อภิสิทธิ์นำร่องโฉนดชุมชน 35 แห่ง
อภิสิทธิ์ เร่งออกระเบียบออกโฉนดชุมชน คาดบังคับใช้ใน ก.ย.นี้ แก้ปัญหานายทุนฮุบที่ดินซ้ำรอย ส.ป.ก. นำร่องแจก 35 แห่งทั่วประเทศในปีนี้
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวในระหว่างเป็นประธานเปิดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง "การกระจายการถือครองที่ดินในรูปแบบโฉนดชุมชน" และมอบนโยบายแนวคิดโฉนดชุมชน วานนี้ (28 ส.ค.) ว่า เกษตรกรของประเทศส่วนใหญ่ ต้องการที่ดินทำกิน ซึ่งรัฐบาลมองว่า อนาคตเศรษฐกิจไทยต้องกลับมาอาศัยความเข้มแข็งของภาคเกษตร ทั้งการผลิตอาหารและพลังงานทดแทน ดังนั้น จึงกำหนดแนวทางแก้ปัญหาที่ดินทำกิน เป็นนโยบายสำคัญ และไม่ใช่เฉพาะกรรมสิทธิ์ถือครองที่ดินเท่านั้น แต่ต้องหาวิธีทำให้ประชาชนในชุมชนเข้มแข็งด้วย ซึ่งแนวคิด โฉนดชุมชน ที่กำลังผลักดันนี้จะเป็นแนวทางที่ทำให้รัฐบาลคล่องตัว ในการแก้ปัญหาที่ทำกินในหลายพื้นที่ได้มากขึ้น และเป็นการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน
"การแก้ปัญหาที่ทำกินในอดีต รัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ จำกัดตัวเองอยู่ที่เรื่องการออกเอกสารสิทธิให้บุคคล อาทิเช่น กรณี ส.ป.ก. 4-01 ทำให้เกิดปัญหาการเปลี่ยนมือ สุดท้ายที่ดินตกไปอยู่ในมือของนายทุน ขณะที่รูปแบบโฉนดชุมชน จะมีกลไกติดตามดูแลที่ทำกินถูกนำไปใช้ตามวัตถุประสงค์ในการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยหรือภาคเกษตรหรือไม่ และการทำนโยบายโฉนดชุมชนให้สำเร็จได้ต้องอาศัยพลังประชาชนรวมตัวกัน เพราะความเข้มแข็งของชุมชนจะเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดของความสำเร็จตามนโยบายนี้" นายอภิสิทธิ์กล่าว
เร่งออกระเบียบโฉนดชุมชนมีผล ก.ย.นี้
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การผลักดันแนวคิดโฉนดชุมชนขณะนี้ ยังมีข้อจำกัดด้านกฎระเบียบต่างๆ ที่รัฐบาลต้องเร่งคลี่คลายปัญหา โดยรูปแบบที่รัฐบาลจะนำมาใช้ออกโฉนดชุมชน คือ ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับการดำเนินการเรื่องโฉนดชุมชน ซึ่งการแลกเปลี่ยนระดมความคิดเห็นครั้งนี้ เพื่อนำข้อคิดเห็นปรับปรุงร่างระเบียบฉบับนี้ก่อนเสนอ ครม. โดยรัฐบาลจะเร่งออกระเบียบดังกล่าวให้เสร็จในเดือน ก.ย.นี้ ซึ่งจะเป็นก้าวสำคัญในการแก้ปัญหาที่ดิน ที่เป็นปัญหาสะสมมานาน ก่อนจะขยายผลการทำงานไปยังเครือข่ายประชาชนทั่วประเทศ
ด้านนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายคุ้มครองและรักษาพื้นที่ที่เหมาะสมต่อการทำเกษตรกรรม รวมทั้งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านชลประทาน เพื่อเป็นฐานการผลิตการเกษตรในระยะยาว จัดหาที่ดินทำกินแก่เกษตรกรในรูปธนาคารที่ดิน และเร่งออกเอกสารสิทธิแก่เกษตรกรยากจนและชุมชนที่ทำกินในที่ดินของรัฐ ที่ไม่มีสภาพป่าในรูปโฉนดชุมชน และธนาคารที่ดิน ตลอดจนจัดตั้งคณะอนุกรรมการดำเนินการโฉนดชุมชน ซึ่งการจัดสัมมนาครั้งนี้เป็นการเติมเต็มในส่วนของระเบียบสำนักนายกฯ เรื่องโฉนดที่ดิน ที่จะมาจัดการเรื่องดินให้มีประสิทธิภาพต่อไป
นำร่องโฉนดชุมชน35แห่งทั่วประเทศ
เขากล่าวอีกว่าโฉนดชุมชนที่จะจัดสรรให้ชุมชนทั่วประเทศ จะดูจากการรวมตัวและความเข้มแข็งของชุมชนเป็นหลัก หากชุมชนเข้มแข็งแล้วให้ทำเรื่องขอใช้กรรมสิทธิ์ที่ดินของรัฐ ซึ่งหน่วยงานที่ครอบครองที่ดินหลายแห่ง อาทิเช่น กรมที่ดิน กรมธนารักษ์ และกรมอุทยานฯ โดยชุมชนมีสิทธิใช้พื้นที่ที่ได้รับจัดสรรเป็นเวลา 30 ปี แต่ใช้เฉพาะการเกษตรเท่านั้น นอกจากนี้ ยังไม่สามารถโอนหรือจำหน่ายที่ดินได้ เพื่อแก้ปัญหานายทุนฮุบที่ดิน แต่หากชุมชนเกิดความแตกแยก และไม่สามารถจัดการที่ดินได้ หน่วยงานรัฐก็มีสิทธิยึดโฉนดชุมชนคืนได้
"การเสนอร่างระเบียบสำนักนายกฯ ว่าด้วยโฉนดชุมชนนั้น ผมจะเร่งให้เสนอ ครม.และบังคับใช้ภายในเดือน ก.ย.นี้ หลังจากนั้น จะออกโฉนดชุมชนนำร่องใน 35 ชุมชน ในพื้นที่ 14 จังหวัด ส่วนแนวคิดระบบโฉนดชุมชนนั้น เป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งที่ทำให้ชุมชนเข้มแข็ง เพราะชุมชนที่มีสิทธิได้รับจัดสรรโฉนดชุมชนจะต้องมีความเข้มแข็งก่อน เพราะการจัดสรรพื้นที่โฉนดชุมชนให้ประชาชนในชุมชนใช้สอย เป็นอำนาจจัดการร่วมกันของชุมชน ไม่ใช่อำนาจปัจเจกชน และชุมชนมีหน้าที่ดูแลให้การใช้พื้นที่เกิดประโยชน์สูงสุดด้วย" นายสาทิตย์กล่าว
ดึงรายได้ภาษีที่ดิน 2% โปะธนาคารที่ดิน
นายสาทิตย์ กล่าวต่อว่า นายกรัฐมนตรี และนายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีแนวคิดตรงกันที่จะตั้งธนาคารที่ดิน เพื่อไปซื้อที่ดินจากเอกชนนำมาจัดสรรให้ประชาชนในรูปโฉนดชุมชน หรือรูปแบบอื่นๆ ซึ่งนายกรณ์ ยืนยันว่า หาก ครม.และสภาอนุมัติกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยมีผลบังคับใช้แล้วจะกันเงิน 2% จากภาษีที่คาดว่าจะเก็บได้ปีละ 7 หมื่นล้านบาท สะสมไว้ที่ธนาคารที่ดิน หรือ 1.4 พันล้านบาทต่อปี เพื่อเป็นทุนจัดซื้อที่ดินนำมาจัดสรรให้ประชาชน นอกจากนำที่ดินของหน่วยงานรัฐมาจัดสรร
ขณะที่นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า รูปแบบโฉนดชุมชน เป็นรูปแบบให้ชุมชนเข้ามาใช้ประโยชน์ในที่ดินของรัฐ แต่ไม่มีสิทธิครอบครอง หรือจำหน่ายจ่ายโอนได้ ซึ่งจะทำให้ที่ดินอยู่ในมือของคนในชุมชน ไม่ใช่อยู่ในมือนายทุน หรือบุคคลภายนอก และในฐานะเป็นผู้ร่วมร่างระเบียบสำนักนายกฯ ว่าด้วยโฉนดชุมชน คาดว่าระเบียบจะประกาศใช้เดือน ก.ย.นี้ และแจกโฉนดชุมชนนำร่อง 35 แห่ง ภายใน 120 วัน หรือเดือน พ.ย.-ธ.ค.นี้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชุมชนที่มีปัญหาความขัดแย้งเกี่ยวกับที่ดินของรัฐ
"ในที่สุด ระเบียบสำนักนายกฯ ว่าด้วยโฉนดชุมชนจะต้องพัฒนาในรูปของ พ.ร.บ.เพื่อให้เท่าเทียมกฎหมายจัดการที่ดินอื่นๆ ขณะเดียวกัน รัฐบาลเตรียมเสนอร่าง พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการบริหารจัดการธนาคารที่ดิน พ.ศ...เพื่อเป็นกลไกรัฐบาลที่จะซื้อที่ดินจากเอกชนมาจัดสรรให้ประชาชน หรือกิจกรรมอื่นๆ ไม่ใช่เฉพาะแค่ทำโฉนดชุมชนเท่านั้น" นายสมคิดกล่าว
หนุนโฉนดชุมชนแก้นายทุนฮุบที่
ส่วนแหล่งที่มาของเงินทุนธนาคารที่ดินนั้น น่าจะเป็นเงินอุดหนุนจากรัฐบาลมากกว่า เพราะตามกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้น รายได้จากการจัดเก็บภาษีดังกล่าวจะเป็นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ซึ่งรัฐบาลจะดึงเงินส่วนนี้มาใช้ไม่ได้
ด้านนายไพโรจน์ พลเพชร ผู้ประสานงานสมาคมสิทธิเสรีภาพประชาชน กล่าวว่า การกระจายการจัดสรรที่ดินทำกินให้ประชาชน ก่อนหน้านี้ รัฐบาลมีนโยบายจัดสรรที่ดิน ส.ป.ก.ให้ประชาชน แต่สุดท้ายที่ดินก็ตกอยู่ในมือนายทุน หรือกรณีที่ปล่อยให้การซื้อขายที่ดินเป็นไปอย่างเสรี ที่ดินส่วนใหญ่ก็ยังตกอยู่ในมือนายทุนอยู่ดี
"รูปแบบการออกโฉนดชุมชนที่ใช้พลังชุมชนในการจัดการที่ดินของตัวเอง น่าจะเป็นทางออกเลือกที่เหลืออยู่ขณะนี้ แต่วิธีที่ให้ชุมชนเป็นเจ้าของร่วมใช้ที่ดิน แต่กรรมสิทธิ์ที่ดินยังเป็นของหน่วยงานรัฐอยู่ ยังเป็นการป้องกันชาวต่างชาติเข้ามาไล่ซื้อที่ดินในประเทศได้อีกด้วย"