“กฎหมาย LGBTQ+ ไทย” เราอยู่จุดไหนกันแล้ว

“กฎหมาย LGBTQ+ ไทย” เราอยู่จุดไหนกันแล้ว

“กฎหมาย LGBTQ+ ไทย” เราอยู่จุดไหนกันแล้ว
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แม้สังคมไทยจะเปิดพื้นที่และให้การยอมรับกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) มากขึ้น แต่ “การเลือกปฏิบัติ” ก็ยังเป็นปัญหาที่อยู่คู่กับกลุ่ม LGBTQ+ อยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจ้างงาน การถูกเหมารวมจากสังคม การถูกกีดกันทางความคิดและเสรีภาพ รวมถึง “การถูกกีดกันความรัก” ซึ่งสะท้อนอยู่ในรูปแบบของ “กฎหมาย” ด้วยเหตุนี้ หลายภาคส่วนจึงลุกขึ้นมาผลักดันให้เกิดกฎหมายสำหรับกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ แต่ผ่านมาแล้วหลายปี ก็ยังไม่มีข่าวดีเกิดขึ้นเสียที เนื่องในโอกาส Pride Month ปีนี้ Sanook จึงขอร่วมติดตามความคืบหน้าของร่างกฎหมายที่จะสร้างความเท่าเทียมทางเพศให้เกิดขึ้นในสังคม

สังคมที่เปิดรับแต่ไม่เท่าเทียม

ประเทศไทยถูกยกให้เป็น “สวรรค์ของ LGBTQ+” และเป็นจุดหมายปลายทางของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศทั่วโลก เนื่องจากมีพื้นที่การแสดงออกที่มากขึ้น เช่นเดียวกับการเปิดรับของคนในสังคมที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ทว่า  แม้สังคมจะเปิดรับกลุ่ม LGBTQ+ แต่ประเทศไทยก็ยังไม่มีกฎหมายรองรับสิทธิและเอื้อประโยชน์ให้กับคนกลุ่มนี้ จึงนำไปสู่การตั้งคำถามถึง “ความเท่าเทียมทางกฎหมาย” สำหรับคนทุกเพศ  

“ทุกวันนี้บ้านเราดูเหมือนจะเป็นสังคมที่เปิดรับกลุ่ม LGBTQ+ แต่เรื่องของสังคมที่เปิดรับคงจะไม่เพียงพอ เพราะคนเหล่านี้ก็ต้องใช้ชีวิต ต้องกินข้าว ต้องไปโรงพยาบาล ต้องเรียนหนังสือ ถ้ากฎหมายไม่รองรับสิทธิของเขาเลย เขาก็จะใช้สิทธิของเขาได้ไม่เต็มที่” อาจารย์อัครวัฒน์ เลาวัณย์ศิริ อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายระหว่างประเทศ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดประเด็น

เช่นเดียวกับคุณธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล ผู้เดินหน้าขับเคลื่อนกฎหมายสำหรับกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ที่ชี้ว่า แม้สังคมจะเปิดกว้างมากขึ้น แต่กลุ่ม LGBTQ+ ก็ยังติดอยู่ในวังวน “การถูกเลือกปฏิบัติ” ซึ่งนำไปสู่การกีดกันด้านต่าง ๆ ทั้งการทำงาน การทำธุรกิจ และความรัก จึงอาจไม่สามารถพูดได้ว่า ประเทศไทยมี “ความเสมอภาคทางเพศ” อย่างแท้จริง

กฎหมายใหม่เพื่อ LGBTQ+

เพื่อสร้างความเท่าเทียมทางกฎหมายให้กับทุกเพศในสังคม หลายองค์กรต่างลุกขึ้นขับเคลื่อนเพื่อร่างกฎหมายที่จะเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ และหนึ่งในร่างกฎหมายเหล่านั้น คือ “พ.ร.บ. คู่ชีวิต” ซึ่งถูกจับตามองว่าจะเป็นร่างกฏหมายที่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมไทย อาจารย์อัครวัฒน์ หนึ่งในผู้มีส่วนร่วมกับการร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว เล่าว่า จุดเริ่มต้นของ พ.ร.บ. คู่ชีวิต คือการสร้างนวัตกรรมใหม่ทางกฎหมายที่จะช่วยอุดช่องว่างของกฎหมายเดิม

“เราเลือกทำ พ.ร.บ. พิเศษ แล้วก็ทำเนื้อหาให้ดีและให้ล้ำกว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งเก่าและร่างมาเป็นร้อยปีแล้ว บางเรื่องมีการเลือกปฏิบัติ ให้ความเป็นธรรมไม่เต็มที่ และบางเรื่องก็ยังแก้ปัญหาไม่ครบถ้วน มันจึงนำไปสู่การคิดค้นนวัตกรรมทางกฎหมายที่ยังไม่มีใครทำ” อาจารย์อัครวัฒน์อธิบาย

แต่เนื่องจากเป็นร่างกฎหมายใหม่ และเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่ม LGBTQ+ ร่างกฎหมายฉบับนี้จึงต้องเผชิญกับแรงเสียดทานทางสังคม ทำให้ร่างถูกรื้อจนแทบไม่เหลือเค้าโครงเดิมเมื่อเข้าสู่กระบวนการพิจารณา ทว่าเมื่อถึงขั้นตอนของกฤษฎีกา มีการทบทวนร่าง พ.ร.บ. เดิม จนทำให้มีเนื้อหาที่ดีขึ้น และปัจจุบันนี้ ร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต ได้ผ่านการพิจารณาในชั้นคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ต่อไปจะเป็นขั้นตอนของการเสนอร่างไปยังคณะรัฐมนตรี และนำเข้าสู่รัฐสภาเพื่อพิจารณาต่อไป

