จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง หลังหายป่วยจากโควิด-19
โรคโควิด-19 ถือเป็นภาวะวิกฤตสุขภาพที่ทั่วทั้งโลกต้องเผชิญ ผู้ป่วยหนักจากโรคนี้ต้องผ่านประสบการณ์เกี่ยวกับความเป็นความตาย ที่ส่งผลกระทบไม่น้อยต่อร่างกายและจิตใจ แม้ว่าการหายจากอาการป่วย จะถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ความท้าทายที่จะตามมาก็คือ “การฟื้นตัว” ซึ่งผู้ป่วยหลายคนต้องดิ้นรนเพื่อเอาชนะอาการที่หลงเหลืออยู่ ซึ่งบางอาการก็กินเวลานานหลายเดือน หลายปี กว่าจะหาย หรืออาจต้องใช้เวลาทั้งชีวิตเลยทีเดียว
สำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่เคยป่วยหนักจนต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ เมื่อหายแล้ว อาจจะต้องเผชิญกับปัญหาทั้งด้านร่างกาย ระบบประสาท กระบวนการคิด และอารมณ์ ขณะเดียวกันก็ต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูในขณะที่โรคโควิด-19 ยังระบาดอยู่ ซึ่งเป็นภาวะที่ตึงเครียดและทรัพยากรต่างๆ ก็มีจำกัด
ปัญหาด้านร่างกาย
ปัญหาด้านร่างกายที่ผู้ที่หายจากโรคโควิด-19 ต้องเผชิญหลังจากออกจากโรงพยาบาล ประกอบด้วยอวัยวะส่วนต่างๆ ในร่างกายที่ได้รับความเสียหายจากเชื้อไวรัส และจำเป็นต้องได้รับการรักษาต่อ ไม่ว่าจะเป็นปอด หัวใจ ไต ตับ หรืออวัยวะส่วนอื่นๆ ซึ่งอาจจะส่งผลให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับการปัสสาวะและระบบเผาผลาญในร่างกาย
ดร.ซีเจี้ยน เฉิน ผู้อำนวยการด้านการแพทย์ของศูนย์ดูแลหลังโควิด-19 ที่ระบบดูแลสุขภาพเมาต์ไซนาย กล่าวว่า ปัญหาด้านร่างกายที่ใหญ่ที่สุดที่ทางศูนย์พบก็คือ อาการหายใจติดขัด ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการสูญเสียสมรรถภาพของปอดหรือหัวใจ หรือปัญหาเลือดแข็งตัว รวมทั้งผู้ป่วยบางรายที่เคยใช้เครื่องช่วยหายใจ จะประสบปัญหาในการกลืนอาหารหรือเปล่งเสียง ซึ่งเป็นผลชั่วคราวจากความบอบช้ำหรือการอักเสบ เนื่องจากต้องสอดท่อหายใจผ่านเส้นเสียง
ดร.เดล นีดแฮม แพทย์แผนกผู้ป่วยวิกฤต คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ ระบุว่า ผู้ป่วยหลายคนประสบกับอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง หลังจากที่ต้องนอนอยู่บนเตียงโรงพยาบาลเป็นเวลานาน ส่งผลให้มีปัญหาในการเดิน ขึ้นบันได หรือยกสิ่งของ นอกจากนี้ ความเสียหายในเส้นประสาทหรือเส้นประสาทที่อ่อนแอ ก็ส่งผลต่อความแข็งแรงของกล้ามเนื้อเช่นกัน รวมทั้งอาจมีอาการอื่นๆ ตามมา เช่น เหนื่อยล้า สับสน และเบลอ
ปัญหาด้านจิตใจ
ดร.โลรอง เฟอร์รองต์ จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเยล กล่าวว่า นอกจากปัญหาด้านร่างกายแล้ว ผู้ที่หายป่วยจากโควิด-19 ยังต้องเผชิญกับอาการเครียดหลังจากผ่านภาวะวิกฤต หรือ PTSD ซึ่งมักจะมาในรูปของฝันร้าย ภาวะซึมเศร้า และความวิตกกังวล เมื่อผู้ป่วยหวนคิดถึงช่วงเวลาที่ป่วยหนัก และต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยว โดยไม่ได้พบกับครอบครัวหรือเพื่อน ซึ่งความโดดเดี่ยวเช่นนี้จะยิ่งทำให้บาดแผลทางจิตใจลุกลามมากขึ้น
ปัจจัยอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้การฟื้นตัวต้องใช้เวลานาน คือปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “ภาวะสับสนเฉียบพลันจากการนอนโรงพยาบาล” (hospital delirium) ที่มีทั้งการเห็นภาพหลอนและความวิตกกังวลสับสน มักจะเกิดขึ้นกับผู้ป่วยที่ต้องพักอยู่คนเดียวเป็นเวลานาน ขาดปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น และไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้ ซึ่งเป็นลักษณะของผู้ป่วยโรคโควิด-19
งานวิจัยหลายชิ้นระบุว่า ผู้ป่วยในแผนกไอซียูที่มีภาวะสับสนเฉียบพลันจากการนอนโรงพยาบาล มีแนวโน้มที่จะเสียสมรรถภาพในการคิดเป็นเวลาหลายเดือนหลังจากออกจากโรงพยาบาล
เส้นทางการฟื้นฟู
เส้นทางการฟื้นตัวของผู้ป่วยมักจะขึ้นลง ไม่มีความแน่นอน ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ส่วนใหญ่ปอดจะมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวภายในระยะเวลาหลายเดือน แต่ปัญหาอื่นๆ ก็ยังคงอยู่ ขณะเดียวกัน บางคนก็ไม่สามารถฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่ งานวิจัยที่นำโดย ดร.นีดแฮม พบว่า “ผู้ป่วยที่ประสบกับอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงเป็นเวลาหลายเดือนหรือมากกว่านั้น และอาการนี้ก็ไม่ได้จำกัดแค่แขนขาเท่านั้น แต่ยังเป็นกล้ามเนื้อหายใจด้วย
นอกจากนี้ อาการทางจิตและกระบวนการคิดก็จะยังคงอยู่เช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นอาการซึมเศร้า วิตกกังวล หรือทั้งสองอย่าง ซึ่งจะคงอยู่ราว 2 – 5 ปี อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่า สิ่งสำคัญในการฟื้นฟูร่างกายก็คือ ความเพียรพยายาม
สำหรับผลที่ตามมาในช่วงฟื้นตัวจากโรคโควิด-19 ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า อาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นในระหว่างการฟื้นตัวหลังจากหายป่วยด้วยโรคโควิด-19 อาจจะส่งผลต่อการทำงาน ทำให้ผู้ที่หายป่วยไม่สามารถทำงานได้ บางรายต้องเปลี่ยนงาน นอกจากนี้ ดร.เฉินยังแสดงความกังวลว่า ผลในระยะยาวของโรคโควิด-19 อาจจะเหมือนกับปัญหาสุขภาพเรื้อรังอื่นๆ ซึ่งต้องใช้เวลานานในการเยียวยารักษา และอาจจะเป็นปัญหาทางเศรษฐกิจที่หนักหนาสาหัส หากผู้ป่วยไม่ได้รับการดูแลที่ถูกต้อง