวิ่งๆ ซ้อมๆ ทางโรงเรียนก็ดีให้โอกาส เราเองก็ฝึกซ้อมมากๆ เตรียมร่างกายให้พร้อมกับการลงแข่ง"

นอกเหนือไปจากเทคนิคส่วนตัว ความเร็ว คลื่นลม การฝึกซ้อมสม่ำเสมอแล้ว เธอบอกว่า สิ่งที่สำคัญคือ การนำข้อผิดพลาดหลายๆ อย่างที่ผ่านมาแก้ไข ใช้ฝีมือแรงกายแรงใจทำให้สำเร็จ โดยได้กำลังใจจากทุกคน พ่อแม่ ญาติพี่น้อง จากสมาคมฯ ครู ตลอดจนเพื่อนๆ ที่โรงเรียนที่คอยบอกให้เธอ 'สู้'

"เราเก็บตัวกันนาน ต้องทำให้ดีที่สุด สุดท้ายเราได้แชมป์กลับมาภูมิใจมาก" เธอบอกอย่างภาคภูมิใจ

แม้ทั้งเรียนและกีฬาอาจไม่มีเวลาเท่าเพื่อนคนอื่น โดยเฉพาะตอนเก็บตัว 1 สัปดาห์ได้พักแค่วันเดียว แต่ก็คุ้มค่าเมื่อเทียบกับสิ่งที่คนอื่นไม่มีโอกาสเช่นเธอ

"ได้ประสบการณ์การแข่งขัน ได้เจอเพื่อน 47 ประเทศ ส่วนใหญ่จะคุยกับเพื่อนแถบเอเชียมากกว่า แต่ก็ไม่ได้แบ่งพรรคพวกนะ (เธอรีบออกตัว) คุยกันรู้เรื่องมากกว่า พอได้แชมป์ เพื่อนทุกชาติก็น่ารัก เข้ามาแสดงความยินดีกับเรา จับมือเรา ได้มีเพื่อนต่างประเทศ"

เจ้าของแชมป์โลกวัยเยาว์ยังเผยใจถึงอีกหนึ่งความใฝ่ฝันกับการเป็นผู้สื่อ ข่าวว่าในอนาคต "อยากเรียนธรรมศาสตร์ อยากเป็นนักข่าว ชอบผู้อ่านข่าว รู้สึกว่ามีคนฟังเยอะ ก็อยากเป็นบ้างจะได้มีคนฟังเราพูด" แต่สายเลือดนักกีฬาอย่างเธอคงไม่ทิ้งเรือใบกับสายน้ำเป็นแน่

ก่อนลาจากกัน สาวน้อยแชมป์เรือใบหญิงยังชักชวนคนไทยให้หันมาสนใจกีฬาเรือใบด้วยหวังว่าจะเป็นที่นิยมในสักวัน

"กีฬาเรือใบไม่ได้ยาก เสียค่าใช้น้อยด้วย ไม่เหมือนกีฬาอื่น ไม่ได้อันตรายอย่างที่ใครหลายคนคิด มาเรียน 10 วันก็สามารถเล่นได้แล้ว"

เรือตรี สมเกียรติ พูนพัฒน์เรือตรี สมเกียรติ พูนพัฒน์แชมป์โลกเรือใบคนล่าสุดทิ้งท้าย เผื่อว่าจะมีเยาวชนรุ่นหลัง โลดแล่นบนท้องทะเลเช่นเดียกวับเธอ

