นักอนุรักษ์เตือน “ขยะจากโควิด-19” อาจมีมากกว่าจำนวนแมงกะพรุนในทะเล

นักอนุรักษ์เตือน “ขยะจากโควิด-19” อาจมีมากกว่าจำนวนแมงกะพรุนในทะเล

นักอนุรักษ์เตือน “ขยะจากโควิด-19” อาจมีมากกว่าจำนวนแมงกะพรุนในทะเล
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โลรองต์ ลอมบาร์ด นักดำน้ำและผู้ก่อตั้งองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร Opération Mer Propre ในฝรั่งเศส เตือนเกี่ยวกับการทิ้งขยะจากการป้องกันโรคโควิด-19 เช่น อุปกรณ์ป้องกันร่างกาย PPE และหลอดเจลล้างมือ ลงสู่ทะเล ซึ่งอาจเป็นการทำลายสิ่งแวดล้อมในอนาคต พร้อมระบุว่า อีกไม่นาน “ขยะจำพวกหน้ากากเหล่านี้จะมีปริมาณมากกว่าแมงกะพรุนในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน”

จูลี เฮลเลค โฆษกของ Opération Mer Propre กล่าวกับ CNN ว่า เราควรจริงจังกับปัญหาขยะจากโควิด-19 ที่จะเกิดขึ้น เนื่องจากขยะเหล่านี้อาจจะเพิ่มปริมาณอย่างรวดเร็ว พร้อมแนะนำให้หลีกเลี่ยงการทิ้งขยะเหล่านี้ลงในทะเล และส่งเสริมการใช้หน้ากากและถุงมือที่นำกลับมาใช้ซ้ำได้

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่แค่ในฝรั่งเศสเท่านั้นที่พบว่ามีขยะจากหน้ากากอนามัยและถุงมือถูกทิ้งอยู่ในทะเล ในฮ่องกงก็มีรายงานลักษณะนี้เช่นกัน โดยเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ องค์กร OceansAsia รายงานว่ามีการพบหน้ากากอนามัยจำนวนมหาศาลลอยอยู่บริเวณชายฝั่งของหมู่เกาะโซโค ซึ่ง OceansAsia ระบุว่า แม้การสวมหน้ากากเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคจะเป็นวัฒนธรรมของเอเชียมานานก่อนจะเกิดโรคระบาด แต่การที่ประชากร 7 ล้านคน พร้อมใจกันสวมหน้ากาก 1 - 2 ชิ้นต่อวัน ก็ทำให้มีการผลิตขยะเพิ่มขึ้นอย่างมาก

ในช่วงการระบาดใหญ่ การผลิตชุด PPE แบบใช้แล้วทิ้ง เพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ โดยการวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Environment, Science & Technology ประมาณการณ์ว่าแต่ละเดือนจะมีการใช้หน้ากากถึง 129,000,000,000 ชิ้น และถุงมือ 65,000,000,000 ชิ้น

นิค มัลโลส์ ผู้อำนวยการอาวุโสขององค์กรไม่แสวงหาผลกำไร Ocean Conservancy กล่าวว่าตัวเลขของขยะเหล่านี้ยัง “ไม่มีความแน่นอน” และในหลายพื้นที่ทั่วโลก การเก็บขยะทั่วไปไม่ได้แสดงให้เห็นว่ามีการจัดการขยะในปริมาณเท่านี้ ดังนั้นจึงมีแนวโน้มที่ขยะเหล่านี้จะไหลลงสู่แหล่งน้ำบริเวณชายหาดและมหาสมุทร และอาจจะส่งผลกระทบต่อนกทะเลและเต่าทะเลได้

มัลโลส์ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการปฏิบัติตนตามแนวทางสาธารณสุข ในการใช้อุปกรณ์ป้องกัน PPE ขณะเดียวกัน การลดการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกก็เป็นทางเลือกที่ปลอดภัยและเหมาะสม รวมทั้งมีระบบจัดการขยะที่เกิดจากวัสดุที่ใช้รักษาชีวิตคน

อย่างไรก็ตาม มัลโลส์และนักอนุรักษ์คนอื่นๆ ก็ยังมีความหวังในการสร้างความตระหนักเกี่ยวกับการจัดการขยะอย่างเหมาะสม และการตัดสินใจเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมอย่างมีจิตสำนึก ซึ่งประเด็นเหล่านี้ก็เป็นประเด็นที่นักอนุรักษ์ต้องทำงานอย่างหนักเพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างประชาชน ภาครัฐ และภาคธุรกิจต่างๆ

ติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับ COVID-19 ได้ที่นี่

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook