พริตตี้สาวซ้อนวินฯ แอปดัง ล้มคว่ำหวิดพิการ จ่ายแค่ 5,000 อยากได้เพิ่มไปฟ้องเอา
พริตตี้่สาวเรียกใช้บริการจักรยานยนต์จากแอปดัง เกิดอุบัติเหตุจนกระดูกสันหลังยุบ นิ้วหัก ได้เงินชดเชยแค่ 5,000 บาท
(30 มิ.ย.63) เมื่อเวลา 16.00 น. ที่สำนักงานทนายความคู่ใจ ถ.แจ้งวัฒนะ ต.คลองเกลือ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี น.ส.วันพร อายุ 45 ปี ได้พาน้องสาวคือ น.ส.นับสิบ หรือ น้องปิ๊ก อายุ 29 ปี เข้าร้องเรียนขอความช่วยเหลือจากนายรณณรงค์ แก้วเพ็ชร์ ประธานเครือข่ายทวงคืนความยุติธรรมในสังคม หลังน.ส.นับสิบ เรียกใช้บริการรถจักรยานยนต์จากแอปพลิเคชั่นดัง แล้วเกิดอุบัติเหตุล้มคว่ำจนแทบเอาชีวิตไม่รอด ต้องนอนโรงพยาบาลกว่าครึ่งเดือน ไม่สามารถช่วยตัวเองได้ ทางบริษัทกลับเยียวยามาแค่ 5,000 บาท พร้อมไล่ให้ไปฟ้องร้องเอาเอง
น.ส.นับสิบ เปิดเผยว่า ตนเองมีอาชีพเป็นพริตตี้ รับงานอีเวนต์สินค้าทั่วไป ทั้งในงานมอเตอร์โชว์ ในห้างสรรพสินค้าและสถานที่ต่างๆ คืนวันที่ 15 มิ.ย. 63 เวลา 19.00 น. ได้ใช้แอปพลิเคชั่นเรียกรถจักรยานยนต์ จากบ้านย่านบางบอนให้ไปส่งที่พุทธมณฑลเพื่อติดต่องาน
ตนเองจึงขึ้นซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์โดยที่ผู้ขับขี่ไม่มีหมวกกันน็อคให้ผู้โดยสารสวมใส่ ตอนนั้นก็รู้สึกกลัวๆ ถึงความไม่ปลอดภัยแต่มีธุระเร่งด่วนต้องไปติดต่องาน เมื่อรถวิ่งผ่านมาถึงถนนบางบอน 5 หน้าบริษัทสุภาภรณ์พลาสติก จักรยานยนต์ที่ขับด้วยความเร็วเสียหลักพลิกคว่ำกลางถนน ตนเองหัวกระแทกพื้น เจ็บหลัง และข้อเท้าซ้ายมาก นอนแน่นิ่งอยู่ตรงนั้นจนกระทั่งมีรถเจ้าหน้าที่มูลนิธิมานำตัวส่ง รพ.บางปะกอก 8
เมื่อถึง รพ. แพทย์นำเข้าห้องฉุกเฉินตรวจ รักษาเอกซเรย์พบว่า กระดูกสันหลังยุบ นิ้วซ้ายหัก ไม่สามารถช่วยตัวเองได้ต้องนอนอยู่ รพ. 12 วัน และนัดทำกายภาพบำบัด ถ้าจะหายกลับมาเป็นปกติ อย่างเร็วต้อง 2-3 เดือน ทำให้ตนเองขาดรายได้มาจุนเจือครอบครัว เมื่อไปติดต่อบริษัทก็ให้มาแค่ 5,000 บาท และบอกว่าอยากได้มากกว่านี้ต้องฟ้องร้องเอา ตนทำงานได้วันละ 2,000- 3,000 บาท แต่เขาให้มาแค่นี้ตนคิดว่าไม่ยุติธรรมเลย ไม่อยากให้เกิดเรื่องแบบนี้กับใครอีก ต่อจากนี้คงไม่กล้านั่งรถจักรยานยนต์อีกแล้ว
ทางด้านทนายรณณรงค์ กล่าวว่า ในเบื้องต้นทางสำนักงานทนายจะทำหนังสือเป็นจดหมายแจ้งไปที่บริษัทที่ให้บริการรถจักรยานยนต์ ก่อนว่าจะรับผิดชอบมากว่า 5,000 ได้ไหม เพราะน้องเขาเป็นพริตตี้ในงานมอเตอร์โชว์ด้วย การมีบาดแผลขนาดนี้ค่าใช้จ่ายต้องสูงกว่า 5,000 อยู่แล้ว ในทางกฎหมายกรณีผู้ขับขี่ถึงแม้ไม่ได้เป็นนายจ้างลูกจ้างกัน แต่เป็นตัวการตัวแทนของบริษัท เพราะเวลาเราเรียกใช้งานเราเรียกผ่านแอปพลิเคชั่นตัวนี้ เมื่อมันเกิดอุบัติเหตุขึ้นผู้ให้บริการที่เป็นตัวการตัวแทนต้องออกมารับผิดชอบด้วย
เคยมีแนวทางการตัดสินของศาลฎีกากรณีของสหกรณ์แท็กซี แท็กซี่ขับไปเจออุบัติเหตุ ปรากฎศาลได้สั่งให้สหกรณ์แท็กซี่ร่วมชดใช้ค่าเสียหายร่วมกับคนขับด้วย จะบอกว่าโยนทุกอย่างให้กับคนขับไม่ได้