เรือเอกวีรสิฏฐ์ พวงนาค ผู้ฝึกสอน กีรติ บัวลง

"ผมจัดตารางการฝึกซ้อมตามแนวการฝึก ทั้งเรื่องสมรรถภาพร่างกายด้วยการเล่นฟิตเนส ทักษะของการแข่งขัน จิตวิทยาการกีฬา เทคนิค กฎกติกาต่างๆ โดยช่วงเริ่มต้นจะเน้นเรื่องการสร้างกล้ามเนื้อ เพราะถ้าเราไปแข่งต่างประเทศ สภาพอากาศกับสภาพลมต่างประเทศจะค่อนข้างแรง ประมาณ 20 น็อต บ้านเราแค่ 8-10 น็อต ความแตกต่างระหว่างนักกีฬาต่างชาติกับนักกีฬาไทย เห็นได้ชัดเลยว่าโครงสร้างของนักกีฬาสำคัญ อย่างเรือใบประเภทเรเซอร์ นักกีฬาต้องมีความสูงอย่างน้อย 180 -190 ซม. น้ำหนักอยู่ที่ 75-83 กิโลกรัม สำหรับเรื่องเทคนิค หรือกติกาเราสามารถพัฒนากันได้ ดังนั้น 3 เดือนแรกจะให้เข้าห้องเวตอย่างเดียว ประมาณ 80 % สมรรถภาพ ส่วนทักษะในน้ำทะเลเราเน้นแค่ 20 % เท่านั้น เพราะเขามีทักษะอยู่แล้ว ที่ฝึกเพื่อให้มันเป็นไปโดยอัตโนมัติเวลาลงน้ำ ร่างกายจะได้ไม่ลืม การแข่งที่ผ่านมาอย่างเด็กอเมริกา โครงสร้างเราไม่ได้เสียเปรียบกว่าเขา ที่พิเศษกว่าคือ เราแข็งแรงจริงๆ มีความอดทนต่อสภาพอากาศได้"

เรือตรี สมเกียรติ พูนพัฒน์ ผู้ฝึกสอน นพเกล้า พูนพัฒน์

"เราเตรียมตัวพร้อมมาก ในการแข่งขันรายการนี้ แต่เราก็ไม่ได้หวังผลถึงขนาดนี้ เราหวังแค่ติด 1 ใน 10 เพราะมีตั้ง 49 ชาติ แต่ละชาติเก่งๆ ทั้งนั้น มีเข้าแข่งขันทั้งหมด 211 ลำ แค่ติด 1 ใน 10 ได้ก็เก่งแล้ว กลับมาได้เกินคาดกลับมา ก็ดีใจครับ เราโชคดีที่ปีนี้มีการวางแผน และการสนับสนุนงบประมาณ ในการที่จะได้ไปอยู่ในสนามแข่งก่อนหน้าประมาณ 7 วัน ทำให้ชินพื้นที่ และปรับสภาพร่างกายได้ในภาวะนั้น ผลงานจึงทำออกมาได้ดี ซ้อมเราก็ได้รู้เรื่องของกระแสน้ำ กระแสลม มันจะเห็นได้ชัดว่าจะเกิดอะไรขึ้น อย่างเรือก็ต้องมีการปรับแต่งให้เข้ากับสภาพสนาม นักกีฬาในปีนี้แทบจะไม่แตกต่างกัน แต่อาจจะต่างตรงประสบการณ์เราจะน้อยกว่าทางยุโรป หรืออเมริกาใต้ เขาจะมีรายการแข่งขันมากกว่า เรามีการแข่ง 3-4 แมตซ์ และเวลาเราได้อันดับที่ดีมันก็จะเกิดอาการเกร็ง ซึ่งเราถือว่าเป็นนักกีฬาหน้าใหม่เหมือนกัน ต้องกลับมาพัฒนาเรื่องอารมณ์ และความนิ่งให้มากขึ้น"

 

อัลบั้มภาพ 3 ภาพ

อัลบั้มภาพ 3 ภาพ ของ ท็อป-กีรติ บัวลง โลดแล่น สู่เส้นชัย

ท็อป-กีรติ บัวลง โลดแล่น สู่เส้นชัย
ท็อป-กีรติ บัวลง โลดแล่น สู่เส้นชัย
ท็อป-กีรติ บัวลง โลดแล่น สู่เส้นชัย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook