บุคลากรทางการแพทย์เผชิญความรุนแรงมากขึ้นในช่วงโควิด-19

บุคลากรทางการแพทย์เผชิญความรุนแรงมากขึ้นในช่วงโควิด-19

บุคลากรทางการแพทย์เผชิญความรุนแรงมากขึ้นในช่วงโควิด-19
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 นอกจากบุคลากรทางการแพทย์จะต้องรับบทหนักในการรักษาผู้ป่วยแล้ว ยังต้องรับมือกับความรุนแรงทั้งจากญาติผู้ป่วยและคนทั่วไป รายงานของ Insecurity Insight ซึ่งเป็นกลุ่มนักวิจัยเกี่ยวกับความรุนแรงที่มีต่อบุคลากรที่ให้การช่วยเหลือ ระบุว่า ในช่วงโรคระบาดใหญ่นี้ มีรายงานความรุนแรงต่อบุคลากรทางการแพทย์และสถานพยาบาล ที่เกี่ยวข้องกับโรคโควิด-19 ทั่วโลกกว่า 400 กรณี นับตั้งแต่เดือนมกราคมเป็นต้นมา

Insecurity Insight ได้ติดตามกรณีเกี่ยวกับความรุนแรงต่อบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งได้แก่ การข่มขู่ การทำร้ายร่างกาย การจับตัวและกักขังหน่วงเหนี่ยว การลักพาตัว และความรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง รวมทั้งความรุนแรงในรูปแบบอื่นๆ โดยศึกษาจากรายงานขององค์การอนามัยโลก (WHO) และคณะทำงานอย่างฐานข้อมูลความปลอดภัยของบุคลากรด้านการช่วยเหลือ (Aid Worker Security Database) กลุ่มแพทย์เพื่อสิทธิมนุษยชน (Physicians for Human Rights) และรายงานจากสื่อต่างๆ ทว่าข้อมูลที่ได้เหล่านั้นกลับยังไม่ใช่ข้อมูลที่สมบูรณ์

เลนเนิร์ด รูเบนสไตน์ ประธานความร่วมมือด้านอนามัยการป้องกันและความขัดแย้ง และผู้อำนวยการโครงการสุขภาพ ความขัดแย้ง และสิทธิมนุษยชน มหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ ในแทบทุกสถานการณ์ การพึ่งพารายงานจากผู้ที่ปฏิบัติงานในสถานพยาบาลมีแนวโน้มที่จะมีตัวเลขรายงานความรุนแรงต่ำกว่าความเป็นจริงอย่างมาก เนื่องจากบุคลากรเหล่านี้มักจะมีงานยุ่งจนไม่มีเวลาแจ้งความ หรือไม่เห็นประโยชน์ของการสละเวลาไปแจ้งความ

“ในช่วงสัปดาห์แรกๆ ของการระบาดใหญ่ เหตุการณ์มากมายปะทุขึ้นจากความกลัวการแพร่กระจายของเชื้อโรค” คริสตินา วิลล์ ผู้ก่อตั้ง Insecurity Insight กล่าว

ในเยเมน สิ่งที่แพทย์ชาวเยเมนต้องเจอในชีวิตจริง คือการข่มขู่ ขู่ฆ่า และความรุนแรง ซึ่งเกิดขึ้นในขณะที่พวกเขารับมือกับโรคโควิด-19 อยู่ในแนวหน้า และอันตรายที่พวกเขาต้องเผชิญอยู่นี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของเทรนด์การก่อความรุนแรงต่อบุคลากรทางการแพทย์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก

เมื่อวันที่ 23 เมษายนที่ผ่านมา ในเม็กซิโก ผู้หญิง 2 คน ถูกจับกุมตัวจากการทุบตีบุคลากรทางการแพทย์ที่ป้ายรถเมล์ โดยกล่าวหาว่าบุคลากรทางการแพทย์ผู้นั้นติดเชื้อโควิด-19 และทำให้คนอื่นๆ มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อไปด้วย นอกจากนี้ แพทย์ พยาบาล พนักงานขับรถพยาบาล เจ้าหน้าที่กาชาด และบุคลากรทางการแพทย์ในสาขาอื่นๆ ในเม็กซิโก ถูกมองว่าเป็น “ต้นกำเนิดของการติดเชื้อ”

วิลล์กล่าวว่า มาตรการในการควบคุมโรคระบาดใหญ่ก่อให้เกิดเหตุผลใหม่ๆ ในการที่ผู้คนหันมาทำร้ายบุคลากรทางการแพทย์ บางคนที่กลัวการกักตัวอยู่ในสถานที่ของรัฐ ก็พยายามใช้กำลังเพื่อหลบหนีออกมา เช่นในอัฟกานิสถาน ผู้ป่วย 38 คน ที่ต้องอยู่ในโรงพยาบาลนาน 2 สัปดาห์ พากันทุบหน้าต่างและทำร้ายเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาล และหลบหนีออกมาก่อนกำหนด นอกจากนี้ ผู้ที่ก่อเหตุทำร้ายเจ้าหน้าที่ในช่วงโควิด-19 ยังเป็นกลุ่มคนในชุมชน ซึ่งไม่เคยเป็นผู้ก่อเหตุรุนแรงในสถานการณ์ปกติ

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่แค่ผู้ป่วยหรือญาติผู้ป่วยเท่านั้นที่ก่อเหตุรุนแรง ในบูร์กินาฟาโซ มีรายงานว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจทำร้ายพนักงานขับรถพยาบาล เนื่องจากฝ่าฝืนมาตรการเคอร์ฟิวในช่วงโควิด-19

นอกจากนี้ Insecurity Insight ยังระบุว่า ความรุนแรงที่เกิดจากความขัดแย้งที่มีอยู่เดิมก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ถูกทำร้าย

รายาน โคเตเช นักวิจัยจากกลุ่มแพทย์เพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งเน้นการทำงานในพื้นที่ตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ ระบุว่า กลุ่มของเขาได้บันทึกเหตุการณ์ที่สมาชิกในครอบครัว เพื่อนสนิท หรือเพื่อนร่วมงานของผู้ป่วยทำการกดดัน ข่มขู่ ขู่กรรโชกบุคลากรทางการแพทย์ให้ทำหน้าที่มากกว่านี้ การยกปืนขู่ถือเป็นสิ่งที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยๆ ทว่าการใช้อาวุธขนาดเล็กอย่างแพร่หลายในเยเมนเป็นประเด็นสำคัญมานานหลายปี และไม่ใช่เรื่องปกติที่ประชาชนทั่วไปจะถืออาวุธอย่างปืนพก ปืนกล อาวุธอัตโนมัติ

อย่างไรก็ตาม ก่อนจะเกิดโรคระบาดใหญ่ เยเมนเป็นพื้นที่ที่อันตรายสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ โดยในช่วงเดือนมีนาคม 2014 – ธันวาคม 2018 กลุ่มนักรบในสงครามกลางเมืองสร้างความเสียหายให้กับสถานพยาบาลอย่างน้อย 120 แห่ง และทำร้ายบุคลากรทางการแพทย์

จากเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 บุคลากรทางการแพทย์ทั่วโลกจึงเรียกร้องให้มีมาตรการด้านความปลอดภัยมากขึ้นเพื่อปกป้องบุคลากรทางการแพทย์ขณะปฏิบัติงาน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook