Fakebook ยุคที่ความลวงไล่ล่าคุณ!
โดย : บุญเรือง บุญสัตย์
ในยุคนี้ที่ใครๆ ก็มีเพื่อนเป็นนายกฯ (แค่คลิก add friend) นักคิด (มาก) อยากชวนสวนทางคิดว่าเรากำลังติดอยู่กับอะไรที่ปลอมๆ เฟคๆ บ้าง
มันคงไม่ใช่เรื่องที่ควรจะปล่อยผ่านไปเฉยๆ ได้แน่นอน หากมีใครสักคนสะกิดไหล่คุณ พร้อมกับพูดว่า "ผมว่าตอนนี้ สังคมมันผิดปกติไปแล้วว่ะ" เพราะถ้าใครสักคนรู้สึกอะไรแบบนี้ขึ้นมาแล้วถึงขั้นปริปากบอกคนอื่น เดาได้เลยว่า เขาคนนั้นคงมีอะไรอัดอั้นในใจจนอยากถ่ายเทมันออกมา...
ภาสกร ประมูลวงศ์ ผู้แปลหนังสือเล่มล่าสุด Microtrends: The Small Forces Behind Tomorrow's Big Changes ของ มาร์ค เพนน์ ก็คงเป็นเช่นนั้น เพราะหลังจากจับจ้องมองปรากฏการณ์ทางสังคมรอบๆ ตัว เขาก็ได้ข้อสรุปมาบทหนึ่ง
"ยิ่งนับวัน ชีวิตคนเรา ยิ่งอยู่กับเทคโนโลยี ยิ่งอยู่กับเลขฐานสองมากขึ้นทุกวัน ก็ยิ่งห่างไกลความเป็นปุถุชน แม้กระทั่งไปเดินซูเปอร์มาร์เก็ต เดินไปกดตู้เอทีเอ็ม ก็จะมีเสียงกุ่งกิ๊งๆ เหมือนกับว่าถูกรบกวนด้วยอะไรบางอย่างที่เราไม่ต้องการ แล้วดันไม่มีใครถามด้วยนะว่า เราอยากจะเอาหรือเปล่า เราว่านะ ของพวกนี้บางทีมันก็เป็นสารพิษรุนแรงพอๆ กับไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่เลย" ภาสกร ป้อนเสียงใส่เครื่องอัดเทปเป็นชุดๆ เหมือนปืนกลที่อัดกระสุนมาเต็มแม็ก..
'ภาสกร ประมูลวงศ์' คือคอลัมนิสต์ นักแปลหนังสือ นักแปลบทภาพยนตร์ นักทำโฆษณาและภาพยนตร์สารคดี และในสายป๊อปคัลเจอร์ เขาคือนักสังเกตการณ์สายตาคมกริบอีกคนหนึ่ง
Pop Up Society และเลขฐานสอง
มันเริ่มมาตั้งแต่เมื่อไหร่คงยากที่จะบอก แต่ถ้าลองตั้งสตินิ่งๆ แล้วมองไปรอบข้าง คุณจะเห็นว่า ณ ขณะนี้ ชีวิตของคุณโดนห้อมล้อมด้วยสื่อนานาชนิดไปเรียบร้อยแล้ว ไม่ว่าจะเดินศูนย์การค้า หรือแม้แต่กดตู้เอทีเอ็ม มันจะมี "เสียงบางเสียง" ป๊อปอัพขึ้นมาเตะหูคุณอยู่ตลอดเวลา
"มันเกิดขึ้นเพราะการตลาดที่พยายามหาหนทางเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้า หมายอย่างรวดเร็ว และตัดขั้นตอนตรงกลางมากที่สุด" ภาสกร ละเลียดทัศนะจากก้อนสมอง
"ยิ่งเศรษฐกิจกอดรัดฟัดเหวี่ยงหนักๆ อย่างทุกวันนี้ ก็ยิ่งทำให้การขายสินค้า ทำยังไงก็ได้เพื่อให้ถึงกลุ่มลูกค้าเร็วที่สุด โดยไม่สนใจวิธีการ คือทำไงก็ได้ให้มันไปถึงคนซื้อคนสุดท้ายที่เป็นเจ้าของเงินในกระเป๋า
"ผมเข้าใจนะว่ามันเป็นเรื่องการตลาด แต่ว่าเรื่อง Ad ป็อปอัพ ผมว่ามันแฝงกับไวรัล มาร์เก็ตติ้ง มันปีนเกลียวกับกอริลล่า แอดเวอร์ไทซิ่ง ถามว่าอะไรควรไม่ควร อะไรถูกอะไรผิด ผม ตัดสินเรื่องนี้จากไอเดีย อย่างกอริลล่า แอดเวอร์ไทซิ่ง หรือไวรัล มาร์เก็ตติ้ง นั่นยังพอมีหนทางให้เลือก มันจะปรากฏตัวแล้วก็ให้เลือกว่า เอาไม่เอา ซื้อไม่ซื้อ แต่ Pop Up มันเข้ามาแบบที่เราไม่ได้ต้องการเลย"
ใช่แต่เพียงเท่านั้น เพราะถ้าคนคนหนึ่งถึงขั้นหลุดปากออกมาว่า "สังคมทุกวันนี้มันเหมือน เดินไปอย่างผิดปกติ" นั่นย่อมจะมีอะไรที่ 'ลึกซึ้ง' กว่านั้นแน่นอน และสำหรับภาสกร เขาไม่ได้มองแค่ว่าสื่อเหล่านั้นหรอกที่ "รบกวนชีวิตประจำวัน" แม้แต่มนุษย์เองก็ดูจะยินยอมพร้อมใจให้มีเดียเหล่านั้น 'ครอบงำ' ชีวิตของตัวเองเช่นกัน
"มนุษย์เราเป็นสัตว์สังคม อยู่คนเดียวไม่ได้ อยู่คนเดียวแล้วจะตาย แต่เชื่อไหม ทันทีที่มนุษย์อยู่คนเดียว จะมีเพื่อนคนนึงมาหาเรา เพื่อนคนนั้นชื่อ 'ความเหงา' ..ความเหงานี่เป็นเพื่อนที่สนิทของมนุษย์เล แต่ทุกวันนี้ คนเรามองความเหงาเป็นผู้ก่อการร้าย จะฆ่ามันให้ตาย ทุกคนจะพยายามไม่เหงา ดังนั้น ลองมองไปรอบๆ สิครับ มันเกิดอะไรขึ้น"
"เราไม่มีหนังแบบเดวิด ลินช์ อีกแล้วที่แบบว่า โอ้โห ดูแล้วเหงาชิ_หายเลย เราไม่มีหนังแบบ Sleepless in Seattle อีกแล้ว ที่พล็อตง่ายแสนง่าย แต่ไดอะล็อกเจ๋งมากๆ ซึ่งสมัยนี้ไม่ใช่แล้ว เดี๋ยวนี้มันต้องไมเคิล เบย์ คือโผล่มาฉากแรก ก็ซัดกันเลย ปั้งๆๆ ไม่ยอมให้คนดูนั่งเหงาเลย"
แล้วทั้งหมดนี้มันเกิดจากอะไรล่ะ? ภาสกรตอบว่า...
"คือตอนนี้ สังคมมันถ่ายเทไปอยู่ในออนไลน์ เคยมีเด็กอายุ 7 ขวบ จองตั๋วเครื่องบินทางอินเตอร์เน็ตแล้วโกหกว่าอายุ 12 คือเขาต้องการจะเดินทางคนเดียวโดยไม่ต้องมีผู้ปกครอง แล้วพอดี เพื่อนมาเจอก็ทักว่า เฮ้ย ทำไมบอกอายุ 12 แกเพิ่ง 7 ขวบเอง ไอ้เด็กคนนั้นบอกว่าทุกอย่างที่อยู่ในคอมพิวเตอร์น่ะ คนเชื่อหมดแหละ จะใส่อะไรลงไปก็ได้ อันนี้คือเด็กเจ็ดขวบนะฮะ แล้วนับประสาอะไรกับรูปปลอมๆ ถ่ายเสร็จปั๊บก็รีทัชแบบว่าสุดเฉียบเนี้ยบนิ้ง เหลาจมูกซะแหลมเปี๊ยว แต่งทรวดทรงองค์เอวให้เรี่ยมเร้ แล้วก็พยายามที่จะเมกเฟรนด์น่ะ เมกเฟรนด์แบบแกนๆ ด้วย
"เรารู้นะว่า เค้าต้องการเพื่อน น่าเศร้าที่เค้าต้องการเพื่อนแบบผิดวิธี เค้าต้องการเพื่อน แต่เค้าไม่วิ่งไปหาเพื่อน กลับวิ่งไปหาเทคโนโลยี แล้วถามหน่อยเถอะ ไม่มีเพื่อนที่ชั้นเรียนบ้างเลยรึไง หรือไม่มีใครคบ แล้วทำไมต้องไปเสาะแสวงหาเพื่อนอีกห้าขั้นบันได ทำไมต้องไปไล่แอดฯ คนอื่นในอินเตอร์เน็ต แทนที่จะออกไปข้างนอกแล้วยิ้มให้คนอื่น แค่นี้ก็ได้เพื่อนแล้ว ไม่ต้องคลิกด้วย" ภาสกร ยังคงร่ายยาว
"ผมไม่รังเกียจโซเชียลเน็ตเวิร์ก จริงๆ คอนเซ็ปต์ของมันเป็นสังคมอุดมคติเลยนะ คล้ายๆ โลกยูโธเปียออนไลน์ เพราะในนั้น ทุกคนไม่มีชนชั้น เสมอภาคกัน ออกความเห็นได้ เป็นเพื่อนนายกฯ เป็นเพื่อนท่านประธานาธิบดีบารัค โอบามาได้ คือ ในทางหลอกๆ น่ะ มันเป็นได้ แต่จริงๆ แล้ว มันเป็นไปไม่ได้หรอก คุณลองไปเจอท่านนายกอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แล้วบอกสิว่า ผมเป็นเพื่อนคุณใน Twitter, facebook, hi5 เพราะผมไปแอดท่านไว้แล้ว แล้วดูซิว่านายกมาร์กจะพูดยังไง"
นั่นจึงเป็นที่มาของคำล้อที่ภาสกรปิ๊งขึ้นมาในสมองว่า Fakebook เพราะทุกสิ่งทุกอย่าง ที่เห็น มันถูก 'ตัดต่อศัลยกรรม' และ Fake กันไปหมด
"ผมกล้าเคลมเลยนะว่า เกือบ 80 เปอร์เซ็นต์ในเฟสบุ๊ค ในไฮไฟว์ ทวิตเตอร์ ทั้งรูป ทั้งอิมเมจ มันคือภาพที่เขาอยากให้เราเห็นในแบบๆ นั้น ผมวัดจากคนใกล้ตัว เอาไฮไฟว์เค้ามานั่งดู เออ..ไม่ใช่อย่างที่เห็นในชีวิตจริงเลยว่ะ อันนี้สามารถพิสูจน์ได้จากสิ่งที่ผมเห็นมากับตาตัวเอง แต่ที่มันอัพขึ้นไฮไฟว์น่ะ มันคนละแบบกันเลย"
เจเนอเรชั่น นาว