จากชายหญิงสู่บุคคล

ไม่เพียงแต่ความพยายามผลักดันร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิตเท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายองค์กรที่พยายามผลักดัน “ร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์” โดยข้อเสนอสำคัญคือ “เสนอให้เปลี่ยนการสมรสในกฎหมายจากเดิมที่เป็น “ชาย-หญิง” เป็น “บุคคล-บุคคล” เพื่อหยุดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลที่รักกันและต้องการใช้ชีวิตร่วมกัน”

“ตอนนี้ สิ่งที่อยู่ในมือเราคือการแก้ประมวลแพ่งและพาณิชย์ หมวดสมรส ทำไมต้องเป็นสมรส เพราะคำว่า “สมรส” หรือ “คู่สมรส” มันอยู่ในทุกกฎหมายอยู่แล้ว ถ้าเราเปลี่ยนตรงนี้ได้ ก็หมายถึงสวัสดิการ ความเท่าเทียมเสมอภาคกับทุกเพศ ดังนั้น การแก้ประมวลแพ่งฯ จะเป็นการขยายสิทธิจากกฎหมายเดิมให้ใช้ได้กับทุกคน” คุณธัญวัจน์กล่าว

ข้อกังวลหนึ่งของการมีกฎหมายเพื่อกลุ่ม LGBTQ+ คือ การใช้กฎหมายเพื่อฉวยโอกาสตักตวงผลประโยชน์ของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ เช่น การหลอกแต่งงาน หรืออาจกระทบกับสิทธิหน้าที่ของชายหญิง นำไปสู่ข้อถกเถียงและการไม่ยอมรับกฎหมายเหล่านี้ ซึ่งคุณธัญวัจน์ชี้ว่า การฉวยโอกาสการสมรสเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นกับทุกเพศอยู่แล้ว  พร้อมย้ำชัดว่ากฎหมายฉบับนี้ จะไม่กระทบกับสิทธิของชายหญิงอย่างแน่นอน

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน ที่ผ่านมา พรรคก้าวไกลได้ยื่นหนังสือเพื่อเสนอร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว ต่อคณะทำงานทางการเมืองของประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่เส้นทางของการเปลี่ยนแปลงแก้ไข และบังคับใช้เป็นกฎหมายก็ยังมีอีกหลายขั้นตอน ซึ่งคุณธัญวัจน์ก็เชื่อว่า กฎหมายฉบับนี้ คือ “สันติภาพทางเพศ” และการเปลี่ยนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์จะสร้างความเสมอภาคให้กับคนทุกเพศ โดยไม่ได้ยึดว่าใครเป็นเพศอะไร แต่วัดกันด้วยหัวใจ นอกจากนี้ คุณธัญวัจน์ยังบอกข่าวดีสำหรับกลุ่ม LGBTQ+ อีกด้วยว่า “ร่าง พ.ร.บ. คำนำหน้านาม” และ “ร่าง พ.ร.บ. การรับรองเพศ” กำลังอยู่ในขั้นตอนการแก้ไขเพิ่มเติม และจะทำการผลักดันให้เป็นกฎหมายบังคับใช้ต่อไป

สร้างกฎหมายเพื่อความเข้าใจของสังคม

กฎหมายและความเข้าใจของคนในสังคมมีความเชื่อมโยงกัน อีกทั้งยังทำหน้าที่ส่องสะท้อนซึ่งกันและกัน การสร้างกฎหมายที่ให้สิทธิและเอื้อประโยชน์แก่กลุ่ม LGBTQ+ ก็อาจนำไปสู่ความเข้าใจและการยอมรับความหลากหลายทางเพศในสังคมด้วย แต่ทั้งนี้ กฎหมายก็เป็นเพียงปัจจัยหนึ่งในการกำหนดความคิดของคนในสังคม และต้องอาศัยเครื่องมือหลายอย่างประกอบกัน เช่น สื่อ ระบบการศึกษา และการสื่อสารแลกเปลี่ยนของคนในสังคม

“หากเรามีกฎหมาย โดยไม่ใช้ปัจจัยอื่นประกอบ สังคมที่เราต้องการก็จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย แต่สิ่งที่เราต้องมั่นใจว่านั่นคืออนาคตที่เราอยากให้เป็น ก็คือ เราต้องการคุ้มครองสิทธิของคนที่มีความหลากหลายทางเพศ” อาจารย์อัครวัฒน์ กล่าว

ขณะที่คุณธัญวัจน์เชื่อว่า กฎหมายเพื่อกลุ่ม LGBTQ+ จะเป็นตัวนำการเปลี่ยนแปลงมาสู่สังคม

“แน่นอนว่าคนในวงกว้างอาจจะยังไม่เข้าใจ แต่เราเชื่อว่า การมีกฎหมายที่เปิดกว้าง จะนำพาเราไปสู่ความเปลี่ยนแปลงแน่นอน ถ้าเรามีคู่รักที่เขารักกัน เราก็ควรมองดูเขาที่ความรักมากกว่าดูว่าเขาเป็นเพศอะไร ดูเขาที่ความรักมากกว่าจะตัดสินเขาจากเสื้อผ้าที่ใส่” คุณธัญวัจน์กล่าวปิดท้าย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook