ไขข้อเท็จจริง "ยุง-แมลงวัน" แพร่เชื้อไวรัสโควิด-19 ได้หรือไม่?
(30 มิ.ย.63) ห้วงยามโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ยังคงถล่มถาโถมทั่วโลก พร้อมกับการมาถึงของฤดูร้อนในเขตซีกโลกเหนือ ทำให้เกิดข้อวิตกกังวลใหญ่ว่า “ยุงและแมลงวัน” อาจเป็นพาหะแพร่เชื้อไวรัสโคโรนาสู่มนุษย์ได้
หวังหลี่ผิง นักวิจัยจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคปักกิ่ง กล่าวว่าความหวาดกลัวดังกล่าวมิได้เกิดขึ้นโดยไร้สาเหตุ เนื่องจากยุงและแมลงวันสามารถเป็นพาหะแพร่เชื้อโรคติดต่อบางชนิด อาทิ ไข้มาลาเรียและไข้เลือดออก
อย่างไรก็ดี หวังชี้ว่ายุงและแมลงวันไม่มีพื้นฐานทางชีววิทยาของการแพร่เชื้อไวรัสโคโรนา โดยทั่วโลกไม่พบหลักฐานว่าพวกมันเป็นต้นตอของการติดเชื้อโรคโควิด-19 แต่ยังคงกระตุ้นให้ประชาชนป้องกันตนเองจากการถูกยุงกัดและเก็บอาหารพ้นจากแมลงวันในฤดูร้อน
นอกจากนั้นองค์การอนามัยโลก (WHO) แจกแจงว่าไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ไม่สามารถแพร่กระจายผ่านการกัดของยุง โดยปัจจุบันไม่มีข้อมูลหรือหลักฐานบ่งชี้ว่าไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่แพร่กระจายผ่านยุง
องค์การฯ ระบุว่าไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เป็นไวรัสระบบทางเดินหายใจ ซึ่งแพร่กระจายผ่าน “ละอองฝอยที่เกิดจากผู้ติดเชื้อไอหรือจาม หรือละอองฝอยน้ำมูกน้ำลาย” เป็นพื้นฐาน
“นับถึงวันนี้ไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์บ่งชี้ว่ายุงสามารถแพร่กระจายโรคโควิด-19 จากตัวกลางใดๆ สู่ตัวกลางอื่นๆ” อาร์เจ มอนต์โกเมรี ผู้อำนวยการฝ่ายบริการการจัดการยุงในเทศมณฑลฮิลล์โบโร รัฐฟลอริดา เผยกับสื่อมวลชนท้องถิ่น
มอนต์โกเมรีกล่าวกับสถานีโทรทัศน์ดับเบิลยูทีเอสพี (WTSP) ว่ายุงเป็น “พาหะนำจุลชีพก่อโรคมากมาย แต่จากสิ่งที่เรารู้ในวันนี้คือโควิด-19 ไม่ใช่จุลชีพที่ยุงจะเป็นพาหะแพร่กระจายจากมนุษย์สู่มนุษย์ได้”
WHO แนะนำว่าควรทำความสะอาดมือด้วยเจลแอลกอฮอล์หรือล้างมือด้วยสบู่และน้ำเป็นประจำ ตลอดจนหลีกเลี่ยงการติดต่อใกล้ชิดกับบุคคลที่กำลังไอหรือจาม เพื่อปกป้องตนเองจากโรคระบาด