แน่นอน ทั้งหมดทั้งมวลที่พูดมา ภาสกรบอกว่า เขาเองก็ไม่ได้เดือดร้อนอะไรกับสิ่งเหล่านั้นหรอก เขาเพียงแค่รู้สึกว่า "โลกมันไปกันใหญ่แล้ว" ก็เท่านั้นเอง
"ที่เราเป็นห่วงคือพวกวัยรุ่น อย่างหลานผมแปดขวบ มีไฮไฟว์แล้วนะ ออนเอ็มคุยกับเพื่อนแล้ว ไม่รู้จักวิดีโอหรือดีวีดี แต่รู้จักยูทูบ ประกาศตัวเป็นสาวก 'ยูทูบเบอร์' (Youtuber) เน็ตที่บ้านช้าก็โทรสั่งเองเลย ตอนบ่ายมาเปลี่ยนเป็น Wi-fi ความเร็วสูงสุดเลย ผมถามว่าเอามาทำอะไร หลานตอบว่ายูทูบจะได้เร็ว เค้าจึงเรียกเด็กรุ่นนี้ว่า Generation Now (I Want it Now !) ไง ฉันจะเอาเดี๋ยวนี้ ฉันจะเอาตอนนี้ ดังนั้น สังเกตดูซิว่า สินค้าทุกอย่างในโลกนี้ตอนนี้มันแข่งที่ความเร็ว คือโลกมันเป็นเจเนอเรชั่น นาว กันหมด มันรอกันไม่ได้อีกต่อไปแล้ว
"สิ่งหนึ่งซึ่งแว้บขึ้นมาในหัวเราก็คือว่า เดี๋ยวนี้ รอ-เรือ- ออ-อ่าง คนเราเขียนไม่เป็นกันแล้ว มันจะเขียนเป็นแต่ว่า ดอ-เอี๋ยว-เดี๋ยว นอ-อี๊-นี้ 'เดี๋ยวนี้' โฆษณาขายรถนี่ก็ต้องบอกว่า เร็วเท่านี้ๆ ขายคอนโดก็ต้องโพนทะนาว่า 5 นาทีก็ถึงออฟฟิศแล้ว 15 นาทีจากทองหล่อ เพียง 20 นาทีจากทางด่วน ไม่เห็นมีใครบอกเลยว่า เฮ้ย อยู่ที่นี่รถติดชั่วโมงนึงเลยนะ แต่ถ้าคุณเอาหนังสือติดมือไปด้วย ก็จะได้ความรู้
"คนทุกวันนี้มองไปแต่ข้างหน้า ไม่มองข้างทางกันแล้ว ใช้ความเร็วเป็นที่ตั้ง รีบๆ ทำ รีบๆ รวย รีบๆ เลิก น้ำขึ้นให้รีบตัก เพลงบางเพลงมี Expired Date แค่อาทิตย์เดียว ขายไม่ได้ เก็บเลย เดี๋ยวศิลปินคนอื่นเสียโอกาสขาย"
เจ้าความเร็วที่ว่านั้น ดูราวกับเป็นกลจักรทำให้ชีวิตถูกกระทำให้ต้อง "อัพเดท" และ "รีเฟรช" อยู่ตลอดเวลา อย่างไรอย่างนั้น? ภาสกรนิ่งนาน ก่อนสาธยาย..
"เวลานี้ คำว่า บล็อก ก็กลายเป็นคำโบราณไปแล้ว ทั้งๆ ที่เกิดมาไม่กี่ปีเองนะ มันเร็วมาก แต่น่าเป็นห่วงเยาวชนไทยบางกลุ่ม เขาเสพแต่เพียงผิวเผิน มีไฮไฟว์ไว้เพียงเพื่อเคลมเพื่อนได้ว่า เฮ้ย กูมีเพื่อนมากกว่ามึงว่ะ แต่ไม่ค่อยมีใครรู้หรอกว่า คอนเซ็ปต์จริงๆ ของไฮไฟว์มันคืออะไร คิดอีกรอบนะ โซเชียลเน็ตเวิร์ค และ เว็บ 2.0 ทำนองนี้ ทำให้คุณค่าของคำว่าเพื่อนลดลง แต่ก่อนคำว่า ‘เพื่อน' ถือเป็นคำพูดที่มีความหมาย น่ายกย่อง มันโรแมนติก เสริมค่าความเป็นคน แต่ตอนนี้ แค่คุณแอดเข้าไปในแอดเดรสบุ๊ค เท่านี้คุณก็ได้ชื่อว่าเป็นเพื่อนผมแล้ว..โอ้ มันง่ายขนาดนี้เลยเหรอ
"สำหรับผมแล้ว เพื่อนต้องมากับการพิสูจน์อะไรบางอย่าง มันต้องใช้เวลาเพื่อบอกว่าคนๆ นี้ เป็นเพื่อนเราหรือเปล่า แต่สมัยนี้ไม่ใช่ เมื่อเราอยู่กับอะไรที่ปลอมๆ วันหนึ่งเราก็จะปลอมๆ เหมือนกัน"
ทางรอดจากความลวง
"คือผมไม่ได้รังเกียจไฮไฟว์หรือเฟสบุ๊คนะ แต่เราไม่เห็นว่ามันจะสำคัญตรงไหน" ผู้ชายคนเดิมยังไม่หยุดที่จะชวนคิด
"เพราะคนที่เอาไปใช้ ไม่เห็นความสำคัญของมันน่ะ ไม่เขียนอะไรที่เป็นประโยชน์ แต่ถ้าเกิดไฮไฟว์ มันถูกสร้างด้วยคนน่าสนใจแล้วมีเรื่องดีๆ ผมก็จะเข้าไปอ่านนะ เพียงแต่หาไม่ค่อยเจอ และที่สำคัญ ตอนนี้ ไฮไฟว์มันกลายเป็น Bad Name ไปแล้ว สมมติผมมีไฮไฟว์ คนก็จะแบบ..เอ๊ย พี่เอกมีไฮไฟว์ด้วยเว้ย สงสัยจะมี ‘รูปน้องๆ' เยอะละซิ คนจะคิดไปอย่างนั้น แต่สมมุติว่ามีคนเข้ามาแลกเปลี่ยนความรู้กัน มาคอยเขียนว่าวันนี้เราไปอ่านหนังสือเล่มนี้มา ดีอย่างงั้นอย่างงี้ คนเล่นไฮไฟว์ก็จะบลาๆๆๆ ไม่เอาๆ ไปหาไอ้คนที่มีรูปหญิงให้ดูเยอะๆ ดีกว่า"
แล้วสุดท้าย เราควรจะทำอย่างไรกับสิ่งเหล่านี้ดี? ภาสกรมองไปรอบๆ...
"ทุกคนหยุดก่อนได้ไหม หยุดก่อนสักวัน แล้วดูซิว่ามีใครตายหรือเปล่า คือถ้าไม่มีใครตาย นั่นแสดงว่า เราสามารถอยู่ได้โดยไม่มีไฮไฟว์ โอเค วันแรกผ่านไป ไม่มีอันตรายถึงชีวิต วันที่สอง น้องเสี้ยนไฮไฟว์ป่าวล่ะ อะ ให้เข้าได้ 5 นาที (หัวเราะ) แต่จะเป็น 5 นาทีที่มีค่าที่สุด เขียนในสิ่งที่อยากเขียน บรรยายถึงสิ่งที่หัวใจปรารถนา แล้วเรามาลองดู ผลลัพธ์ในวันที่สามว่าจะเป็นอย่างไร ผมว่าโลกออนไลน์ เมื่อมีความจริงเข้าไปปรากฏผสมอยู่ มันอาจไม่ดีในชั่วข้ามคืน แต่ผมมั่นใจว่ามันจะน่าอยู่มากขึ้น
"ในฐานะที่อาบน้ำร้อนมาก่อน ผมอยากบอกว่า น่าเสียดายเวลาแทนคนรุ่นนี้ที่มัวแต่ใช้เวลาไปกับสิ่งลวงๆ เสพติดการอัพเดตอะไรปลอมๆ สู้เอาเวลาไปอ่านหนังสือ หรือฟังเพลง หรือดูหนังดีๆ ยังจะมีประโยชน์กว่า แต่ก็โอเคครับ ถ้าน้องๆ ที่เล่นไฮไฟว์อยู่ หรือกำลังกรำโซเชียลเน็ตเวิร์คอยู่อย่างขะมักเขม้น จะเห็นว่ามันดีก็ตามใจ
"..แล้ววันหนึ่งเมื่อคุณอายุเท่าผม หรือเกือบๆ เท่าผม (เลขสี่นำหน้า) เมื่อคุณย้อนไปอ่านบันทึกชีวิตที่ถ่ายทอดผ่านไฮไฟว์ ดูรูปตัวเองบนนั้น บางทีคุณอาจอุทานกับตัวเองว่า แหม..ทำไมฉัน ปัญญาอ่อนจังเลย"